แอลกอฮอล์ที่ใช้ปลอดภัยและได้ผลจริงหรือ? เภสัชฯ จุฬาฯ ผลิตชุดทดสอบ ใช้ง่าย รู้ผลไว ห่างไกลโควิด-19

ข่าวทั่วไป Friday October 15, 2021 09:20 —ThaiPR.net

แอลกอฮอล์ที่ใช้ปลอดภัยและได้ผลจริงหรือ? เภสัชฯ จุฬาฯ ผลิตชุดทดสอบ ใช้ง่าย รู้ผลไว ห่างไกลโควิด-19

เภสัชฯ จุฬาฯ เพิ่มความมั่นใจให้ประชาชนห่างไกลจากโควิด-19 พัฒนาชุดทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์เจลและสเปรย์แอลกอฮอล์ล้างมือ

ตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลายคนก็คุ้นชินกับชีวิตวิถีใหม่ที่ต้องรักษาระยะห่าง หมั่นล้างมือ และใช้เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือและข้าวของอยู่เสมอๆ แต่เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่าผลิตภัณฑ์ที่เราใช้อยู่นั้นปลอดภัยต่อสุขภาพและมีประสิทธิภาพทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคได้จริง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภกาญจน์ ชำนิ ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ เผยถึงปัญหาของผลิตภัณฑ์เจลและสเปรย์แอลกอฮอล์ล้างมือที่ปรากฏในสื่อและจากการรายงานของศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

"ผลิตภัณฑ์ร้อยละ 67 มีปริมาณความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 70% โดยปริมาตร ซึ่งไม่เพียงพอในการฆ่าเชื้อโรค ยิ่งกว่านั้น ยังพบการปนเปื้อนสารเคมีอันตรายซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ และหากเข้าตาก็อาจทำให้ตาบอดได้"

จากข้อห่วงใยดังกล่าว ผศ.ดร.ศุภกาญจน์ ได้พัฒนาชุดทดสอบแอลกอฮอล์เบื้องต้นด้วยตนเอง Q-E-S-T 3-in-1 Alcohol Test Kit เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบมาตรฐานและความปลอดภัยของแอลกอฮอล์ที่ใช้อยู่ได้ด้วยตัวเอง

"ชุดทดสอบนี้สามารถวิเคราะห์ได้ทั้งชนิดและปริมาณแอลกอฮอล์ เพื่อยืนยันประสิทธิภาพในการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค และลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส COVID-19"

รู้จักแอลกอฮอล์ประเภทต่างๆ

แอลกอฮอล์มีคุณสมบัติเป็นสารต้านจุลชีพ ได้แก่ ไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อราโดยสามารถฆ่าหรือหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อได้ จึงสามารถใช้ในการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบนผิวหนังและพื้นผิวต่างๆ

แอลกอฮอล์มีหลายประเภทขึ้นอยู่กับลักษณะโครงสร้างทางเคมี ได้แก่

เอทานอล และไอโซโพรพานอล เป็นแอลกอฮอล์ที่ใช้กับมนุษย์ เพื่อการอุปโภคและบริโภค โดยเอทานอลเป็นแอลกอฮอล์ที่พบในสุรา สามารถใช้ได้ทั้งภายนอกและรับประทาน มีราคาสูงที่สุดเมื่อเทียบกับแอลกอฮอล์ประเภทอื่น ส่วนไอโซโพรพานอล เป็นแอลกอฮอล์ที่ใช้ภายนอกเท่านั้น เช่น ใช้ล้างแผล เมทานอล เป็นแอลกอฮอล์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมเชื้อเพลิง เป็นตัวทำละลายในอุตสาหกรรมสีและเป็นสารตั้งต้นในอุตสาหกรรมพลาสติก แอลกอฮอล์ทั้ง 3 ชนิดมีลักษณะคล้ายกันคือเป็นของเหลว ใส ไม่มีสี ระเหยง่าย และไวไฟ สิ่งที่ต่างกันคือกลิ่น

"ไอโซโพรพานอลที่ล้างแผลมีกลิ่นฉุน ส่วนเอทานอลและเมทานอลมีกลิ่นอ่อนๆ จึงทำให้แยกด้วยประสาทสัมผัสยาก" ผศ.ดร.ศุภกาญจน์ เตือนถึงอันตรายหากมีผู้ผลิตหัวใสนำเมทานอลไปผสมในแอลกอฮอล์ล้างมือ

