- กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี พร้อมทั้งประเมินเศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวที่ 0.7% และ 3.9% ในปีหน้า โดยการฟื้นตัวจะมาจากการใช้จ่ายในประเทศเป็นสำคัญหลังมีพัฒนาการด้านการฉีดวัคซีนที่ดีขึ้นชัดเจนทำให้สามารถผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคได้เร็วกว่าคาด ซึ่งส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นและการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปี 2021
- EIC คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ต่อเนื่องตลอดปี 2021 และปี 2022 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างช้า ๆ ตามภาคการท่องเที่ยวและแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่มีมาก ทั้งนี้ EIC ประเมินว่า ขนาดของเศรษฐกิจไทยจะไม่กลับไปเท่ากับช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ในปี 2019 จนกระทั่งช่วงกลางปี 2023 ขณะที่โอกาสที่ กนง. จะลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมมีน้อยลง จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด และเศรษฐกิจในระยะต่อไป ที่จะได้รับผลบวกจากการกระจายวัคซีนที่ปรับดีขึ้น นอกจากนี้ ผลโหวตคงดอกเบี้ยนโยบายอย่างเป็นเอกฉันท์ และการสื่อสารของ กนง. ที่ว่า "มาตรการด้านการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ" ก็ทำให้ EIC มองว่า โอกาสลดดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้และปีหน้ามีน้อยลง
- EIC คาดว่า ธปท. จะยังให้น้ำหนักกับการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งผ่านนโยบายการเงินผ่านการปรับมาตรการทางการเงินต่าง ๆ โดยเฉพาะในกลไกการลดความเสี่ยงด้านเครดิต เพื่อกระจายสภาพคล่องไปยังภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SME ให้มากขึ้น การสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงิน รวมทั้งพิจารณาเข้าดูแลอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินหากเกิดความผันผวนตามภาวะการเงินโลกที่อาจตึงตัวขึ้นในระยะข้างหน้า
- ด้านภาวะการเงินไทยในช่วงที่ผ่านมาปรับตึงตัวขึ้นจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ปรับสูงขึ้นตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และปัจจัยอุปทานพันธบัตรรัฐบาลไทยที่มีออกมามากขึ้น อย่างไรก็ดี เงินบาทที่ปรับอ่อนค่าลงจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น เงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลออกจากตลาดการเงินไทย และดุลบัญชีเดินสะพัดไทยที่ขาดดุลต่อเนื่อง ช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินไทยลงได้บ้าง
Key points
กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี พร้อมทั้งประเมินเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ขยายตัวที่ 0.7% และ 3.9% ในปีหน้า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 29 กันยายน 2021 กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี โดยคณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2021 และปี 2022 จะขยายตัวใกล้เคียงกับที่คาดไว้ในการประชุมครั้งก่อนแต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยคาดว่าเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะได้รับผลบวกจากการกระจายวัคซีนที่ปรับดีขึ้นและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด ทั้งนี้โจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ณ ปัจจุบัน คือ การดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ฟื้นตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ มาตรการภาครัฐต้องเร่งสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้านมาตรการการเงินมีความคืบหน้ามากขึ้น แต่ยังต้องเร่งผลักดันการกระจายสภาพคล่องและปรับโครงสร้างหนี้ของกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่ามาตรการด้านการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้
- เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 0.7% และ 3.9% ในปี 2021 และ 2022 ตามลำดับ ใกล้เคียงกับประมาณการ ณ เดือนสิงหาคมที่ 0.7% และ 3.7% โดยแม้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2021 เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดและการส่งออกที่ชะลอลงกว่าคาด แต่พัฒนาการด้านการฉีดวัคซีนที่ดีขึ้นชัดเจนและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นและการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปี 2021 สำหรับในปี 2022 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวจากการใช้จ่ายในประเทศเป็นสำคัญ ตามความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทยอยฟื้นตัวอย่างช้า ๆ และการส่งออกจะยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และเซมิคอนดักเตอร์
- ด้านตลาดแรงงานมีแนวโน้มปรับดีขึ้น จากรายได้ของแรงงานในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำตามแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ยังไม่เข้มแข็ง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2021 ถูกปรับประมาณการลงจาก 1.2% ในการประชุมเดือนมิถุนายน เป็น 1.0% ในการประชุมนี้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2022 ถูกปรับประมาณการขึ้นจาก 1.2% เป็น 1.4% อย่างไรก็ดี แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังคงยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
- ทั้งนี้เศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยยังต้องติดตามแนวโน้มการระบาดและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ความเชื่อมั่นของภาคเอกชน รวมถึงแรงสนับสนุนจากมาตรการของภาครัฐซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป
กนง. ประเมินว่า สภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง โดยการกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือน ทั้งนี้มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูที่ออกมาช่วยให้ธุรกิจ SMEs เข้าถึงสินเชื่อเพิ่มขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นจากช่วงก่อนหน้าจากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง คณะกรรมการเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง
กนง. ระบุว่า มาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ฟื้นตัวต่อเนื่องยังมีความสำคัญ มาตรการการคลังควรเร่งสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยเน้นการสร้างรายได้และเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ นโยบายการเงินต้องสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมผ่อนคลายต่อเนื่อง สำหรับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่น ๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้เห็นผลในวงกว้างและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาว
กนง. ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน รวมถึงจะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ พัฒนาการของมาตรการควบคุมการระบาดในประเทศ รวมทั้งความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
Implications
EIC คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ต่อเนื่องตลอดปี 2021 และปี 2022 โดยโอกาสที่ กนง.
