'บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์' หรือ TPIPP เสนอขายหุ้นกู้ครั้งที่ 2/2564 ไม่เกิน 5 ล้านหน่วย วงเงินรวมไม่เกิน 5,000 ล้านบาท อายุหุ้นกุ้ 4 ปี 3 เดือน ชูอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.55% ต่อปี กำหนดชำระดอกเบี้ยทุก ๆ 3 เดือน ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2569 เสนอขายวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2564 ให้กับนักลงทุนทั่วไปและสถาบัน ผ่านสถาบันการเงินชั้นนำ 13 แห่ง ทริสเรทติ้งจัดอันดับความน่าเชื่อ "BBB+" และแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" และมีอันดับเครดิตเฉพาะองค์กรของบริษัทฯ (Stand-alone credit rating) อยู่ที่ระดับ "A" ตอกย้ำศักยภาพผู้นำอันดับหนึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานสีเขียวที่ช่วยกำจัดขยะให้ประเทศ (Green & Clean Energy) เดินหน้าขยายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ 2 โครงการ คาด COD ได้ในปี 2566
นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP ผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งรายใหญ่ของไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯ เสนอขายหุ้นกู้ TPIPP ครั้งที่ 2/2564 มูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 5,000 ล้านบาท จำนวนหน่วยที่เสนอขายไม่เกิน 5 ล้านหน่วย อายุ 4 ปี 3 เดือน ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2569 โดยเป็นหุ้นกู้ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 ที่อันดับ BBB+ และแนวโน้มอันดับเครดิต 'Stable' และมีอันดับเครดิตเฉพาะองค์กรของบริษัทฯ (Stand-alone credit rating) อยู่ที่ระดับ "A" ตอกย้ำถึงศักยภาพผู้นำอันดับหนึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานสีเขียวที่ช่วยกำจัดขยะให้ประเทศ (Green & Clean Energy) ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่แน่นอนและมั่นคงของ TPIPP ซึ่งได้รับจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreements - PPA) ที่มีกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และข้อได้เปรียบเชิงการแข่งขันด้านต้นทุนเชื้อเพลิงของบริษัทฯ กำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.55% ต่อปี ชำระดอกเบี้ยทุก ๆ 3 เดือน ตลอดอายุหุ้นกู้ โดยจะเริ่มชำระดอกเบี้ยงวดแรก 12 กุมภาพันธ์ 2565
สำหรับการเสนอขายหุ้นกู้ในครั้งนี้จะเสนอขายให้แก่นักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนทั่วไป (Public Offering) มูลค่าหุ้นกู้ที่ตราไว้หน่วยละ 1,000 บาท ราคาเสนอขายหน่วยละ 1,000 บาท นักลงทุนที่สนใจสามารถแสดงความจำนงซื้อหุ้นกู้ดังกล่าวได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ผ่านผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้13 ราย ได้แก่ (1) ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) (2) บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (3) บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบีเอสที จำกัด (มหาชน) (4) บริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย ซีมิโก้ จำกัด (5) บริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด (มหาชน) (6) บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) (7) บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด (8) บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (9) บริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (10) บริษัทหลักทรัพย์อาร์เอชบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (11) บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย)จำกัด (มหาชน) (12) บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และ (13) บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) โดยกำหนดให้นักลงทุนชำระเงินจองซื้อในวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2564
โดยวัตถุประสงค์การออกและเสนอขายหุ้นกู้ครั้งนี้ เพื่อชำระคืนหุ้นกู้บางส่วนที่จะครบกำหนดชำระในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 และใช้ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ 2 โครงการที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดนครราชสีมา โดยคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี ซึ่งคาดว่าโครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2566
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ TPIPP กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนผลประกอบการของบริษัทฯ ยังคงแข็งแกร่ง โดยมีกำไรที่มั่นคงจากโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ รวมถึงสัดส่วนภาระหนี้สินทางที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น D/E จำนวน 0.52 เท่า (ณ งวด 6 เดือนแรกปี 2564) อีกทั้ง มีการปรับปรุงประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้นค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น และทำให้บริษัทฯ มีผลกำไรเพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 รายได้ของบริษัทอยู่ที่ 5,706 ล้านบาท เติบโต 3.28% และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 2,904 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อ EBITDA ยังคงต่ำอยู่ที่ประมาณ 2 เท่าเศษ ในเดือนมิถุนายน 2564
"เรายังคงมุ่งมั่นที่จะแสวงหาการลงทุนใหม่ๆ ทั่วประเทศเพื่อเติมเต็มผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมา TPIPP ได้ชนะการประมูลในโรงไฟฟ้าพลังงานขยะจำนวน 2 โครงการ ที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดนครราชสีมา โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง ได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ 7.92 และ 9.9 เมกะวัตต์ตามลำดับ นอกจากนี้ บริษัทฯ จะเข้าร่วมในการประมูลสัญญาซื้อขายไฟฟ้าใหม่หลายโครงการ และได้ยื่นเรื่องการขอทำสัญญาเสนอการขายไฟให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ RDF (TG7) ขนาดกำลังการผลิตจำนวน 40 เมกกะวัตต์ (MW) คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้" นายภัคพล กล่าว