พิษจากเมทานอลและอาการ

เมทานอลเป็นแอลกออล์ที่มีพิษร้ายแรงต่อมนุษย์ ไม่ควรสูดดม ไม่ควรสัมผัสทางผิวหนัง และห้ามรับประทานโดยเด็ดขาด ผู้ทำงานที่ต้องใช้เมทานอลจำเป็นต้องสวมหน้ากาก และใส่ถุงมือเพื่อป้องกันสารเคมีอันตราย การสัมผัสเมทานอลเกิน 40 mg/kg หรือสูดดมเกิน 200 ppm ต่อวัน จะทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เกิดปัญหาระบบทางเดินหายใจ หลอดลมอักเสบ ไปจนถึงตาบอดและเสียชีวิตได้

ผศ.ดร.ศุภกาญจน์ ยกตัวอย่างเหตุที่เกิดขึ้นในต่างประเทศเพื่อเตือนถึงอันตรายของเมทานอลว่า "ในปี 2020 มีรายงานข่าวพบการเสียชีวิตจากการดื่มสุราที่ ปนเปื้อนเมทานอลในประเทศต่างๆ เช่น อิหร่าน รัสเชีย และเม็กซิโกราว 1,000 ราย และข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (US CDC) รายงานว่าในมลรัฐอาริโซนาและนิวแม็กซิโก มีประชาชนเผลอรับประทานเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ 15 ราย มี 4 รายเสียชีวิต และ 3 ราย สูญเสียการมองเห็นหรือตาบอด"

ทดสอบแอลกอฮอล์เบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง

ผลิตภัณฑ์เจลและสเปรย์แอลกอฮอล์สำหรับล้างมือทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคกลายเป็นสินค้าจำเป็นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 จึงสำคัญที่ ผู้บริโภคควรสามารถตรวจสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของตัวสินค้าได้ด้วยตัวเอง ผศ.ดร.ศุภกาญจน์ กล่าว

"ชุดทดสอบแอลกอฮอล์เบื้องต้น Q-E-S-T 3-in-1 Alcohol Test Kit สามารถตรวจสอบได้ทั้งวัตถุดิบแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ชนิดเจลและน้ำ หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์ที่แต่งสีและกลิ่นโดยสารเคมีที่ใช้ในการทดสอบมีความปลอดภัย และได้รับการรับรองมาตรฐานการทวนสอบจากสถาบันมาตรวิทยาประเทศไทย"

ชุดทดสอบสามารถตรวจสอบแอลกอฮอล์ได้ทั้ง 3 ชนิด คือ เอทานอล ไอโซโพรพานอล หรือเมทานอล และระบุความเข้มข้นของเอทานอลในช่วง 30-90% (?10%) โดยปริมาตร (v/v) ใช้เวลาในการทดสอบ 3-5 นาที

"วิธีการใช้ก็ไม่ยุ่งยาก เพียงตวงตัวอย่างแอลกอฮอล์ที่จะทดสอบปริมาตร 1 มิลลิลิตร ลงในภาชนะที่เตรียมให้ จากนั้นเติมน้ำยาตัวแรกซึ่งเป็นสารละลายด่าง 5 หยด และเติมน้ำยาตัวที่สองที่เป็นสารละลายสีเขียว 1 หยด ปิดฝา เขย่าให้เข้ากันและสังเกตการเปลี่ยนสีที่เวลา 3 นาที เพื่อแปลผลชนิดแอลกอฮอล์ และปริมาณเอทานอลตามชาร์ทสี" ผศ.ดร.ศุภกาญจน์ อธิบายวิธีการใช้ชุดทดสอบแอลกอฮอล์

เอทานอลจะแสดงผลเป็นสีส้ม แต่หากผลออกมาเป็นสีเหลืองแสดงว่านั่นคือเมทานอล ส่วนแอลกอฮอล์ไอโซโพรพานอลจะพบการแยกชั้น

