กระทรวงแรงงาน ห่วงใยนายจ้าง ลูกจ้าง เร่งเยียวยาสถานประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม สั่งการกสร. เปิดช่องทางช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการด้วยโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ปลอดเงินต้นในปีแรก เพื่อฟื้นฟูกิจการหลังน้ำลด ด้วยเงินกองทุนความปลอดภัยฯ
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ มีสถานประกอบกิจการและลูกจ้างได้รับผลกระทบหลายแห่ง ซึ่งได้กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่เร่งให้ความช่วยเหลือ พร้อมมอบถุงยังชีพแก่ผู้ใช้แรงงานและประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับนายจ้าง ลูกจ้าง กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนจากผลกระทบดังกล่าวและเน้นย้ำมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานโดยเร่งด่วน กระทรวงแรงงานจึงได้มอบหมายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เข้าไปตรวจเยี่ยมสถานประกอบกิจการที่ประสบปัญหาอุทกภัย และขอความร่วมมือจากนายจ้างให้ผ่อนผันเวลาทำงาน หรืออนุญาตให้ลูกจ้างที่ไม่สามารถมาทำงานได้ตามปกติสามารถหยุดงานโดยไม่ถือเป็นวันลา ทั้งนี้ การดำเนินการบรรเทาความเดือดร้อนหลังจากน้ำลด กระทรวงแรงงานได้สั่งการให้กสร. นำเงินกองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานมาให้สถานประกอบกิจการกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ผ่อนชำระไม่เกิน 5 ปี และปลอดเงินต้นในปีแรก เพื่อให้นายจ้าง สถานประกอบกิจการสามารถกู้ยืมไปฟื้นฟูกิจการหลังน้ำลดและนำไปเป็นเงินทุนในการปรับปรุงซ่อมแซมเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ให้มีความพร้อมในการผลิตหรือดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างปลอดภัย
นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า เงินกองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน จัดตั้งขึ้น ตามพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมทั้งแก้ไขสภาพความไม่ปลอดภัยในการทำงาน อีกทั้งป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและโรคอันเนื่องจากการทำงาน ทั้งนี้กรมได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในพื้นที่ที่ประสบภัยอุทกภัย เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจถึงแนวทางการจัดทำแผนฉุกเฉินกรณีเกิดภัยธรรมชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเผชิญและแก้ไขสถานการณ์ บรรเทาความเดือดร้อนและความสูญเสียกับนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว หากผู้ประกอบกิจการและนายจ้างมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่กองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โทรศัพท์ 0 2448 9138 - 39 ต่อ 801 - 804