บีโอไอสรุปภาวะการลงทุน ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 สถิติการขอรับส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นเกินคาด มีมูลค่ารวมมากกว่า 5 แสนล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นโดยสูงกว่าปี 2563 ทั้งปี และยังสูงกว่ามูลค่าเฉลี่ยก่อนเกิดโควิดในช่วงปี 2558 - 2562 ขณะที่การลงทุนผ่าน FDI มูลค่าก็เพิ่มขึ้นสอดคล้องกัน โดยมีอัตราเติบโตมากกว่า 200% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า ในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค. - ก.ย.) ปี 2564 มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 1,273โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 520,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 140 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าสูงกว่าปี 2563 ทั้งปี (432,000 ล้านบาท) และสูงกว่ามูลค่าเฉลี่ยก่อนเกิดโควิดช่วงปี 2558 - 2562 (483,664 ล้านบาท)
กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 269,730 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52ของมูลค่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุดอันดับแรก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 77,210 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการย้ายฐานการผลิตและสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เปลี่ยนกิจกรรมของคนทำงานในรูปแบบ WFH ทำให้มีความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น อันดับ 2 อุตสาหกรรมการแพทย์ 59,210 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นการลงทุนต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด ส่งผลให้ความต้องการสินค้าที่ใช้ในการป้องกันเชื้อโควิด เช่น ถุงมือยาง เพิ่มขึ้นอย่างมาก อันดับ 3 ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 36,760 ล้านบาท อันดับ 4 การเกษตรและแปรรูปอาหาร 31,660 ล้านบาท และอันดับ 5 เทคโนโลยีชีวภาพ 20,950 ล้านบาท
สำหรับมูลค่าขอรับการส่งเสริมจากต่างประเทศ หรือ FDI ช่วง 9 เดือนแรกปี 2564 มีจำนวน 587 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 372,068 ล้านบาท โดยมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 220 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ประเทศที่มีมูลค่าลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 67,816 ล้านบาท สหรัฐฯ 26,936 ล้านบาท และสิงคโปร์ 26,882 ล้านบาท
สำหรับพื้นที่เป้าหมาย EEC มีการขอรับส่งเสริมจำนวน 348 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 173,780 ล้านบาท โดยจังหวัดระยอง มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 91,670 ล้านบาท รองลงมาเป็นจังหวัดชลบุรี มูลค่าเงินลงทุน 54,310 ล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา มูลค่าเงินลงทุน 27,800 ล้านบาท ตามลำดับ
นอกจากนี้ การขอรับส่งเสริมตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ในช่วง 9 เดือนแรกมีจำนวน 134 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 14,806 ล้านบาท โดยการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมีมูลค่าสูงสุด รองลงมาคือ การปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการประหยัดพลังงาน พลังงานทดแทน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการตื่นตัวเรื่องการใช้พลังงานทดแทน โครงการที่ขอสิทธิประโยชน์สำหรับการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนไว้ใช้เองได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประมาณการว่าโครงการเหล่านี้ที่ยื่นคำขอในปีจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนรวมถึง 300 เมกกะวัตต์
"นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติยังคงให้ความสนใจยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อีกทั้งผู้ประกอบการมีความพร้อมเพื่อยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 สังเกตได้จากมีกิจการยื่นขอรับการส่งเสริมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้านเครื่องจักรด้วยการนำระบบอัตโนมัติมาใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าเงินลงทุน 7,378 ล้านบาท หรือประมาณครึ่งหนึ่งของคำขอรับส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ และเมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท Western Digital ซึ่งได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอก็ได้รับคัดเลือกจาก World Economic Forum ให้เป็นโรงงานอัจฉริยะ ได้รับรางวัลระดับนานาชาติด้านการใช้เทคโนโลยีในกลุ่มของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4thIndustrial Revolution) มาใช้ในโรงงาน ซึ่งนับเป็นโรงงานแห่งแรกของไทยที่ได้รับรางวัลนี้ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยที่พร้อมขับเคลื่อนสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตอย่างเต็มรูปแบบ"เลขาธิการบีโอไอ กล่าว