ซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก เผยว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 โครงการคอนโดมิเนียมระดับซูเปอร์ลักซ์ชัวรี่ในกรุงเทพมหานครมียอดจองเฉลี่ยสูงสุดที่ 76.3% และตลาดยังคงเป็นที่สนใจของนักลงทุน ขณะที่ตลาดบ้านแนวราบมีการเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มขึ้น 26.8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากผู้ซื้อที่ต้องการมีพื้นที่ใช้สอยที่กว้างขึ้น
นางสาวอาทิตยา เกษมลาวัณย์ หัวหน้าแผนกซื้อขายที่พักอาศัยโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า "จากวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้ตลาดที่พักอาศัยโดยรวมของกรุงเทพฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดระรอกใหม่ที่เกิดขึ้น ซัพพลายจากการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่จึงลดลงมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2563 และจากตัวเลขในไตรมาส 2 ปี 2564 ของซีบีอาร์อี พบว่า การเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ลดลงจากไตรมาสแรก 11.4% โดยผู้พัฒนาโครงการให้ความสำคัญกับการขายยูนิตที่สร้างเสร็จและพร้อมเข้าอยู่มากกว่า โดยมีข้อเสนอพิเศษเป็นตัวเร่งการตัดสินใจของลูกค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการให้ส่วนลด 5 - 10%"
จากสถิติของแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี พบว่า ณ ไตรมาส 2 ปี 2564 คอนโดมิเนียมทั้งหมดในกรุงเทพฯ มีจำนวนทั้งสิ้น 828,549 ยูนิต โดยยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 106,990 ยูนิต และก่อสร้างแล้วเสร็จจำนวน 7,983 ยูนิต ซึ่งมีเพียง 1,444 ยูนิตที่ตั้งอยู่ในย่าใจกลางธุรกิจหรือซีบีดี ปัจจุบันโครงการคอนโดมิเนียมที่ก่อสร้างแล้วเสร็จมียอดขายเฉลี่ย 90.9% ขณะที่โครงการคอนโดมิเนียมที่ยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างมียอดจองเฉลี่ย 61.4% โดยคอนโดมิเนียมระดับซูเปอร์ลักซ์ชัวรี่มียอดจองเฉลี่ยสูงสุดที่ 76.3%
ถึงแม้ภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมจะไม่คึกคักเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 แต่คอนโดมิเนียมระดับซูเปอร์ลักซ์ชัวรี่ โดยเฉพาะโครงการที่ตั้งอยู่บนทำเลหายาก และโครงการ Branded Residence ที่มีเครือโรงแรมระดับโลกมาบริหาร ยังคงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนระดับบนที่มีกำลังซื้อสูง
"ไพร์มโลเคชั่นยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะดึงดูดลูกค้าและนักลงทุน รวมถึงบริการเสริมระดับคุณภาพโดยแบรนด์โรงแรมชั้นนำที่สามารถช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่โครงการในระยะยาวได้ ซึ่งช่วงนี้เป็นจังหวะดีสำหรับผู้ซื้อที่จะเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่คุ้มค่าในราคาที่เหมาะสมและสามารถส่งต่อให้ลูกหลานได้ในอนาคต" นางสาวอาทิตยา กล่าวเพิ่มเติม
ด้านโครงการบ้านแนวราบหรือบ้านเดี่ยวในกรุงเทพฯ ซีบีอาร์อี พบว่า ความต้องการบ้านมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปเพราะจำเป็นต้องใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น ต้องการพื้นที่กว้างขวางและเป็นสัดส่วนเพื่อความเป็นส่วนตัว รวมถึงสามารถใช้เป็นพื้นที่ทำงานและทำกิจกรรมภายในครอบครัวได้หลากหลายมากขึ้น
ซัพพลายโดยรวมของโครงการบ้านที่สร้างโดยผู้พัฒนาโครงการในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 337,188 หลัง และบ้านที่ผู้อยู่อาศัยสร้างเองมีจำนวน 225,423 หลัง ทั้งนี้ แผนกวิจัย ซีบีอาร์อี รายงานว่า ในไตรมาส 2 ปี 2564 มีการเปิดตัวโครงการบ้านใหม่เพิ่มขึ้นถึง 26.8% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และมียอดโอนบ้านเพิ่มขึ้น 5.2% ต่อปี คิดเป็น 22,141 ยูนิต
ด้านยอดขายที่พักอาศัยของซีบีอาร์อีในช่วงครึ่งแรกปี 2564 นั้นพบว่า มียอดขายโครงการบ้านหรูเพิ่มขึ้นสูงถึง 120% และยอดขายคอนโดมิเนียมหรูเพิ่มขึ้น 59% แม้ว่าจำนวนลูกค้าที่เข้าเยี่ยมชมโครงการที่ซีบีอาร์อีเป็นตัวแทนในช่วงที่ผ่านมาจะลดลง 23% แต่จำนวนยูนิตที่ขายได้กลับเพิ่มขึ้น 18.8% โดยมียอดขายบ้านหรูและคอนโดมิเนียมหรูรวมเพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2563 ซึ่งในครึ่งแรกของปีนี้ คอนโดมิเนียมมูลค่าสูงสุดที่ซีบีอาร์อีปิดการขายมีราคา 130 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพนท์เฮ้าส์ในโครงการระดับซูเปอร์ลักซ์ชัวรี่ และบ้านเดี่ยวระดับซูเปอร์ลักซ์ชัวรี่ใจกลางเมือง มูลค่าสูงสุด 100 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังพบว่ามีลูกค้าที่ยกเลิกสัญญาจองเพียง 1.1% เท่านั้นของจำนวนยูนิตที่ขายได้ทั้งหมด และมีผู้ซื้อที่เป็นนักลงทุนชาวต่างชาติ 5.3% ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้
"ตลาดบ้านเป็นตลาดที่ขับเคลื่อนโดยดีมานด์จากผู้ซื้อที่ต้องการอยู่อาศัยเองเป็นหลักอยู่แล้ว จึงได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 น้อยกว่าตลาดคอนโดมิเนียมซึ่งมีผู้ซื้อที่เป็นนักลงทุนในสัดส่วนที่สูงกว่า และเมื่อไม่นานมานี้ มีเทรนด์ที่น่าสนใจเกิดขึ้นในตลาดบ้าน คือ ผู้พัฒนาโครงการมีความเข้าใจและให้ความสำคัญมากขึ้นกับแนวคิดของความเป็นอยู่ที่ดีและสุขภาพที่ดี ที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่การออกแบบโครงการ ยังรวมไปถึงการเลือกใช้วัสดุ เทคโนโลยีใหม่ ๆ และการให้บริการของนิติบุคคล เพื่อสุขอนามัยที่ดีของผู้อยู่อาศัยอีกด้วย ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในยุคปัจจุบัน" นางสาวอาทิตยา กล่าวสรุป