ผนึกพลังความร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน...ฝ่าวิกฤติโควิด-19 และการเตรียมเปิดประเทศไทย ด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมลงนาม MOU กับ บริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด ถ่ายทอดเทคโนโลยี 'เครื่องช่วยหายใจ' (Ventilator) มาตรฐานสากล และพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขที่เชี่ยวชาญด้านเครื่องช่วยหายใจในการดูแลผู้ป่วย โควิด-19 หลังยอดผู้ป่วยในประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจากโควิดกลายพันธุ์เดลต้าในช่วงที่ผ่านมา พร้อมระดมทรัพยากรและองค์ความรู้เทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ เร่งช่วยพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ เพื่อยกระดับประเทศไทยสู่ความก้าวหน้าและแผนการเปิดศูนย์นวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ระดับภูมิภาคอาเซียน ที่มหาวิทยาลัยมหิดล
คุณรานีวรรณ รามศิริ ผู้อำนวยการ บริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า เมดโทรนิค เป็นผู้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ระดับโลกซึ่งก่อตั้งในสหรัฐอเมริกามากว่า 70 ปี มีเครือข่ายในกว่า 150 ประเทศ และมีการดำเนินงานด้านพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ควบคู่ความเจริญก้าวหน้าด้านสาธารณสุขในประเทศไทยมาเป็นเวลา 20 ปีตั้งแต่ปีพ.ศ. 2544 เราตระหนักถึงภาวะวิกฤติโควิด-19 ในประเทศไทยที่มีความรุนแรง ทำให้ 'เครื่องช่วยหายใจ' (Ventilator) ไม่เพียงพอต่อผู้ป่วยขั้นวิกฤติที่เพิ่มสูงขึ้น ระบบสาธารณสุขไทยยังขาดองค์ความรู้และขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องช่วยหายใจ ที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยในภาวะวิกฤต และพัฒนานวัตกรรมเครื่องช่วยหายใจที่ได้มาตรฐานระดับสากล รวมถึงเครื่องมือแพทย์อื่น ๆ ที่จะตอบสนองความต้องการของโรงพยาบาลและผู้ป่วยในประเทศไทยได้ ดังนั้น เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จึงได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้ความร่วมมือในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์นี้ ประกอบด้วย การถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งเสริมการวิจัยพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยโควิด-19 ให้ปลอดภัย และการใช้งานให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด การค้นคว้าทดลอง วิจัยและพัฒนา ต่อยอดนวัตกรรมเครื่องช่วยหายใจ และเครื่องมือแพทย์อื่นๆ ในอนาคต โดยมีผู้เชี่ยวชาญระดับโลกพร้อมที่จะช่วยแนะนำและฝึกอบรมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผ่านมหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านการแพทย์สาธารณสุขและวิศวกรรม เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้จริงและต่อยอดเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย ตลอดจนร่วมขับเคลื่อนความก้าวหน้าของระบบสาธารณสุขไทยในอนาคต
ทั้งนี้ เครื่องช่วยหายใจ เป็นอุปกรณ์ช่วยชีวิตที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถหายใจด้วยตัวเองได้อย่างเต็มที่ จากสาเหตุต่าง ๆ เช่น อาการเจ็บป่วยจากโควิด-19 ขั้นรุนแรง หรือการผ่าตัด โดยถูกเชื่อมต่อกับผู้ป่วยด้วยท่อกลวงที่ส่งออกซิเจนไปยังผู้ป่วย จนกว่าผู้ป่วยจะหายใจได้เอง โดยมักใช้ในช่วงระยะสั้น ๆ แต่มีบางรายที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในระยะยาวหรือตลอดชีวิตด้วย ปัจจุบันเครื่องช่วยหายใจ มี 2 ชนิด คือ
- เครื่องช่วยหายใจชนิดธรรมดา (Conventional Ventilator) มีการใช้อย่างแพร่หลายมากที่สุด เนื่องจากใช้งานไม่ยุ่งยาก เคลื่อนย้ายสะดวก โดยรูปแบบการทำงานของเครื่องสอดคล้องกับปอดของคนทั่วไป ระดับปริมาตรอากาศที่เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยจึงใกล้เคียงกับการหายใจของคนปกติ ทำให้ผู้ป่วยได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ
- เครื่องช่วยหายใจชนิดความถี่สูง (High Frequency Ventilator) มักใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหายใจลำบาก เนื่องจากปอดทำงานได้ไม่เต็มที่ เครื่องช่วยหายใจชนิดนี้มีการสูบฉีดออกซิเจนค่อนข้างถี่ ปริมาตรของอากาศที่เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยอยู่ในระดับต่ำ เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการรับออกซิเจนของปอดในขณะนั้น
รศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า "สถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทยที่ระบาดเร็วและรุนแรงขึ้นจากไวรัสกลายพันธุ์เดลต้า ทำให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการวิจัยพัฒนาและผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในประเทศไทย โดยเฉพาะ'เครื่องช่วยหายใจ' (Ventilator) ซึ่งทุกโรงพยาบาลต้องมีอย่างเพียงพอจะสามารถช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยขั้นวิกฤติและช่วยลดความสูญเสียลงได้ การผนึกความร่วมมือของทั้ง 2 องค์กร นับเป็นการริเริ่มครั้งสำคัญนำไปสู่การถ่ายทอดประสบการณ์และองค์ความรู้เชิงนวัตกรรมและเทคโนโลยีการพัฒนาเครื่องช่วยหายใจอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมการวิจัย ศึกษา บูรณาการมุ่งสู่วิศวกรรมระดับโลกด้านการพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของรัฐบาลในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เตรียมจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ (Innovative Medical Device Center of Excellence) ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งจะเป็นที่ตั้งของศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านนวัตกรรมเครื่องช่วยหายใจแห่งแรกของอาเซียนอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีแผนขยายไปถึงเครื่องมือแพทย์อื่นๆ ซึ่งมีศักยภาพอันโดดเด่นพร้อมที่จะเป็นต้นแบบและเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ตามมาตรฐานสากลสำหรับประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน เพื่อเพิ่มจำนวนกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้เครื่องช่วยหายใจ อันจะเป็นกำลังหลักในการช่วยชีวิตคนไทยด้วยเครื่องช่วยหายใจให้ได้มากที่สุดและก้าวหน้ายั่งยืน ตลอดจนร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรให้มีประสิทธิภาพและยกระดับคุณภาพการรักษาและฟื้นฟูผู้ป่วยโควิดในอนาคต
ก่อนหน้านี้ เมดโทรนิค ได้เปิดพิมพ์เขียว (Open Sources) ให้ทางภาคเอกชนและองค์กรต่างๆ ที่มีศักยภาพสามารถนำเทคโนโลยีไปใช้พัฒนาเครื่องช่วยหายใจ เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตเครื่องช่วยหายใจให้เพียงพอกับความต้องการของผู้ป่วยโควิด-19 อาทิ บริษัท เทสล่า ได้นำพิมพ์เขียวดังกล่าวไปช่วยเพิ่มกำลังการผลิตเครื่องช่วยหายใจในสหรัฐอเมริกา ขณะที่ บริษัท อินเทล นำเทคโนโลยีและซอฟท์แวร์ของเครื่องช่วยหายใจมาประยุกต์ใช้ให้สามารถควบคุมเครื่องได้จากระยะไกล (Remote Monitoring) ช่วยให้แพทย์สามารถใช้และควบคุมเครื่องได้จากระยะไกล (Telemedicine) ช่วยเพิ่มความสะดวกและลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จากการดูแลผู้ป่วยวิกฤตได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ เมดโทรนิค ยังได้ร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรและบริษัทพัฒนาแอพพลิเคชั่น Allego Inc.ในการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า 'Ventilator Training Alliance App (VTA)' เพื่อให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลของเครื่องช่วยหายใจได้อย่างสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น บริษัทฯ ยังมีส่วนร่วมสนับสนุนระบบสาธารณสุข โดยจัดหา นำเข้า และส่งมอบเครื่องมือพร้อมอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีส่วนช่วยรักษาผู้ป่วยอย่างเพียงพอ รวมทั้งส่งทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เข้าไปให้บริการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่ทีมแพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์โควิด-19 อีกด้วย
ในยามที่คนไทยประสบความยากลำบากในภาวะวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น มีความต้องการบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญอีกจำนวนมากในการใช้เครื่องช่วยหายใจให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดในผู้ป่วยขั้นวิกฤติที่เพิ่มสูงขึ้น ความร่วมมือของบริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) และมหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นพลังสำคัญพัฒนานวัตกรรมและศักยภาพบุคคลากรทางการแพทย์ของไทยโดยถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีอย่างมีมาตรฐานสากล