กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ เช่น การถ่ายทอดทางพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมการใช้ชีวิต ในปี 2561 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รายงานว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตทั่วโลก โดย 3 ใน 4 ของกลุ่มโรคนี้ถูกพบในประชากรของประเทศที่กำลังพัฒนาที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง รวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลสุขภาพของคนไทยที่แสดงให้เห็นว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทยในทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้ คนไทย 14 ล้านคนป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตประมาณ 300,000 คน โรคไม่ติดต่อเรื้อรังมีผลระยะยาวต่อสุขภาพและมีอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และความทุพพลภาพจากโรคเรื้อรังที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสังคมและครอบครัว เนื่องมาจากค่ารักษาพยาบาลและค่ายาที่สูงขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายจากการเกิดภาวะแทรกซ้อน
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สมาคมศิษย์เก่าพยาบาลศิริราชในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และ ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช ได้เล็งเห็นถึงความรุนแรงที่มีต่อผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในสถานการณ์โควิด-19 ระบาดเช่นนี้ จึงได้จัดการประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่อง "Challenges in NCDs management to achieve the SDGs in the COVID-19 era and beyond" ระหว่างวันที่ 10 - 11 มกราคม 2565 ผ่านระบบ Zoom ขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาชั้นนำระดับโลกทั้งในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และในทวีปเอเชีย เป็นเจ้าภาพร่วม การประชุมครั้งนี้เปิดโอกาสให้นักวิจัย ผู้ปฏิบัติงาน และนักวิชาการ ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ และร่วมกันสร้างความมุ่งมั่นในการทำงานเพื่อจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพื่อบรรลุเป้าหมาย SGDs ในช่วงยุคโควิด-19 นี้ ทุกท่านสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 02-4415333 ต่อ 2460, 2465 หรือสามารถสมัครออนไลน์ได้ทางเวบไซต์ https://ns.mahidol.ac.th/ncd2022/