บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประกาศผลการตัดสินผู้ชนะเลิศโครงการแข่งขันสำหรับสตาร์ทอัพเทคโนโลยี "Spark Ignite 2021 - Thailand Start up Competition" โดยหัวเว่ยได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญในด้านอุตสาหกรรมต่างๆ มาร่วมให้คำแนะนำและคำปรึกษาแก่สตาร์ทอัพ มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพไทยให้เติบโตในระดับภูมิภาค และเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการของสตาร์ทอัพไทย พร้อมทั้งช่วยยกระดับทักษะด้านดิจิทัลในประเทศ ตามพันธกิจของหัวเว่ยที่จะส่งเสริมประเทศไทยสู่การขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งอาเซียน
ซึ่งสามทีมที่คว้าชัยชนะจากทั้ง 132 ทีมทั่วประเทศที่เข้าร่วมแข่งขัน ได้แก่ ReverseAds ผู้ให้บริการด้านแพลตฟอร์มโฆษณาออนไลน์ คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง Zipevent ผู้ให้บริการด้านการจัดงานอีเวนท์ระบบออนไลน์ และ ChillPay แพลตฟอร์มการชำระเงินแบบครบวงจร คว้ารางวัลอันดับที่ 2 และ 3 ตามลำดับ ทั้งนี้ รวมมูลค่าที่ทั้งสามทีมจะได้รับรางวัลเป็น HUAWEI CLOUD Credit กว่า 9 ล้านบาท และจะได้โอกาสในการเข้าร่วมโครงการ Huawei Spark program เพื่อรับคำปรึกษาในด้านธุรกิจ และใช้ทรัพยากรด้านเทคโนโลยีจากหัวเว่ย รวมถึงการแนะนำพาร์ทเนอร์เพื่อโอกาสในการก้าวสู่ระดับโลกต่อไป ภายในงานดังกล่าวได้รับเกียรติจาก นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมให้โอวาทและแสดงความยินดีแก่ทีมผู้เข้าแข่งขัน พร้อมด้วยคณะกรรมการอันทรงคุณวุฒิจากหลากหลายวงการให้เกียรติเข้าร่วมการตัดสินรอบชิงชนะเลิศในครั้งนี้ ประกอบด้วย ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า, นายปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรรมแห่งชาติ (NIA), ดร.มนต์ชัย เลิศสุทธิวงศ์ นักวิจัยและวิศวกร บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG), นายไพศาล เจียรอุทัยธำรงค์ ผู้จัดการด้านการส่งเสริมและสนับสนุน ทัสพาร์ค ดับบลิวเอชเอ (TusPark WHA), นายอุดมศักดิ์ ดอนขำไพร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท แสนรู้ จำกัด, นายลีโอ เจียง ประธานบริหารด้านดิจิทัล หัวเว่ย คลาวด์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค, ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด และนายสุรศักดิ์ วนิชเวทย์พิบูล หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี แผนกธุรกิจคลาวด์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ทั้งนี้ ปัจจัยด้านโอกาสในการทำตลาด รูปแบบบริการและธุรกิจ จุดขาย โอกาสทางธุรกิจ รวมไปถึงความแข็งแกร่งของทีมผู้เข้าแข่งขัน ถูกใช้เป็นเกณฑ์หลักในการตัดสินครั้งนี้
การแข่งขันโครงการ "Spark Ignite 2021 - Thailand Start up Competition" ดำเนินอย่างเข้มข้น โดยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้เข้าแข่งขันกว่า 132 ทีมจากหลากหลายภาคอุตสาหกรรมจากทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการเพื่อชิงตำแหน่งสุดยอดสตาร์ทอัพเทคโนโลยีระดับประเทศ โดยมี 10 ทีม ที่ผ่านเข้ารอบการตัดสินรอบชิงชนะเลิศประกอบด้วยผู้ส่งมอบบริการและผลิตภัณฑ์ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะหลากหลายประเภท เช่น ทีมที่พัฒนา AI ซึ่งสามารถช่วยซื้อขายและปรับตัวตามตลาดการเงินได้อย่างอัตโนมัติ แอปพลิเคชันอีคอมเมิร์ซด้านบริการความงามทั่วประเทศไทย รวมไปถึงแพลตฟอร์มสำหรับรวบรวมการซื้อขายเครดิตพลังงานสะอาด (Renewable Energy Credit) สำหรับผู้ผลิตพลังงานรายย่อยในประเทศไทย เป็นต้น