สำหรับการวิเคราะห์ปริมาณเอทานอล อ่านผลที่เวลา 3 นาที หากมีเอทานอล 80% v/v จะเกิดตะกอนสีส้ม เอทานอล 70% v/v จะเกิดสารสะลายสีส้ม และถ้ามี เอทานอลน้อยกว่า 70% v/v จะเป็นสารละลายสีน้ำตาล หรือเขียวอมน้ำตาล

"แอลกอฮอล์ที่มีคุณภาพสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ผลจากการทดสอบควรเป็นสีส้ม" ผศ.ดร.ศุภกาญจน์ เน้น

เก็บรักษาแอลกอฮอล์อย่างไรให้อยู่นาน

แอลกอฮอล์เป็นสารที่ระเหยง่ายในอุณหภูมิห้อง ดังนั้นจึงควรดูแลเรื่องการจัดเก็บและใส่ใจเลือกบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม

"การบรรจุแอลกอฮอล์ในขวดปั๊มที่มีรูขนาดใหญ่จะทำให้แอลกอฮอล์ระเหยง่ายกว่าขวดสเปรย์ ควรเก็บแอลกอฮอล์ไว้ในภาชนะที่มีฝาปิดให้แน่น ไม่เปิดฝาทิ้งไว้หรือทิ้งไว้กลางแดดเป็นเวลานาน หากเปิดใช้งานแล้วหรือมีการแบ่งบรรจุใส่ภาชนะอื่น ก็จะทำให้วันหมดอายุเปลี่ยนไป"

ระยะเวลาการใช้งานขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อม ผศ.ดร.ศุภกาญจน์ แนะว่า "ถ้าใส่กระเป๋าและอยู่ในห้องทำงานที่มีเครื่องปรับอากาศ จะใช้ได้ประมาณ 6 เดือน ถ้าอยู่นอกอาคารใช้ได้ 3 เดือน ไม่ควรวางแอลกอฮอล์ไว้ในรถ เพราะแอลกอฮอล์สามารถระเหยฟุ้งกระจายภายในห้องโดยสาร ถ้าเจอไฟแช็กหรือจุดชาร์จแบตเตอรี่จะทำให้เกิดประกายไฟและเป็นอันตรายได้"

ใช้แอลกอฮอล์อย่างปลอดภัย ไกลโรค

ผศ.ดร.ศุภกาญจน์ ย้ำข้อควรปฏิบัติสำหรับประชาชนในการใช้แอลกอฮอล์ให้ถูกวิธีว่า "ทุกครั้งหลังสัมผัสสิ่งสาธารณะควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยแอลกอฮอล์ล้างมือที่มี เอทานอล 70% v/v โดยถูแอลกอฮอล์ให้ทั่วถึงทุกบริเวณของนิ้วมือ ฝ่ามือ และข้อมือเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วินาที"

"หากมือสัมผัสแอลกอฮอล์แล้วไม่มีความเย็น หรือแอลกอฮอล์มีลักษณะผิดปกติเช่น แยกชั้น จับตัวเป็นก้อน ตกตะกอน สีเปลี่ยน ก็ไม่ควรใช้"

สุดท้าย ผศ.ดร.ศุภกาญจน์ แนะให้ผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เจลและสเปรย์แอลกอฮอล์เพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ มีฉลากระบุเลขที่จดแจ้ง และวันหมดอายุ และหากไม่แน่ใจในประสิทธิภาพ ก็สามารถตรวจสอบกับชุดทดสอบแอลกอฮอล์เบื้องต้น Q-E-S-T 3-in-1 Alcohol Test Kit ได้

"หากทดสอบกับชุดนี้แล้ว พบความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ประเภทเอทานอลมีปริมาณน้อยกว่า 70% หรือพบแอลกอฮอล์ที่มีเมทานอลเป็นส่วนประกอบ สามารถส่งตัวอย่างตรวจเพื่อยืนยันผลการทดสอบได้ที่สำนักเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข" ผศ.ดร.ศุภกาญจน์ กล่าวทิ้งท้าย

ชุดทดสอบแอลกอฮอล์เบื้องต้น Q-E-S-T 3-in-1 Alcohol Test Kit มีจำหน่ายที่ โอสถศาลา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ โทร.0-2218-8428-9 (ชุดทดสอบราคา 200 บาท ทดสอบได้ 10 ครั้ง)

 


แท็ก โควิด-19   จุฬา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