ก.ล.ต. ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานพันธมิตร จัดงานสัมมนาออนไลน์ ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในตลาดทุนไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday October 29, 2021 08:55 —ThaiPR.net

ก.ล.ต. ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานพันธมิตร จัดงานสัมมนาออนไลน์ ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในตลาดทุนไทย

ก.ล.ต. ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหน่วยงานพันธมิตร จัดงานสัมมนาออนไลน์ "ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในตลาดทุนไทย เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี หลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs)" เพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียน ผู้ประกอบธุรกิจและผู้เกี่ยวข้อง เห็นถึงความสำคัญของประเด็นสิทธิมนุษยชน โดยนำหลักการ UNGPs ไปใช้และเน้นความมุ่งมั่นในเชิงนโยบายจากคณะกรรมการและผู้บริหารของกิจการ (tone from the top) นำไปสู่วัฒนธรรมองค์กรและส่งผลให้มีการปฏิบัติตามนโยบายที่สนับสนุนเรื่องดังกล่าวตลอดจนห่วงโซ่คุณค่าได้โดยสำเร็จ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) จัดงานสัมมนาออนไลน์ "ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในตลาดทุนไทย เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี หลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs)" โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการสัมมนาและปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "นโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน" รวมทั้งมีการบรรยายและปาฐกถาพิเศษจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมทั้งเวทีแบ่งปันมุมมอง (CEO Panel Discussion) จากผู้บริหารระดับสูงที่มาร่วมแชร์มุมมองและประสบการณ์การบริหารธุรกิจตามหลักสิทธิมนุษยชนอย่างใกล้ชิด

ศาสตราจารย์ ดร. วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หรือแผน NAP ของรัฐบาลให้เป็นรูปธรรม ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมทั้งการสร้างให้เกิดความตระหนักรู้และมีการเผยแพร่องค์ความรู้ไปสู่องค์กรธุรกิจทุกกลุ่ม การจัดงานสัมมนาครบรอบ 10 ปี UNGPs ในวันนี้ โดย ก.ล.ต. และหน่วยงานพันธมิตร ถือเป็นช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม ที่จะเป็นเวทีสำคัญสำหรับทุก ๆ องค์กรที่เกี่ยวข้องที่จะมาร่วมผลักดันความก้าวหน้าในการดำเนินการของภาครัฐ และภาคธุรกิจในการขับเคลื่อนกรอบหลักการ UNGPs ซึ่งให้ความสำคัญกับสามเสาหลักของแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน คือ การคุ้มครองป้องกัน (protect) เคารพ (respect) และเยียวยา (remedy) และนับเป็นการส่งสัญญาณความพร้อมในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย UN SDGs ไปสู่ระดับสากล"

นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า "สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ทุกคนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในสังคม กสม. ได้ประกาศนโยบายที่เน้นการส่งเสริมวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนที่บุคคลพึงปฏิบัติต่อกัน ด้วยการให้เกียรติและเคารพศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะมีเชื้อชาติ ศาสนา เพศ ภาษา ความคิดเห็นความเชื่อ หรือสถานะทางสังคมเช่นไร โดยมุ่งสร้างและสนับสนุนกระบวนการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมถึงองค์กรเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ ในการขับเคลื่อนงานด้านสิทธิมนุษยชน และ กสม. ในชุดปัจจุบันมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการประกอบธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักการชี้แนะฯ ต่อเนื่องจาก กสม. ชุดที่ผ่านมา ให้กว้างขวางและครอบคลุมยิ่งขึ้น เพราะเชื่อว่าการคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนจะช่วยให้ธุรกิจมีความยั่งยืนในระยะยาว"

นายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า "ระหว่างที่ประเทศไทย และประเทศต่าง ๆ ออกแบบยุทธศาสตร์และโครงการต่าง ๆ เพื่อฟื้นตัวจากโควิด 19 การนำเอาหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมาปรับใช้โดยภาครัฐและภาคเอกชนจะช่วยให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชน การมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่มในสังคมและแนวทางที่ยั่งยืนในการฟื้นฟูประเทศ"

นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "สิทธิมนุษยชน ถือเป็นหลักของการที่มนุษยชาติอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เคารพสิทธิและคำนึงถึงผู้อื่นเสมือนตัวเราเอง หรือเราอาจจะเรียกว่ามี compassion ร่วมสร้างความเจริญ สร้างมาตรฐานชีวิตที่ดีขึ้น หลักสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้กล่าวถึงการเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญพื้นฐาน โดยบริษัทจดทะเบียน และทุก ๆ บริษัท ควรต้องดูแล เริ่มต้นจากระบบเศรษฐกิจเล็ก ๆ หรือ microeconomy รอบธุรกิจของเราเอง คุ้มครอง เคารพและเยียวยา พร้อมรักษาเสริมสร้างสิทธิมนุษยชนให้กับพนักงาน ครอบครัวพนักงาน คู่ค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) และห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืน"

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "สำนักงาน ก.ล.ต. ได้มอบหมายให้คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาวิจัยภายใต้โครงการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนสำหรับภาคธุรกิจในตลาดทุนไทย ระยะที่ 1 เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และสร้างความตระหนักของบริษัทจดทะเบียนให้เข้าใจถึงความสำคัญในการดำเนินธุรกิจด้วยความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน รวมทั้งจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติในการแสดงรายการข้อมูลประจำปีในส่วนสิทธิมนุษยชน เพื่อให้ภาคธุรกิจมีนโยบาย (Policy Commitment) และสามารถเตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจด้วยความเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างยั่งยืน"

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)กล่าวว่า "ก.ล.ต. เป็นหนึ่งในหน่วยงานของรัฐได้รับมอบหมายพันธกิจจากคณะรัฐมนตรีตามแผน NAP ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 - 2565) เมื่อเดือนตุลาคม 2562 ในการร่วมเผยแพร่หลักการ UNGPs ให้แก่บริษัทจดทะเบียนและภาคธุรกิจในตลาดทุน ให้สามารถผนวกเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ากับการดำเนินธุรกิจตามบริบทของบริษัทได้อย่างเหมาะสม และสามารถกำหนดนโยบายควบคู่ไปกับการนำหลักการตรวจสอบและประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Due Diligence: HRDD) มาเพื่อประเมินความเสี่ยงในกระบวนการทำธุรกิจตามบริบทขององค์กรตลอดจนห่วงโซ่คุณค่า (supply chain) ซึ่งช่วยสะท้อนภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร และเป็นพลังสำคัญร่วมกันผลักดันให้ภาคธุรกิจของประเทศไทยให้เป็นต้นแบบในระดับภูมิภาคและระดับโลก"

คณะวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร. เซอย่า เดวา ประธานคณะทำงานด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ นางกิต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทยศาสตราจารย์กิตติคุณวิทิต มันตาภรณ์ ศาสตราภิชานประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และนางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์อดีตประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ในงานสัมมนามีการจัดเวทีแบ่งปันมุมมอง (CEO Panel Discussion) เกี่ยวกับการปฏิบัติตามหลักการ UNGPs ของผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียน ได้แก่ นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นางชมพรรณ กุลนิเทศ Head of Sustainability บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับภาคธุรกิจในตลาดทุนและผู้เกี่ยวข้องได้ทราบถึงประโยชน์ที่ได้รับและแนวทางการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนที่ดำเนินตามหลักการ UNGPs โดยผู้ร่วมเสวนาได้กล่าวถึง ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงกระบวนการดำเนินธุรกิจให้ถูกต้องกับหลักการด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งภาคเอกชนต้องหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ด้วยการมีนโยบายที่ชัดเจนและขับเคลื่อนด้วยการสื่อสารและทำความเข้าใจกับทุกคนในองค์กรเพื่อทำให้ธุรกิจก้าวไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนี้ มองว่าการคำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน รวมถึงการพัฒนาความยั่งยืนไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นการลงทุนที่สร้างความคุ้มค่าให้กับธุรกิจ เพราะจะสะท้อนมาเป็นคุณค่าของบริษัทซึ่งเป็นเรื่องที่นักลงทุนสถาบันทั่วโลกให้ความสนใจ

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจที่ทำธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนและปัจจัยเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนให้เกิดผลในวงกว้าง และส่งผลต่อไปสู่ผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป้าหมายความยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ภายในปี 2030 ได้อีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