สำหรับผู้คว้าอันดับ 1 ในเวทีนี้ได้แก่ ทีม ReverseAds ผู้ให้บริการด้านแพลตฟอร์มโฆษณาออนไลน์ที่ใช้เทคโนโลยี Machine Learning จากจังหวัดภูเก็ต นำโดยนายไมเคิล ฮาร์น (Michael Hahn) ประธานกรรมการบริหาร ให้สัมภาษณ์ว่า "ผมตื่นเต้นเป็นอย่างมากที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันในครั้งนี้ เทคโนโลยีคลาวด์ถือเป็นหัวใจสำคัญในการนำมาใช้พัฒนาต่อยอดบริการของเรา และ HUAWEI CLOUD ก็เป็นหนึ่งในบริการคลาวด์ระดับโลกที่ดีที่สุด ซึ่งเราจะนำรางวัล HUAWEI CLOUD Credit และการสนับสนุนเทคโนโลยีด้านอื่น ๆ ของหัวเว่ยไปพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีของแพลตฟอร์มโฆษณาออนไลน์ของเราต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ AI เพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพระบบ Machine Learning ของเรา และการเพิ่มระบบ หลังบ้านเพื่อให้สามารถรองรับจำนวนผู้ใช้งานได้มากขึ้น พร้อมกับการจับตลาดทั่วโลก"
ทั้งนี้ ReverseAds ถือเป็นแพลตฟอร์มโฆษณาออนไลน์ที่ใช้เทคโนโลยี AI มาคาดการณ์พฤติกรรมว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจะใช้งานเว็บไหนต่อไป และจะยิงโฆษณาไปในเว็บไซต์นั้น ๆ ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายโดยที่ไม่ใช้คุกกี้ (Cookies) โดยทางบริษัทตั้งเป้าหมายว่าจะเติบโตเป็นบริษัทสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น มูลค่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้ได้ภายในระยะเวลา 3 ปี จ้างบุคลากรในประเทศไทยเพิ่มให้ได้ถึง 1,000 คน และผันตัวเป็นคู่แข่งด้านการโฆษณาออนไลน์กับ Google เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับนักการตลาดในประเทศไทยที่ต้องการทำโฆษณาออนไลน์ และทีม Reverse Ads ที่ชนะเลิศอันดับ 1 ในโครงการนี้ จะได้รับ HUAWEI CLOUD Credit คิดเป็นมูลค่ากว่า 125,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 4,000,000 บาท รวมถึงสิทธิ์ในการเข้าร่วมโครงการ Huawei Spark program เช่น โครงการ Huawei Spark Fire, และโครงการ Spark Go China ที่มีเป้าหมายเพื่อบ่มเพาะและช่วยยกระดับการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพเทคโนโลยี เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มด้านดิจิทัล
ทีมอันดับ 2 และอันดับ 3 ที่ชนะในการแข่งขันโครงการ Spark Ignite 2021 - Thailand Start up Competition ได้แก่ ทีม Zipevent ซึ่งเป็นบริการด้านการจัดงานอีเวนท์ผ่านระบบออนไลน์แบบครบวงจร และทีม ChillPay แพลตฟอร์มการชำระเงินที่ดำเนินธุรกรรมทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการอย่างรวดเร็วทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ตามลำดับ ทั้งนี้ ทีม Zipevent มองว่าการชนะรางวัลอันดับ 2 จากงานในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำงานร่วมกับหัวเว่ย โดยทางบริษัทจะใช้ HUAWEI CLOUD Credit เพื่อช่วยลดต้นทุนการประกอบธุรกิจ รวมถึงประยุกต์ใช้เทคโนโลยี VDO Livestreaming, Data Mining รวมถึงเทคโนโลยี VR จากหัวเว่ยเพื่อต่อยอดการให้บริการการจัดอีเวนท์ทั้งแบบออนไลน์ ออฟไลน์ และไฮบริด ทั้งยังตั้งเป้าขยายตลาดไปในอีก 12 ประเทศ รวมถึงประเทศจีน ให้ได้ภายในระยะเวลา 3 ปี และสำหรับทีม ChillPay ถือว่าเป็นการได้ร่วมทำงานกับหัวเว่ยเป็นครั้งแรกและถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ต่อยอดธุรกิจไปด้วยกัน โดยหัวใจสำคัญของแพลตฟอร์มการชำระเงินคือเรื่องความปลอดภัยและความยืดหยุ่นของระบบหลังบ้าน ซึ่งเทคโนโลยีของ HUAWEI CLOUD ถือว่าสามารถตอบโจทย์ทั้งสองด้านนี้ได้ ทั้งนี้ทีมรองผู้ชนะจะได้รับ HUAWEI CLOUD Credit มูลค่า 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ และสามารถเข้าร่วมโครงการ Huawei Spark program เช่น โครงการ Spark Go China
