แม้วิกฤติ COVID-19 ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนบนโลกให้ต้องอยู่ห่างไกลกันในโลกจริง แต่ต้องติดต่อกันมากขึ้นทดแทนในโลกเสมือน (virtual) ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมหิดล โดย คณะกายภาพบำบัด ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมคุณภาพ ซึ่งจะทำให้การทำกายภาพบำบัดในภาวะวิกฤติCOVID-19 ไม่เป็นอุปสรรคอีกต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร. กภ.จารุกูล ตรีไตรลักษณะ คณบดีคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะฯ ได้ใช้ประสบการณ์ทางการจัดการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการที่ได้มาตรฐานระดับโลก ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ได้สั่งสมมาตลอดระยะเวลา 56 ปี มาสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมใหม่ล่าสุดที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ
โดย นวัตกรรมแรก ได้ร่วมกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ผลิตคู่มือแนวทางการส่งเสริมสุขภาพดี "ชะลอชราชีวายืนยาว" ซึ่งเกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์ของงานวิจัย
นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจาก The International Organization for Migration (IOM) ทำหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุในชุมชนช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และได้รับการจดทะเบียนลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ภาษาไทย และภาษาพม่า ผ่านสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม(iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล จากการศึกษาวิจัยและทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่างผู้ดูแลซึ่งเป็นชาวเมียนมาร์ที่อยู่ในจังหวัดกาญจนบุรี
ส่วนอีกผลงานนวัตกรรมคุณภาพ ของ คณะกายภาพบำบัดที่ได้ริเริ่มสร้างสรรค์และพัฒนาร่วมกับ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) มหาวิทยาลัยมหิดล คือแอปพลิเคชันโทรเวชกรรมทางไกล (HealthcaRe Tele-delivery Service Application) หรือ "การให้บริการกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัดทางไกล" ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก DCU (Digital Convergence University) และสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งใกล้สู่ความเป็นจริง โดยจะได้เริ่มทดลองใช้กับผู้ป่วยจริงในเดือนพฤศจิกายน 2564 และจะขยายผลสู่ 12 เขตสุขภาพทั่วประเทศ และวางแผน "โกอินเตอร์" ร่วมงานกับ สมาคมกายภาพบำบัดประเทศอินโดนีเซีย ให้ได้ร่วมทดลองใช้ต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร. กภ.จารุกูล ตรีไตรลักษณะ ได้กล่าวอธิบายเพิ่มเติมว่า นับเป็นนิมิตหมายอันดีจากที่ในช่วงกลางปี 2564 ได้มีประกาศราชกิจจานุเบกษาไฟเขียวให้ทำกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัดทางไกลจากสถานพยาบาลได้ ซึ่งแม้การรักษาด้วยมือ หรือแบบสัมผัส ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ป่วย แต่ติดข้อจำกัดที่ต้องปฏิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่าง ทำให้ไม่สามารถเดินทางมาเข้ารับการรักษาด้วยตนเองได้ หรือกังวลเรื่องการติดเชื้อ การทำกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัดทางไกลจึงเป็นทางเลือกที่จำเป็นที่สุดในสถานการณ์นี้
ซึ่งอย่างน้อยในผู้ป่วย 3 กลุ่มอาการอาจรอไม่ได้ หากไม่ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องด้วยการทำกายภาพบำบัดกิจกรรมบำบัดทางไกล ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปวดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นออฟฟิศซินโดรม หรือจากการทำงานที่บ้าน (Work From Home) กลุ่มผู้ป่วยระบบประสาท เช่น โรคอัมพฤกษ์ - อัมพาต ซึ่งหากไม่ได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องอาจมีอาการทรุดลงจนกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง และกลุ่มผู้ป่วยเด็กพิการทางสมอง ที่ส่งผลต่อพัฒนาการ ตั้งแต่ช่วงคลาน ยืน เดิน และพูด ด้วยกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัดทางไกล จะช่วยให้ผู้ดูแลไม่ขาดการติดต่อเพื่อรับคำแนะนำคำปรึกษาจากนักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางแบบเรียลไทม์
โดยปกติที่ศูนย์กายภาพบำบัด ของ คณะกายภาพบำบัดมหาวิทยาลัยมหิดล จะมีการจัดบริการกายภาพบำบัดกิจกรรมบำบัดทางไกลให้กับผู้ป่วยอยู่แล้ว แต่หากแอปพลิเคชันได้ใช้จริง จะมีช่องทางพิเศษเพิ่มเติมที่เหมือนมีนักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัดเฉพาะทางคอยดูแลส่วนตัว อีกทั้งยังคอยออกแบบท่าทำกายภาพบำบัดแบบtailor-made หรือเฉพาะรายบุคคล เพื่อใช้บำบัดอาการที่เกิดจากความผิดปกติทางการเคลื่อนไหวต่างๆ ได้อย่างตรงจุดพร้อมวัดผล และติดตามได้อีกด้วย โดยในช่วงแรกจะเปิดให้ใช้บริการฟรี และจะมีค่าใช้จ่ายในอัตราที่คนไทยทั่วไปสามารถเข้าถึงได้
และจากการที่แอปพลิเคชันกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัดทางไกลดังกล่าวได้รับความสนใจจากต่างประเทศ เช่นประเทศไต้หวัน และอินโดนีเซีย ซึ่งเกิดจากความร่วมมือ และการมีศักยภาพทางวิชาการเป็นที่ยอมรับ ซึ่งในปัจจุบัน คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล มีหลักสูตรซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานจากเครือข่ายการประกันคุณภาพมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network Quality Assurance : AUN-QA) และด้วยความพร้อมด้านศักยภาพของบุคลากร และความเข้มแข็งด้านการวิจัย ซึ่งมีโจทย์จากความต้องการของผู้ป่วยศูนย์กายภาพบำบัด ที่คณะฯ เปิดให้บริการ ทั้งที่ศาลายา และปิ่นเกล้า โดยเป็นทั้งสถานที่ให้บริการบำบัดผู้ป่วย และเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติจริงของนักศึกษาคณะฯ และนักศึกษากายภาพบำบัดจากนานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ประเทศอินโดนีเซียนั้น คณะฯได้มีความร่วมมือถึง 6 มหาวิทยาลัย
ก้าวต่อไป คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้วางเป้าหมายที่จะขึ้นสู่การเป็นผู้นำวิชาการด้านกายภาพบำบัดในอันดับที่ 3 ขึ้นไปของเอเชียให้ได้ภายในปีพ.ศ.2567 ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญให้ประเทศไทยได้ก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศนวัตกรรม ที่สามารถบรรลุได้ถึง 4 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ทั้ง SDGs 3 ที่ว่าด้วยการส่งเสริมสุขภาวะ SDGs4 การศึกษาเท่าเทียม SDGs9 ที่ถึงพร้อมด้วยความเจริญทางอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน และ SDGs17 ซึ่งเป็นพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วน ความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ในที่สุด.
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th