ช่วงต้นฤดูหนาว หรือเข้าเดือนพฤศจิกายน แม้ปัญหาวิกฤติCOVID-19 ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาที่มักเกิดในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นร่วมด้วย คือ มลภาวะที่มากับฝุ่นPM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาวะของผู้คน และสิ่งแวดล้อม แต่ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึง ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนเมือง คือ ภัยจากมลพิษ NOx ที่เกิดจากการเผาไหม้เช่นเดียวกัน โดยเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อระบบทางเดินหายใจ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภัทรพร โปสกนิษฐกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเคมีสิ่งแวดล้อมได้กล่าวอธิบายว่า NOx หรือ ไนโตรเจนออกไซด์เป็นก๊าซซึ่งมีส่วนประกอบทางเคมีของไนโตรเจนและออกซิเจน เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลต่างๆ ซึ่งได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และน้ำมันเชื้อเพลิงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเบนซิน หรือดีเซล ฯลฯ ที่ใช้กับรถยนต์ด้วยการสันดาปที่อุณหภูมิสูง เป็นที่ทราบกันดีว่า รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล หรือเครื่องยนต์ที่ระเบิดด้วยการอัดอากาศนั้น ตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดมลพิษเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์จนส่งผลกระทบต่อคุณภาพทางอากาศ
ซึ่งการป้องกันภัยจากมลพิษ NOx สามารถทำได้โดยการกำหนดมาตรฐานไอเสียของยานพาหนะ ควบคู่กับมาตรฐานการควบคุมคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้ยานพาหนะปลดปล่อยไอเสียออกมาได้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานกำหนด ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้กำหนดโดยอ้างอิงกับมาตรฐานที่ใช้กับกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปซึ่งแบ่งได้หลายระดับ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภัทรพร โปสกนิษฐกุล มองว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังคงใช้เกณฑ์มาตรฐานในระดับที่มีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่สูงเท่าที่ควร ถึงเวลาแล้วที่ควรยกระดับมาตรฐานเพื่อสุขภาวะของประชาชนสิ่งแวดล้อม ตลอดจนอนาคตที่ดีกว่าของประเทศชาติ
นอกจากนั้น ควรรณรงค์ให้ประชาชนหมั่นตรวจสภาพเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพพร้อมใช้ และเลือกใช้ Catalytic Converter หรือตัวทำปฏิกิริยาตรงท่อไอเสียรถยนต์ ซึ่งใช้เทคโนโลยีในการดักจับก๊าซ NOx ที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งควรเลือกใช้เครื่องยนต์ที่มีระบบหมุนเวียนไอเสีย หรือExhaust Gas Recirculation (EGR) เพื่อการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ ซึ่งจะสามารถช่วยควบคุมมลพิษจากก๊าซ NOx ได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.เอกสิทธิ์ สมสุข อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้สารเคมีปลอดภัย ได้กล่าวอธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนในทางวิทยาศาสตร์เคมีว่า ก๊าซ NOx เมื่อสัมผัสกับน้ำจะมีคุณสมบัติกลายเป็นกรด ซึ่งมีฤทธิ์ที่กัดกร่อน ถ้าเป็นคนเมื่อสูดก๊าซ NOx เข้าไป จะเกิดกรดที่จะไปกัดกร่อนปอด ทำให้ระบบทางเดินหายใจมีปัญหาได้ แต่ถ้า NOx ได้ไปสัมผัสกับสิ่งของ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นโลหะ จะกัดกร่อนโลหะนั้นๆ จนเกิดความเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อก๊าซ NOx ล่องลอยไปเจอฝน จะทำให้ฝนกลายเป็น "ฝนกรด" ได้
โดยปกติแล้ว ก๊าซ NOx เกิดในปฏิกิริยาเผาไหม้ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากใช้อากาศในการเผาไหม้ ซึ่งอากาศมีก๊าซไนโตรเจนเป็นองค์ประกอบถึงร้อยละ 78 ซึ่งในรถยนต์ใช้อากาศในการเผาไหม้ด้วยอุณหภูมิสูง โดยทำให้โอกาสที่ก๊าซไนโตรเจนในอากาศจะเกิดปฏิกิริยากับออกซิเจนจนกลายเป็น NOx มีสูงไปด้วย ดังนั้น หากเราใช้ Catalytic Converter ที่ท่อไอเสีย จะสามารถเปลี่ยนก๊าซพิษทั้งหลาย ซึ่งรวมทั้ง NOx ให้กลายเป็นก๊าซที่ไม่มีพิษได้ ด้วยหลักการดึงเอาออกซิเจนออกมา เพื่อทำให้ความเป็นพิษเกิดขึ้นน้อยลงและโดยทั่วไปถ้าอยู่ใน "อากาศเปิด" ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นช่วงฤดูร้อน ก๊าซพิษจะสามารถเจือจางได้ด้วยอากาศหากมีลมพัดแรง แต่ปัญหาที่พบมักเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาว ซึ่งมีโอกาสสูงที่จะเกิดภาวะ "อากาศปิด" หรือ ไม่ค่อยมีลมพัดทำให้เกิดการกระจุกตัว หรือการสะสมของก๊าซทั้งหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซที่เกิดจากการเผาไหม้ NOx ซึ่งส่วนใหญ่มาจากรถยนต์
เพื่อให้มีการจัดการอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย SDGs ข้อ 7 แห่งสหประชาชาติที่ว่าด้วยการเข้าถึงพลังงานสะอาด(Affordable and Cleanable Energy) วิธีการหลีกเลี่ยงมลพิษจากก๊าซ NOx ที่ยั่งยืนที่สุด คือ การใช้รถยนต์ให้น้อยลงแล้วเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ หันมาใช้จักรยาน และรถสาธารณะกันให้มากขึ้น ตลอดจนเลือกใช้พลังงานสะอาดทดแทน เช่นเปลี่ยนมาใช้รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทนการใช้น้ำมัน ซึ่งในประเทศไทยพบว่ายังไม่แพร่หลายเท่าที่ควร อีกทั้งในการผลิตกระแสไฟฟ้าส่วนใหญ่ของประเทศไทยยังคงใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติถึงเกือบร้อยละ 80 ซึ่งเป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน
นอกจากนี้ ในประเทศไทยยังมีข้อจำกัดในการใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ หรือ Solar Cell ซึ่งพบว่ามีค่าใช้จ่ายในการลงทุนติดตั้งค่อนข้างสูง จึงยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควรเช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ควรทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่วิถีชีวิตใหม่ เพื่อการใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยและประคับประคองให้โลกนี้คงอยู่ต่อไปอย่างยั่งยืน
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
ออกแบบแบนเนอร์โดย วิไล กสิโสภา นักวิชาการสารเทศ
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210