นอกจากนี้ ทีมที่เข้าร่วมการประกวดอีก 6 ทีม ได้แก่ อันดับ 4 ทีม Zupport และ อันดับ 5 Blockfint แต่ละทีมจะได้รับ HUAWEI CLOUD Credit มูลค่า 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ และทีมผู้ที่ได้รับรางวัลชมเชย ได้แก่ FoodDee, Snappink, PolarBear 100X และ ElysianNxt ทุกทีมจะได้รับ HUAWEI CLOUD Credit มูลค่า 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ
เวทีนี้ยังได้รับเกียรติจากนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมรับชมการแข่งขันและกล่าวถึงโครงการว่า "Spark Ignite 2021 - Thailand Start up Competition" ว่า "เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศท่ามกลางช่วงเวลาวิกฤติ ธุรกิจสตาร์ทอัพถือเป็นขุมพลังสำคัญสำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ผมต้องขอขอบคุณหัวเว่ยที่ได้มุ่งมั่นสนับสนุนการเติบโตของ ecosystem ในประเทศไทย รวมถึงช่วยทำให้เร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ก้าวสู่ธุรกิจระดับโลกต่อไป เป็นการเพิ่มศักยภาพไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งจะส่งเสริมให้ประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางดิจิทัลแห่งอาเซียน"
ด้าน ผศ. ดร. ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้กล่าวถึงความร่วมมือในโครงการนี้ว่า "ดีป้าให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการดิจิทัล สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีของไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง ซึ่งความร่วมมือโครงการ Huawei Spark Ignite 2021 - Thailand Start up Competition เป็นการช่วยผลักดันดิจิทัลสตาร์ทอัพของไทยให้เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ขอแสดงความยินดีกับทีมที่ชนะการแข่งขันครั้งนี้ โดยดีป้าเชื่อมั่นว่าผู้ที่เข้าร่วมแข่งขันจะได้รับประสบการณ์ไปปรับใช้เพื่อเป็นประโยชน์และเพิ่มโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจ และขอขอบคุณหัวเว่ยที่ได้ให้ความสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถของดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย ให้สามารถก้าวสู่ตลาดโลกได้"
นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด เน้นถึงเป้าหมายของโครงการ Spark Ignite 2021 - Thailand Start up Competition ว่า "โครงการนี้เป็นความร่วมมือที่ดีระหว่างหัวเว่ยและพาร์ทเนอร์ในไทย เป็นการเปิดประตูสู่การแบ่งปันองค์ความรู้และกรณีศึกษาต่าง ๆ ก่อให้เกิดนวัตกรรมไอเดียใหม่ๆ หัวเว่ยต้องขอขอบคุณภาครัฐและพาร์ทเนอร์ภาคเอกชนต่างๆ ที่ให้ความร่วมมือและทำให้เกิดเวทีที่ส่งเสริมการแสดงศักยภาพของสตาร์ทอัพไทยในครั้งนี้ ในฐานะที่หัวเว่ยเป็นพาร์ทเนอร์ ICT ชั้นนำระดับโลกและร่วมสนับสนุนคุณค่าทางสังคมในประเทศไทยมานานกว่า 22 ปี เรายังคงมุ่งมั่นในพันธกิจเติบโตในประเทศไทย สนับสนุนประเทศไทย เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าหาทุกผู้คน ทุกครัวเรือน และทุกองค์กร เพื่อทำให้ประเทศไทยเชื่อมต่อได้อย่างอัจฉริยะอย่างทั่วถึง"