จะลดอัตราดอกเบี้ยมีน้อยลงนับจากการประชุมครั้งก่อน จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เร็วกว่าคาด และเศรษฐกิจในระยะต่อไปที่จะได้รับผลบวกจากการกระจายวัคซีนที่ปรับดีขึ้น โดย EIC ประเมินว่า ในกรณีฐาน กนง. น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี 2022 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดปรับดีขึ้นนับจากการประชุมรอบก่อน โดยสถานการณ์ล่าสุดออกมาดีกว่าการประเมินของ กนง. ในครั้งก่อนที่คาดว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะทยอยปรับลดลงและภาครัฐจะสามารถทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมได้ในช่วงต้นไตรมาสที่ 4 ปี 2021 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ผลโหวตคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างเป็นเอกฉันท์ และการสื่อสารของคณะกรรมการฯ ที่ว่า มาตรการด้านการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำก็ทำให้ EIC มองว่า โอกาสในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้และปีหน้ามีน้อยลงกว่าการประชุมครั้งก่อนค่อนข้างมาก ด้านปัจจัยอื่น ๆ ที่สนับสนุนการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายคือ การรักษา policy space ไว้ใช้ยามจำเป็นที่เศรษฐกิจไทยกลับมาหดตัว และผลของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมีค่อนข้างจำกัด เนื่องจากดอกเบี้ยที่ลดต่ำลงอีกอาจทำให้ประชาชนที่พึ่งพารายรับจากดอกเบี้ยเงินฝากต้องหันมาออมเงินมากขึ้นและลดการใช้จ่ายลง อีกทั้ง ดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำมากเป็นเวลานานก็เป็นการสะสมความเปราะบางต่อเสถียรภาพการเงินไทยในระยะยาวอีกด้วย
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไปคาดว่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
จะเป็นไปอย่างช้า ๆ ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่จะฟื้นได้ช้า และแผลเป็นทางเศรษฐกิจไทยที่มีอยู่มาก สะท้อนได้จากอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และงบดุลของภาคธุรกิจที่เปราะบางลง โดยขนาดของเศรษฐกิจไทยจะไม่กลับไปเท่ากับช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ในปี 2019 จนกระทั่งช่วงกลางปี 2023 นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อของไทยก็มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง โดยถึงแม้เงินบาทจะอ่อนค่าลงแต่ก็คาดว่าจะไม่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อไทยเร่งตัวขึ้นมากนัก อีกทั้ง ธปท. ยังสามารถเข้าดูแลเสถียรภาพของเงินบาทในเวลาที่อ่อนค่าลงเร็ว ผ่านการเข้าซื้อสินทรัพย์ต่างประเทศ จึงทำให้ ธปท. ไม่จำเป็นต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อดูแลเงินบาท
ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยจะยังคงให้น้ำหนักกับการเพิ่มประสิทธิภาพการส่งผ่านนโยบายการเงินผ่านการปรับมาตรการทางการเงินต่าง ๆ โดยเฉพาะในกลไกการลดความเสี่ยงด้านเครดิต เพื่อกระจายสภาพคล่องไปยังภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SME ให้มากขึ้นตามการสื่อสารของ กนง. อีกทั้ง จะมีการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินให้สอดคล้องกับปัญหาของลูกหนี้แต่ละกลุ่มมากยิ่งขึ้น รวมทั้งพิจารณาเข้าดูแลอัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินหากเกิดความผันผวนตามภาวะการเงินโลกที่อาจตึงตัวขึ้นในปีหน้า
ภาวะการเงินไทยปรับตึงตัวขึ้นจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ปรับสูงขึ้นตามทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และปัจจัยอุปทานพันธบัตรรัฐบาลไทยที่มีออกมามากขึ้น อย่างไรก็ดี เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐที่ปรับอ่อนค่าลงช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินต่อผู้ส่งออกไทยได้
