องค์กรไวล์ดเอด (WildAid) จับมือ TikTok แพลตฟอร์มสร้างสรรค์วิดีโอสั้นชั้นนำระดับโลก ชวนทุกคนร่วมชาเลนจ์ #ฉลองไม่ฉลาม อ่านข่าวด่วนจากใต้ท้องทะเลให้ทุกคนรู้ว่า ทุกวันนี้ 1 ใน 3 ของสายพันธุ์ฉลามทั่วโลกกำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เพราะการประมงเกินขนาดและถูกนำทุกชิ้นส่วนไปบริโภค พร้อมชวนให้ทุกคนเลิกกิน เลิกสั่งเมนูฉลาม โดยมีครูลูกกอล์ฟ คณาธิป สุนทรรักษ์ เจ้าของสถาบันสอนภาษาอังกฤษชื่อดังและตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่จะมาช่วยสื่อสารเรื่องฉลามร่วมกับองค์กรไวล์ดเอด มาเป็นต้นแบบชวนทุกคนร่วมชาเลนจ์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคมเป็นต้นไป
ชาเลนจ์ #ฉลองไม่ฉลาม ท้าให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการปกป้องฉลาม ด้วยการอ่านเรื่องด่วนของฉลามให้ไปถึง 'หู' ทุกคน เพราะการประเมินความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของฉลามทั่วโลกครั้งใหม่ ที่เพิ่งเปิดเผยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่าฉลามทุกๆ 1 ใน 3 ชนิด หรือมากกว่า 160 ชนิด จาก 536 ชนิด ที่ถูกประเมินกำลังเสี่ยงสูญพันธุ์จากการจับปลาเกินขนาดเพื่อนำครีบ เนื้อ หนัง และทุกชิ้นส่วนไปบริโภค ทั้งๆ ที่ฉลามมีบทบาทสำคัญช่วยรักษาความสมดุลของท้องทะเล นอกจากนี้ การประเมินสถานภาพทางการอนุรักษ์ของฉลามในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2563 โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พบว่า ฉลามที่พบได้ในน่านน้ำไทย 47 ชนิด จาก 87 ชนิด มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ไปจนถึงเสี่ยงขั้นวิกฤตต่อการสูญพันธุ์
"ฉลามไม่ใช่เรื่องไกลตัว การเห็นฉลามในซุปหรือเมนูบนจาน มักทำให้เราลืมนึกถึงพวกมันในฐานะผู้ดูแลรักษาความสมดุลของท้องทะเล ทุกวันนี้พวกมันมีจำนวนลดน้อยลงจนน่าห่วง ลูกกอล์ฟขอเป็นอีกหนึ่งเสียงที่จะบอกต่อข้อเท็จจริงที่ฉลามกำลังเผชิญ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นเมื่อฉลามหายไปให้ถึงคนรุ่นใหม่มากที่สุด และสร้างการมีส่วนร่วมที่จะปกป้องฉลามและท้องทะเล เพราะเมื่อเรารู้จักฉลามมากขึ้น ลูกกอล์ฟเชื่อว่าเราจะเปลี่ยนความคิด ความเข้าใจผิดที่เคยมีต่อพวกมัน และนำไปสู่การเลิกบริโภคในที่สุด" ลูกกอล์ฟ คณาธิป สุนทรรักษ์ กล่าว
การมีอยู่ของฉลามคือหลักประกันความสมบูรณ์ของท้องทะเล ในฐานะนักล่าที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารในบริเวณที่มันอยู่ ฉลามกำจัดสัตว์ทะเลที่ป่วย อ่อนแอ คัดสรรสายพันธุ์ปลาให้แข็งแรง คุมโรคระบาด ควบคุมประชากรของสัตวทะเลไม่ให้มีมากหรือน้อยเกินไป คุมพฤติกรรมสัตว์ทะเลให้อยู่กับร่องกับรอย เปรียบเหมือนป่าที่ต้องมีเสือ หากฉลามหายไป จะส่งผลกระทบเป็นลำดับต่อห่วงโซ่อาหารของทะเล แต่ผลการสำรวจความต้องการบริโภคหูฉลามในไทย พ.ศ. 2561 ขององค์กรไวล์ดเอดพบ คนไทยเขตเมืองมากกว่า 60% ยังต้องการบริโภคหูฉลามในอนาคต โดยบริโภคบ่อยที่สุดในงานฉลองต่างๆ นั่นคือ งานแต่งงาน งานรวมญาติ และงานเลี้ยงธุรกิจ ซึ่งเป็นที่มาของโครงการรณรงค์ #ฉลองไม่ฉลาม
