เจาะลึกผลกระทบ 2 Disruptions: ระบบอัตโนมัติและประชากรสูงวัยจะส่งผลต่อตลาดแรงงานอย่างไร

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 15, 2021 16:21 —ThaiPR.net

เจาะลึกผลกระทบ 2 Disruptions: ระบบอัตโนมัติและประชากรสูงวัยจะส่งผลต่อตลาดแรงงานอย่างไร

สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนางานวิจัย "Sasin Research Seminar Series" เป็นประจำทุกๆ สองสัปดาห์ เมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการจัดสัมมนาในหัวข้อ "A Deeper Look into the Impact of Disruption: The Interaction Effects of Automation and Population Aging on Labor Market" โดยมี ผศ. ดร.ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเงิน และ ผศ. ดร.สบิณฑ์ ศรีวรรณบูรณ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการปฏิบัติการและเทคโนโลยี สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ เป็นผู้บรรยาย ซึ่งเนื้อหาของการสัมมนา กล่าวถึง การประยุกต์ใช้ระบบอัตโนมัติ (Automation) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Digital Disruption ที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาของ Exponential technologies เช่น ระบบอัตโนมัติ (และ AI) บล็อคเชน พลังงานแห่งอนาคต และเทคโนโลยีเสมือนจริง (Augmented and virtual reality) และการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัย (Aging Population) ซึ่งมักจะควบคู่ไปกับการลดลงอย่างรวดเร็วของสัดส่วนและจำนวนแรงงานในประเทศ ที่องค์กรต่างๆ เช่น UN และหน่วยงานในประเทศต่างๆ ได้คาดการณ์ไว้ โดยทั้งสองเป็น Disruption ที่สำคัญมากและจะส่งผลกระทบต่อโลกในอนาคตอย่างแน่นอน แต่สองสิ่งนี้มักไม่ได้ถูกนำมาศึกษาร่วมกัน โดยงานวิจัยของอาจารย์ทั้งสองศึกษาว่า ระบบอัตโนมัติจะมาแทนที่แรงงานมนุษย์หรือไม่ สัดส่วนประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นจะก่อทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนทักษะหรือไม่ และสองสิ่งนี้จะมีความเกี่ยวพันกันอย่างไรเพื่อการเข้าใจผลกระทบต่อตลาดแรงงานที่ชัดเจนมากขึ้น

มีข้อมูลจากลักษณะของงานที่แสดงว่า งานบางประเภท เช่น งานป้อนข้อมูลและงาน telemarketers มีแนวโน้มที่จะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติ อย่างไรก็ตามงานที่ต้องใช้ทักษะระดับสูงด้านการรับรู้และการจัดการ ความคิดสร้างสรรค์ หรือเชาวน์ปัญญาทางสังคม มักจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า แต่ในขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของอายุแรงงานก็สามารถส่งผลกระทบต่อแนวโน้มของงานที่จะถูกแทนที่ด้วยระบบอัตโนมัติได้เช่นกัน เช่นงานบางประเภทที่ใช้ความสามารถทางกายภาพ ความจำ และความรวดเร็วของร่างกายและสมองจะมีผลิตภาพลดลง อย่างไรก็ตามงานที่เน้นการใช้ cognitive abilities (ความสามารถในการรู้คิด) และความเข้าใจและการแสดงออกนั้นกลับมีผลิตภาพที่เพิ่มขึ้น ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการประยุกต์ใช้ระบบอัตโนมัติและการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยมีความเกี่ยวพันกัน

งานวิจัยนี้ เป็นงานวิจัยแรกที่ศึกษาผลกระทบและความเกี่ยวพันของการประยุกต์ใช้ระบบอัตโนมัติและการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยต่อตลาดแรงงานในตลาดแรงงานสหรัฐ ซึ่ง ผศ. ดร. ปิยะชาติ ได้ยกตัวอย่างผลการศึกษาที่น่าสนใจ เช่น แม้ว่าโดยเฉลี่ยการประยุกต์ใช้ระบบอัตโนมัติจะมีผลกระทบด้านลบต่อการจ้างงาน แต่หากนำปัจจัยในด้านการเพิ่มขึ้นของแรงงานสูงวัยเข้าไป จะพบว่ามีหลายอาชีพที่การประยุกต์ใช้ระบบอัตโนมัติจะมีผลบวกต่อการจ้างงาน สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการประยุกต์ใช้ระบบอัตโนมัติในการลดปัญหาการขาดแคลนทักษะจากการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัย

ผลที่ได้จากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าทั้งระบบอัตโนมัติและการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงวัยได้เปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานไปแล้ว และมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต การประยุกต์ใช้ระบบอัตโนมัติสามารถเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและลดผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานในยุคสังคมสูงวัยได้ นอกจากนี้ในบางอาชีพการประยุกต์ใช้ระบบอัตโนมัติสามารถเพิ่มการจ้างงานได้เพราะทำให้แรงงานที่มีทักษะที่จำเป็นมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน แต่กระนั้นก็ตามทุกการเปลี่ยนแปลงไม่ได้มีแต่ผลในด้านบวกต่อทุกคน สิ่งที่สำคัญคือผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนมีหน้าที่ในการดูแล "ทุกคน" ให้สามารถก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าเทียม โดยไม่ใช้การเปลี่ยนแปลงเป็นข้ออ้างในการ "เอาเปรียบ" และทิ้งบางคนไว้ข้างหลังเพียงเพื่อให้ตนเองได้รับผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง เพราะการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เท่าเทียมสามารถเป็นต้นเหตุของการขาดดุลยภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ที่จะกัดกร่อนความสมานฉันท์ทางสังคม และส่งผลร้ายต่อทุกคนรวมทั้งผู้ที่เคยได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงในท้ายที่สุด

"Sasin Research Seminar Series" จัดขึ้นศุกร์เว้นศุกร์ เวลา12:00 -13:00 น. ผ่านทาง Zoom ผู้สนใจเข้าร่วมฟังงานวิจัยต่างๆที่น่าสนใจ สามารถติดตามหัวข้อการสัมมนาและลงทะเบียนเข้าฟัง ได้ที่
https://bit.ly/2TlJEHI หรือ www.sasin.edu


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