นักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (หลักสูตรนานาชาติ) คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) รับรางวัลเหรีญทองผู้มีความสามารถดีเด่นในโครงการ "สุดยอดวิศวกรปัญญาประดิษฐ์ (Super AI Engineer) ปี 2020" โครงการซึ่งเป็นศูนย์รวมนักพัฒนาปัญญาประดิษฐ์สายพันธุ์ใหม่ สำหรับผู้สนใจพิสูจน์ความสามารถของตัวเองเพื่อพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ จัดโดย สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (Artificial Intelligence Association of Thailand: AIAT) ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) และ คุณอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานร่วมในพิธีพร้อมกันนี้ในช่วงบ่ายมีเวทีเสวนาโดยผู้ทรงคุณวุฒิจาก ภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคงานวิจัย ในหัวข้อ"การผลักดันปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทย" โดย รศ.ดร. พิสิษฐ์ ชาญเกียรติก้อง คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี พีไอเอ็ม และ และ อุปนายก สมาคมสภาคณบดีคณะเทคโนโยลีสารสนเทศประเทศไทย ร่วมเป็นหนึ่งในวิทยากร แลกเปลี่ยนความรู้เพื่อยกระดับนวัตกรรม AI ให้ดียิ่งขึ้น ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัด อว.
"โครงการพัฒนานวัตกร-วิศวกร-นักวิจัย-วิสาหกิจเริ่มต้น ด้านปัญญาประดิษฐ์" หรือ "สุดยอดวิศวกรปัญญาประดิษฐ์ (Super AI Engineer)" ดำเนินการเพื่อพัฒนาผู้ที่มีแรงบันดาลใจทำผลงาน AI หรือผู้ที่ต้องการ Upskill Reskill ในสาขาอาชีพ วิศวกร นวัตกร นักวิจัย Startup เข้าอบรมและ Workshop ตั้งแต่พื้นฐานจนถึงระดับสูงกับผู้เชี่ยวชาญในแวดวง AI โดยเฉพาะ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ ระหว่างเพื่อนสมาชิกหลากหลายอาชีพ โดยในปี 2020 ที่ผ่านมามีผู้พิสูจน์ความเป็นสุดยอดนักปัญญาประดิษฐ์ผ่านการประเมิน ได้แก่กลุ่มเหรียญทอง 8 คน เหรียญเงิน 19 คน และเหรียญทองแดง 45 คน ซึ่งนายณัฐพร หงษ์เจริญ บัณฑิตสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์ ปัจจุบันเป็นนักศึกษาปริญญาโท สาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี (หลักสูตรนานาชาติ) คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ได้รับรางวัลในกลุ่มเหรียญทอง
นายณัฐพร กล่าวว่า "การที่ได้เข้าร่วมโครงการ Super AI Engineer ถือเป็นโอกาสดีในชีวิต ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างนอกเหนือจากในมหาวิทยาลัย เรียนรู้หลากหลายวิชาและได้รับความรู้ใหม่ ตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการ อีกทั้งยังได้มีโอกาสเข้าฝึกงานในองค์กรและได้ทำหัวข้อที่ไม่เคยทำมาก่อน ส่วนตัวผมถนัดในด้าน Image แต่ได้ทำในด้าน NLP ซึ่งเป็นด้านที่เพิ่งเริ่มศึกษาจากในโครงการนี้ ทุกอย่างที่ได้รับมาจากการเรียนและการทำกิจกรรมต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ทำให้เราพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว"
ทั้งนี้ภายในงานมีเสวนา "การผลักดันปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทย" ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิจาก ภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคงานวิจัย ได้แก่ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก, ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน), รศ.ดร. พิสิษฐ์ ชาญเกียรติก้อง คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม), อุปนายก สมาคมสภาคณบดีคณะเทคโนโยลีสารสนเทศประเทศไทย และ ศ.ดร. ธนารักษ์ ธีระมั่นคง นายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยเนื้อหาการเสวนาพูดถึงความต้องการที่จะยกระดับนวัตกรรม ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งถือเป็นศาสตร์ทางดิจิทัลที่ประเทศให้ความสำคัญและนำมาเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ โดยการอาศัยเครื่องมือดิจิทัลในการทำงาน อีกทั้งยังอยากผลักดันให้โครงการ Super AI Engineer เป็นแหล่งที่สามารถพัฒนาคนให้มีทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์มากขึ้น
ทางด้าน รศ.ดร. พิสิษฐ์ ชาญเกียรติก้อง คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) และอุปนายก สมาคมสภาคณบดีคณะเทคโนโยลีสารสนเทศประเทศไทย กล่าวว่า "บทบาทการศึกษาสำหรับปัญญาประดิษฐ์ คือ การสร้างคน พัฒนาทักษะและองค์ความรู้แก่นักศึกษา พร้อมทั้งสนับสนุนทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาคนสู่ภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างหลักสูตรที่ตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรม อาทิ AI Engineer, Robotics Engineer, Data science ให้เป็นไปตามเป้าหมายของประเทศที่จะสร้างบุคลากรและพัฒนาการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์ภายใต้แผนแม่บทฯ ประมาณ 700,000 คนต่อปี ด้านพันธกิจของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มุ่งมั่นผลิตบัณฑิตดีมีคุณภาพ มีประสบการณ์ทำงานแบบมืออาชีพ ด้วยรูปแบบ Work-based Education นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ใช้ได้จริงกับภาคธุรกิจและสังคม เช่น เครื่องผลิตซาลาเปา เซเว่นอีเลฟเว่นโรบอท และหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ในขณะเดียวกันการบริการวิชาการ มีการจัดอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องเพื่อ Upskill, Reskill และ New-skill ส่งเสริมความรู้แก่ชุมชนและอุตสาหกรรม โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สถาบันการศึกษา 12 สถาบัน และภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ จัดโครงการฝึกอบรมเพื่อชะลอการว่างงานภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ แก่บุคลากรให้ทำงานสอดคล้องกับอุตสาหกรรม 4.0 และเตรียมความพร้อมให้กับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์หลังวิกฤต COVID-19"
โครงการ Super AI Engineer ถือว่าเป็นโอกาสนำไปสู่การสร้างชุมชนนักพัฒนาปัญญาประดิษฐ์อย่างแท้จริง และเป็นการเพิ่มศักยภาพของคนไทย ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี หรือศาสตร์อื่นๆ จะเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญหลายด้าน เหล่านี้จะเป็นเครื่องมือที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่จุดสูงสุดในระดับสากล และยกระดับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของไทยให้ทัดเทียมกับต่างชาติได้
สำหรับโครงการดังกล่าวได้จัดขึ้นใน 2 รูปแบบ ทั้ง On site และ Online สามารถชมย้อนหลังได้ที่ Facebook; สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย
คลิก https://www.facebook.com/aiat2015/videos/150187127312735