นอกจากชาเลนจ์อ่านเรื่องด่วนของฉลาม ไวลด์เอดชวนทุกคนชมคลิปวิดีโอเล่าเรื่องฉลามที่พบในน่านน้ำไทยและกำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ 6 ชนิด โดยคุณป้อง ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์ ทูตฉลามองค์กรไวล์ดเอด คุณมารีญา พูลเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ปี 2017 คุณเต้ย จรินทร์พร จุนเกียรติ นักแสดงชื่อดัง รวมทั้งครีเอเตอร์บน TikTok จากหลายวงการร่วมสร้างสรรค์วิดีโอเรื่องฉลามในแง่มุมต่างๆ ตามสไตล์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นคุณเอวา @avarest และคุณธรรมชาติ @Thammachad นักสร้างสรรค์คอนเทนต์บน TikTok, คุณดาร์ท @dart14 นักพากย์, คุณบูม @thebabyboom ครูสอนดำน้ำ และคุณเฟิร์ส @firstvoice นักพากย์ตั่วเฮีย ติดตามคลิปสนุกๆ แถมได้ความรู้เหล่านี้ทาง TikTok @WildAidThailand และของครีเอเตอร์ทุกท่าน
TikTok แพลตฟอร์มสร้างสรรค์วิดีโอสั้นชั้นนำระดับโลกที่มีผู้ใช้งานต่อเดือนแตะ 1 พันล้านคนทั่วโลก ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญเพื่อให้การรณรงค์เข้าถึงผู้คนในวงกว้าง ภายใต้โครงการ 'TikTok For Good' ที่มีเป้าหมายเพื่อการสร้างสรรค์แรงบันดาลใจและสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ซึ่งประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและปัญหาเรื่องสัตว์ป่าเป็นอีกเรื่องที่ TikTok ให้ความสำคัญ และในครั้งนี้เราได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างจิตสำนึกและรณรงค์ปกป้องฉลามทั่วโลกร่วมกับองค์กรไวล์ดเอด เนื่องในวัน World Animal Day ซึ่งตรงกับวันที่ 4 ตุลาคม เพื่อจุดประกายและกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่เลือกทำในสิ่งที่จะเป็นผลกระทบทางบวกต่อโลกและผู้คนรอบตัว
"เราตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปกป้องฉลามทั่วโลก และยินดีที่ได้มีส่วนช่วยไฮไลท์ภัยคุกคามและความสำคัญของฉลามต่อผู้ใช้ TikTok ร่วมกับองค์กรไวล์ดเอด เราเชื่อว่าชุมชนผู้ใช้งานที่กำลังเติบโตในไทย รวมถึงเหล่าคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ และธรรมชาติของแพลตฟอร์ม จะทำให้การรณรงค์ #ฉลองไม่ฉลาม เต็มไปด้วยเนื้อหาที่หลากหลาย สร้างสรรค์และสนุก เพื่อเชิญชวนคนไทยปฏิเสธการบริโภคฉลามต่อไป" สุรยศ เอี่ยมละออ Head of Consumer Marketing จาก TikTok กล่าว
องค์กรไวล์ดเอดดำเนินโครงการรณรงค์ #ฉลองไม่ฉลาม เพื่อลดความต้องการบริโภคหูฉลามในประเทศไทย มาตั้งแต่ปี 2561และจะเดินหน้าสร้างความตระหนักเพื่อให้คนไทยเห็นคุณค่าการมีอยู่ของฉลามในทะเลไทยต่อไป
"ความร่วมมือกับ TikTok มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งเพื่อให้เราสื่อสารเรื่องเร่งด่วนของฉลามต่อสาธารณชนในวงกว้าง เพราะความโดดเด่นของแพลตฟอร์มที่สร้างการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ผ่านวิดีโอ เราเชื่อว่าโซเชียล มีเดียมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนความคิด พฤติกรรมของผู้บริโภค และค่านิยมในสังคม ยิ่งเรารู้ถึงผลกระทบจากการบริโภคฉลามมากเท่าไหร่ เราจะยิ่งอยากปกป้องพวกมันมากขึ้น" จอห์น เบเกอร์ ผู้อำนวยการโครงการรณรงค์องค์กรไวล์ดเอด กล่าว
ทุกคนสามารถติดตามและร่วม Duet ชาเลนจ์ #ฉลองไม่ฉลาม กับครูลูกกอล์ฟและไวล์ดเอด ที่ TikTok @WildAidThailand @ploukgolf หรือค้นหา #ฉลองไม่ฉลาม บนหน้าเทรนดิ้ง แฮชแท็ก (Trending Hashtag) ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคมเป็นต้นไป