องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ร่วมกับสหภาพยุโรป (EU) มอบ รางวัล "WEPs Awards" ครั้งแรกในไทย เชิดชู 7 องค์กรเอกชนส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในภาคธุรกิจ เน้นย้ำความสำคัญของหลักการเสริมสร้างศักยภาพสตรี (Women's Empowerment Principles) เพิ่มบทบาทผู้หญิงในระดับผู้นำองค์กรที่มีอำนาจตัดสินใจ
ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในเดือนธันวาคม 2563 ระบุว่า จำนวนกรรมการของบริษัทจดทะเบียนที่เป็นสตรีคิดเป็นร้อยละ 20 ของกรรมการทั้งหมด และบริษัทจดทะเบียนที่มีผู้บริหารสูงสุดหรือ CEO ผู้หญิง คิดเป็นร้อยละ 14 ของจำนวนบริษัททั้งหมดในตลาดทุน
วันที่ 21 ต.ค. 64 องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ร่วมกับสหภาพยุโรป (EU) ได้จัดงานประกาศผู้ชนะรางวัล UN Women 2021 Thailand WEPs Awards ซึ่งเป็นรางวัลเชิดชูเกียรติองค์กรที่มีแนวปฎิบัติที่ดีตามหลักการเสริมสร้างศักยภาพสตรีและส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในภาคธุรกิจ ปีนี้เป็นปีแรกที่ WEPs Awards ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกร่วมกับหน่วยงานในประเทศไทย มีผู้ชนะเลิศทั้ง 7 สาขารางวัลจากการคัดสรรใบสมัครทั้งหมด 62 ใบ โดยคณะกรรมการ 15 ท่าน ซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรจากหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น ผู้นำองค์กรเครื่อข่ายผู้ประกอบการสตรี หน่วยงานด้านการพัฒนาสังคม องค์กรภาคธุรกิจ และ สถาบันการศึกษา โดยทั้ง 7 องค์กรที่ได้รับรางวัลชนะเลิศนี้ จะได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในระดับภูมิภาคที่จะมีการประกาศผลในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้อีกด้วย
คุณโมฮัมหมัด นาซีรี ผู้อำนวยการสำนักงาน UN Women ประจำภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก เน้นย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศว่าองค์กรที่ผลักดันด้านความเท่าเทียมทางเพศ ย่อมสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้ระบบเศรษฐกิจที่เน้นการมีส่วนร่วมที่มากขึ้น ความมุ่งมั่นของภาคธุรกิจถือเป็นก้าวที่สำคัญอย่างยิ่งเพื่อสร้างพื้นที่ทำงานที่เน้นการมีส่วนร่วมและความหลากหลายทางเพศ
ทั้งนี้ UN Women ขอชื่นชมที่หลายองค์กรได้ปฎิบัติตามหลักการเสริมสร้างศักยภาพสตรีเพิ่มขึ้นเป็นวงกว้าง และหวังว่ารางวัล WEPs Awards นี้ จะเป็นแรงกระตุ้นให้องค์กรอื่น ๆ หันมาปรับใช้แนวปฎิบัติหลักการเสริมสร้างศักยภาพสตรีกันมากยิ่งขึ้น
คุณจูเซปเป บูซินี่ อุปทูตและรองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยระบุว่า การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศเป็นเรื่องสำคัญ สหภาพยุโรปยังคงดำเนินการเสริมสร้างศักยภาพสตรีเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในกระบวนการตัดสินใจมากขึ้น ทั้งในภาคประชาสังคม และภาคการเมือง เพื่อขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิงในทุกรูปแบบ และต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมและการเลือกปฎิบัติบนฐานความแตกต่างทางเพศ
ขณะที่คุณกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNRC) กล่าวถึงความสำคัญของการลงทุนเพื่อสร้างเสริมศักยภาพสตรีด้วยการเพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในภาคอุตสาหกรรมใหม่ ๆ การสร้างระบบการคุ้มครองสิทธิต่าง ๆ และส่งเสริมบทบาทของสตรี
"ปัจจัยที่สำคัญต่อการเสริมสร้างศักยภาพสตรีมีสามข้อคือ การสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนหญิงเข้าทำงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ด้านวิทยศาสตร์และเทคโนโลยี การลงทุนเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้หญิงที่ประกอบอาชีพในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ และการเพิ่มบทบาทความเป็นผู้นำของผู้หญิงในบอร์ดบริหาร การเมือง และกระบวนการกำหนดนโยบาย"
ผู้ชนะเลิศทั้ง 7 สาขารางวัล ประกอบด้วย
รางวัลนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ WeEmpowerAsia ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป (EU) และองค์กร Investing in Women ที่ UN Women ได้จัดขึ้นร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน (AWEN) มูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย (Kenan Foundation Asia) สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็ก ประเทศไทย (Global Compact Network Thailand) โดยมีหอการค้าฝรั่งเศส-ไทย (FTCC) และหอการค้ายุโรป (EABC) ร่วมสนับสนุนประชาสัมพันธ์รางวัล
คุณ รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวถึงการส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนได้นำหลักธรรมาภิบาลที่ครอบคลุมประเด็นความเท่าเทียมทางเพศและการเสริมสร้างพลังสตรีมาปรับใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดประเด็นความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ เพื่อเป็นการแสดงถึงการปฏิบัติและประกอบธุรกิจอย่างมีธรรมมาภิบาล โดยบริษัทจดทะเบียนสามารถเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวในรายงาน 56-1 หรือ One-Report ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2565 เป็นต้นไป
"มีผลการวิจัยต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างแสดงให้เห็นว่าการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศและการเสริมสร้างศักยภาพสตรีไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม แต่ยังดีต่อธุรกิจอีกด้วย" เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว
ขณะที่ คุณวีระพงศ์ มาลัย ผอ.สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ส.ส.ว.) ได้หยิบยกประเด็นความสำคัญของการที่ผู้ประกอบการหญิงช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการวางรากฐานในระบบเศรษฐกิจว่า การช่วยเหลือผู้ประกอบการสตรีในการขยายธุรกิจให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้นเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก รวมไปถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสตรีใช้ดิจิทัลให้ครอบคลุมการบริหารธุรกิจในแง่มุมต่าง ๆ ด้วย ซึ่งส.ส.ว. สนับสนุนความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการสตรีและบริษัทข้ามชาติ (MNCs) อีกทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการสตรีในการเข้าสู่ Supply Chain เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมที่เท่าเทียมในภาคเศรษฐกิจ
ม.ล. ปรียพรรณ ศรีธวัช ประธานเครือข่ายผู้ประกอบการสตรีอาเซียน (AWEN) ประเทศไทย และประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัล UN Women 2021 Thailand WEPs Awards กล่าวว่า "AWEN ประเทศไทยได้ร่วมสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการหญิงทั้งในไทยและในอาเซียนผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย เครือข่ายที่เกิดขึ้นได้สะท้อนความพยายามและการร่วมแรงร่วมใจขององค์กรภาคธุรกิจในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและการเสริมสร้างพลังสตรีผ่านรางวัลและเกียรติยศที่ได้รับ ซึ่งการที่มีผู้เข้าร่วมชุมชน WEPs นี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเจ้าหน้าที่จากองค์กรภาครัฐ ผู้สนับสนุน ผู้นำทางธุรกิจ หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลาย ล้วนสะท้อนถึงความก้าวหน้าของหลักเสริมสร้างพลังสตรีในภาคธุรกิจไทย"
งานรางวัล WEPs Awards ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นการมีส่วนร่วม และความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง และขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศในภาคธุรกิจ การมีส่วนร่วม และบทบาทความเป็นผู้นำของผู้หญิงและคนทุกเพศ เพื่อให้เข้าถึงโอกาสต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียม ซึ่งจะนำไปสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนของธุรกิจ และเศรษฐกิจต่อไป