บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แจ้งมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2564 ได้อนุมัติให้บริษัท อาร์เอช อินเตอร์เนชั่นแนล (สิงคโปร์) คอร์ปอเรชั่น จำกัด (RHIS) บริษัทย่อยทางอ้อม เข้าทำธุรกรรมการซื้อหุ้นสามัญของกลุ่มบริษัท Paiton Energy ที่ดำเนินกิจการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนในประเทศอินโดนีเซีย กำลังการผลิตติดตั้ง 2,045 เมกะวัตต์ มูลค่า 809.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 25,421.68 ล้านบาท โดยบริษัทฯ จะใช้เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินและเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการลงทุนดังกล่าวและพร้อมเดินหน้าสู่การเป็นบริษัทชั้นนำด้านพลังงานของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยเป้าหมายกำลังการผลิต 10,000 เมกะวัตต์
นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ครั้งที่ 1/2564 ในวันนี้ (21 ตุลาคม 2564) ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติด้วยคะแนนเสียง ร้อยละ 99.69 ของจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด อนุมัติให้บริษัท อาร์เอช อินเตอร์เนชั่นแนล (สิงคโปร์) คอร์ปอเรชั่น จำกัด (RHIS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อม เข้าทำธุรกรรมการลงทุนซื้อหุ้นสามัญของกลุ่มบริษัท Paiton Energy จาก Mitsui & Co., Ltd. รวมมูลค่า 809.60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 25,421.68 ล้านบาท ประกอบด้วย
โรงไฟฟ้า Paiton มีความสำคัญต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าบนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย โดย PE เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ถ่านหินซับบิทูมินัสเป็นเชื้อเพลิง 2 แห่ง มีกำลังการผลิตรวม 2,045 เมกะวัตต์ คิดเป็นร้อยละ 6 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดบนเกาะชวา ได้แก่ โรงไฟฟ้าแห่งที่ 1 (P7/8) ประกอบด้วยหน่วยผลิตพลังงานไฟฟ้าจำนวน 2 หน่วย มีกำลังการผลิตหน่วยละ 615 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิต 1,230 เมกะวัตต์ โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (PLN) ระยะเวลา 43 ปี ตั้งแต่ปี 2542 - ปี 2585 และโรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 (P3) มีกำลังการผลิต 815 เมกะวัตต์ และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (PLN) ระยะเวลา 30 ปี นับตั้งแต่ปี 2555 - ปี 2585 ทั้งนี้ สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (PLN) ของโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งยังคงเหลือระยะเวลา 21 ปี
นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้น ยังได้อนุมัติให้บริษัทฯ จัดสรรเงินลงทุนตามเงื่อนไขการซื้อขายหุ้นสามัญดังกล่าว รวมถึงการดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้การเข้าทำธุรกรรมการลงทุนในโรงไฟฟ้า Paiton บรรลุผลสำเร็จ โดยคาดว่า กระบวนการการลงทุนดังกล่าวจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ภายในเดือนมีนาคม 2565
ทั้งนี้ บริษัทฯ จะลงทุนโดยใช้เงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน และเงินทุนหมุนเวียนภายในของบริษัทฯ ซึ่งเพียงพอต่อธุรกรรมดังกล่าว โดยบริษัทฯ มีวงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ประมาณ 46,829.42 ล้านบาท ในกรณีที่ใช้เงินกู้จากสถาบันลงทุนทั้งจำนวนจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity) เป็น1.25 เท่า ซึ่งยังเป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของสถาบันการเงิน และการออกและเสนอขายหุ้นกู้ของบริษัทฯ และบริษัทย่อย
"การเข้าซื้อกิจการ PE นับเป็นก้าวสำคัญต่อการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและมั่นคงในระยะยาว เพราะโรงไฟฟ้า Paiton มีการดำเนินงานที่ดีต่อเนื่องสามารถให้ผลตอบแทนที่มีนัยสำคัญต่อรายได้และเพิ่มมูลค่ากิจการบริษัทฯ ให้แข็งแกร่งในระยะยาว อีกทั้งช่วยชดเชยกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าราชบุรีที่ทยอยลดลงตามกำหนดอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้านับจากปี 2568 ทั้งนี้ โรงไฟฟ้า Paiton ได้ดำเนินการผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้กับ PLN เป็นเวลาถึง 22 ปี โดยตั้งแต่ปี 2561 - 2563 มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 25,000 ล้านบาทต่อปี และมีกำไรสุทธิเฉลี่ยประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งยังมีการดูแลบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าและบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี และยังมีแผนที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพหน่วยผลิตไฟฟ้าที่ 7 และ 8 ในปี 2565-2566 ซึ่งจะส่งผลดีทั้งด้านการผลิต และมิติด้านสิ่งแวดล้อม ด้วย" นางสาวชูศรี กล่าวและเสริมต่อไปว่า
"ในนามของคณะกรรมการบริษัทฯ ขอขอบพระคุณผู้ถือหุ้นที่ให้การสนับสนุนและเชื่อมั่นในแนวทางสร้างการเติบโตของบริษัทฯ ที่มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างผลตอบแทนที่มั่นคงให้แก่ผู้ถือหุ้นและประโยชน์ร่วมแก่ผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ การลงทุนในโรงไฟฟ้า Paiton จะส่งผลให้บริษัทฯ รับรู้กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นประมาณ 931 เมกะวัตต์ และยังเป็นโอกาสสนับสนุนการขยายการลงทุนโครงการใหม่ รวมถึงโครงการด้านพลังงานทดแทน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องในประเทศอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริษัทฯ สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน และบรรลุตามวิสัยทัศน์ที่มุ่งสู่การเป็นบริษัทชั้นนำด้านพลังงานและสาธารณูปโภคพื้นฐานในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก"
สำหรับโรงไฟฟ้า Paiton ทั้ง 2 แห่ง ตั้งอยู่ใน Paiton Power Complex ซึ่งเป็นศูนย์รวมแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าที่สำคัญต่อยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของประเทศอินโดนีเซียและเป็นแหล่งไฟฟ้าที่สำคัญของเกาะชวา ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงทั้งหมด 8 แห่ง กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมประมาณ 4,700 เมกะวัตต์