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้น หลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 21-22 กันยายนที่ผ่านมา มีท่าทีที่จะดำเนินการอย่างเข้มข้นขึ้น (Hawkish) กว่าการประชุมครั้งก่อน เนื่องจาก Median Dot Plot ในการประชุมดังกล่าวได้สะท้อนถึงมุมมองของคณะกรรมการ FOMC ต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Fund Rate) ที่เร็วขึ้น โดยมีโอกาสปรับขึ้นครั้งแรกในช่วงปลายปี 2022 ซึ่งเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้าการประชุมว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในปี 2023 นอกจากนี้ Median Dot plot ยังสะท้อนว่าคณะกรรมการอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 3 ครั้งในระหว่างปี 2022-2023 (รูปที่ 1) นอกจากนี้ EIC คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มส่งสัญญาณลดการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (QE Tapering) อย่างเป็นทางการในการประชุม FOMC เดือนพฤศจิกายนนี้ และจะเริ่มกระบวนการทำ QE Tapering ในเดือนธันวาคม 2021 โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินลดลง 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อเดือน (UST $1 หมื่นล้าน และ MBS $5 พันล้าน) ส่งผลให้กระบวนการ QE Tapering มีแนวโน้มที่จะสิ้นสุดลงในกลางปี 2022
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้น ประกอบกับอุปทานพันธบัตรรัฐบาลไทยที่มีมากขึ้น ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยในช่วงที่ผ่านมาปรับสูงขึ้นเร็ว ส่งผลให้ภาวะการเงินไทยตึงตัวขึ้น ในช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ประกาศแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2022 โดยพบว่า รัฐบาลมีแผนที่จะระดมทุนในปีงบประมาณ 2022 เป็นวงเงินรวมทั้งสิ้นประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นแผนการก่อหนี้ใหม่ในวงเงิน 1.3 ล้านล้านบาท แผนการบริหารหนี้เดิมในวงเงิน 1.5 ล้านล้านบาทและแผนการชำระหนี้ในวงเงิน 0.3 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลมีแผนที่จะระดมทุนผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณก่อน โดยคาดว่าจะมีการออกพันธบัตรรัฐบาลคิดเป็นราว 50% ของการระดมทุนทั้งหมด หลังการประกาศส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยมีปรับเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ การขยายเพดานหนี้สาธารณะของไทยจาก 60% เป็น 70% ต่อ GDP ส่งผลให้ปริมาณอุปทานพันธบัตรรัฐบาลในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยการขยับเพดานหนี้สาธารณะขึ้นอีก 10% จะทำให้รัฐบาลมีช่องทางในการก่อหนี้เพิ่มได้อีกราว 1 ล้านล้านบาท หากสถานการณ์การแพร่ระบาดกลับมารุนแรงขึ้นและทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้ากว่าคาด ก็จะกดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นได้อีก
เงินบาทปรับอ่อนค่าลงจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากตลาดการเงินไทย
และดุลบัญชีเดินสะพัดไทยที่ยังขาดดุลต่อเนื่อง จึงช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินให้แก่ผู้ส่งออกไทยได้ โดยนับตั้งแต่การประชุม FOMC ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับแข็งค่าขึ้นราว 0.7% ประกอบกับในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติขายพันธบัตรรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง หลังรัฐบาลประกาศแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปี 2022 และขยายเพดานหนี้สาธารณะ กดดันให้เงินบาทปรับอ่อนค่าลง 11.4%YTD สู่ระดับ 33.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้สถานการณ์ค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายยังมีความผันผวนในระยะสั้น โดยปัจจัยที่อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้อีกอาจมาจาก 1) ความเสี่ยงที่อาจมีผู้ติดเชื้อระลอกใหม่เกิดขึ้นหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ 2) การทำ QE Tapering ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงปลายปีนี้ อาจส่งผลให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจาก EM รวมถึงไทย อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่จะทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้คือ แนวโน้มการฟื้นตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจไทยตามแนวทางการเปิดเมืองหลังมีอัตราการฉีดวัคซีนที่มากขึ้น และการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐจากแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่อาจชะลอลงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ยืดเยื้อกว่าคาด สวนทางกับภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ประกอบกับปัญหาเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลให้แผนการทำ QE Tapering ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ล่าช้ากว่าที่ตลาดคาดการณ์ ด้วยเหตุนี้ EIC จึงมองว่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2021 จะอยู่ที่ราว 33.3-33.8