วันที่ 30 กันยายน 2564 สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ได้จัดงานแถลงข่าวความร่วมมือกับ บริษัท เทรนด์ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด ใน "โครงการความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาบุคลากรไซเบอร์" มุ่งเน้นผลักดันให้องค์กร หน่วยงานภาคเอกชน และบุคคลทั่วไป มีความรู้และเข้าใจ พร้อมรับมือกับภัยคุกคามความปลอดภัยไซเบอร์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเท่าทันต่อเหตุการณ์ เพื่อนำไปสู่ความปลอดภัยในทุกภาคส่วนของประเทศ ผ่านระบบออนไลน์
สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) หรือ National Cyber Security Agency (NCSA) ประกาศความร่วมมือในการได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท เทรนด์ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบความปลอดภัยไซเบอร์ระดับโลก ในการสนับสนุนทางวิชาการ ตาม "โครงการความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาบุคลากรไซเบอร์" หนึ่งในวัตถุประสงค์สำคัญในโครงการ Thailand National Cyber Academy ในการสร้างทักษะ ขีดความสามารถ และความรู้ความเข้าใจให้บุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยตั้งเป้าพัฒนาบุคลากร จำนวน 2,250 คน ภายในปี 2565
พลเอก ดร.ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่า "สกมช. เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดนโยบาย มาตรการ แนวทางการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สำหรับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนสำคัญทางสารสนเทศ ในการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ สกมช.มุ่งเน้นในเรื่องของการฝึกอบรมความรู้ทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับชาติ ภายใต้โครงการ Thailand National Cyber Academy ในการสร้างบุคคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ไปจนถึงระดับผู้ฝึกสอนและผู้บริหารในองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ที่จะสามารถรับมือและเข้าใจกับสถานการณ์เมื่อเกิดการโจมตีทางไซเบอร์ พร้อมทั้งเอาตัวรอดจากการโจมตีที่เกิดขึ้นอย่างถูกวิธี"
"ทั้งนี้ สิ่งที่ สกมช. มองหาก็คือพันธมิตรที่จะเข้ามาสนับสนุนทางด้านวิชาการ ความรู้ด้านต่างๆ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางในการอบรมด้วยองค์ความรู้ที่ถูกต้องเป็นสากล รวมถึงความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจากการรับมือกับภัยคุกคามใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ที่จะทำให้ผู้เข้าอบรมสามารถเรียนรู้ได้เท่าทันต่อสถานการณ์ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในโลกปัจจุบัน นอกจากนี้ยังเป็นฐานความรู้ที่
สกมช. สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในส่วนของนโยบายการสร้างบุคลากรและกำหนดทิศทางในเรื่องการดูแลความปลอดภัยไซเบอร์ในประเทศได้อย่างมีประสิทธิผลต่อไป" พลเอก ดร.ปรัชญา อธิบายเพิ่มเติม
ปิยธิดา ตันตระกูล ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เทรนด์ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "เทรนด์ไมโคร ในฐานะบริษัทผู้นำด้านระบบป้องกันภัยไซเบอร์ระดับโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัท เทรนด์ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด ได้ดำเนินธุรกิจอยู่ในประเทศไทยมายาวนาน จนเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงบริบทด้านภัยคุกคามที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังมีความเชี่ยวชาญ มีเครื่องมือและบุคลกรที่พร้อมให้การสนับสนุนในเรื่องดังกล่าว ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับเรา โดยเฉพาะ บริษัทฯ จึงเล็งเห็นถึงประโยชน์สูงสุดในการถ่ายทอดความรู้เหล่านั้น เพื่อเป็นการพัฒนาและสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ๆ ตั้งแต่ความรู้ในระดับพื้นฐานที่ถูกต้อง และสามารถพัฒนาไปจนถึงเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลปัญหาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในอนาคตต่อไป
เพราะวันนี้เรากำลังเดินหน้าไปสู่ยุคเศรษฐกิจแบบดิจิทัล หนึ่งในกุญแจที่จะพาเศรษฐกิจไทยไปถึงจุดนั้นได้เราต้องมีความรู้ด้านความปลอดภัยไซเบอร์และสามารถเข้าใจและแก้ไขเบื้องต้นเมื่อเกิดการโจมตีได้"
สำหรับเนื้อหา สามารถแบ่งออกได้ 3 หลักสูตร ต่อไปนี้
กำหนดการในแต่ละหลักสูตร สกมช. และ เทรนด์ไมโคร ได้ทำการกำหนดช่วงเวลาการอบรมไว้ในทุกเดือน โดยที่จะเริ่มหลักสูตรเบื้องต้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไป โดยสามารถติดรายละเอียดได้ทาง Facebook NCSA Thailand และ Thailand National Cyber Academy
พลเอก ดร. ปรัชญา กล่าวเสริมว่า "การมีเทรนด์ไมโคร เข้ามาเป็นพันธมิตรในการสนับสนุนทางวิชาการ ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับประเทศไทย ในการพัฒนาองค์ความรู้พื้นฐานทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับบุคคลากรทั้งในหน่วยงานของรัฐและเอกชน รวมถึงการสร้างความรู้ในระดับมาตรฐานสากลรวมถึงได้รับทราบถึงแนวโน้มและความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เพื่อได้เรียนรู้และเข้าใจในความเสี่ยง ที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเองและภายในองค์กร พร้อมทั้งสามารถเตรียมตั้งรับและแก้ไขสถานการณ์อย่างถูกวิธี"
ปิยธิดา อธิบายเสริมว่า "เทรนด์ไมโคร ไม่ใช่เพียงเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย แต่ในมุมมองของเรานั้นคือหนึ่งในธุรกิจที่มีคนไทยทำงานอยู่ การนำเอาประสบการณ์และความรู้ต่างๆ ที่มีอยู่มาสนับสนุนทางด้านวิชาการ ถือว่าเป็นอีกสิ่งหนึ่งในการตอบแทน
สังคมคืนสู่สังคม และถือเป็นการสร้างรากฐานทางด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพราะเมื่อสังคมมีความรู้พื้นฐานที่ดีย่อมจะสามารถต่อยอดด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและซับซ้อนได้ง่ายขึ้นในอนาคต และความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นสิ่งที่เรายินดีและภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้ให้การสนับสนุนโครงการที่สำคัญเช่นนี้"