เมื่อเร็วๆนี้ ณ ห้องประชุมกัลปพฤกษ์ อาคารราชบุรีเกมส์ ศาลากลางจังหวัดราชบุรี คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจลงพื้นที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดราชบุรี โดยมีนายรณภพ เหลืองไพโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี กล่าวต้อนรับ และนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจเป็นประธานการประชุม และ รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และผู้บริหาร มจธ. ร่วมประชุมและลงพื้นที่ภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy Model) สาขาเกษตร สาขาการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และคณะกรรมการเพิ่มมูลค่าพืชเกษตร ร่วมกับส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา และผู้แทนเกษตรกรในจังหวัดราชบุรีในการนี้ รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้เสนอแนวคิดในการขับเคลื่อนและพัฒนาศักยภาพคนเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตามนโยบายพัฒนากำลังคนและระบบการศึกษารองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต รองรับกำลังคนทุกช่วงวัย เป็นการให้การศึกษาควบคู่ไปกับการดำเนินชีวิต สร้างกำลังคนให้มีศักยภาพตอบสนองความต้องการภาคการผลิต ด้วยการใช้ความรู้ งานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนากำลังคน ผู้ประกอบการ และการพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ชั้นแนวหน้า ในการนี้ได้แนะนำ รศ.เอนก ศิริพานิชกร ผู้ประสานงานของ มจธ. เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญในสถาบันการศึกษาเป็นกลไกในการถ่ายทอดองค์ความรู้สมัยใหม่ให้กับเกษตรกร การปรับระบบการเกษตรสู่ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูงและมูลค่าสูง เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) จากความหลากหลายของสินค้าเกษตร ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงและสามารถใช้องค์ความรู้ที่เหมาะสมได้ รวมถึงการพัฒนาระบบเกษตรแบบองค์รวม เชื่อมโยง B C และ G ทั้งจังหวัด
การประชุมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดความร่วมมือ การระดมความคิดเห็น และการบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนจังหวัดราชบุรีเป็นโมเดลนำร่องเศรษฐกิจ BCG Model และกรอบเกษตรมูลค่าสูง ที่จะสามารถกำหนดทิศทาง และเป็นแนวทางในการพัฒนาสินค้าเกษตรจังหวัดราชบุรี ให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีสินค้าเกษตรเป้าหมายที่จะดำเนินการ ประกอบด้วย สินค้าเกษตร 4 ประเภท ได้แก่ มะพร้าวน้ำหอม อ้อยโรงงาน โคนม สุกร โดยทางจังหวัดยังได้เสนอเรื่องกุ้งก้ามกรามเพิ่มเติม ทั้งนี้การสนับสนุนส่งเสริมควรอิงหลักเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ ที่ประชุมยังหารือกลยุทธ์การขับเคลื่อนส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง อันเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการพัฒนาด้านเศรษฐกิจฐานรากของจังหวัดราชบุรีให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต ยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร สามารถยกระดับรายได้ให้แก่พี่น้องเกษตรกรชาวราชบุรี และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวต่อไป
ภายหลังการประชุม คณะผู้เข้าร่วมประชุมได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดราชบุรี กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่เชิญมาร่วมประชุมด้วย ทั้งนี้เพื่อหารือการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเสีย การพบปะเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าว และเยี่ยมชมโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์มะพร้าวน้ำหอม ณ บริษัท เอ็นซี โคโคนัท จำกัด ตำบลแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก โดยต้องทำให้เกษตรเป็นอาชีพที่มั่นคง เพิ่มผลิตภาพ คุณภาพภายใต้ทรัพยากร ดินและน้ำที่จำกัด และสามารถปรับตัวตอบรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยกระดับผลผลิตสู่มาตรฐานที่คู่ค้ากำหนด ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเข้มงวดขึ้นหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยที่ผ่านมา มจธ. มีโอกาสได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์มะพร้าวน้ำหอมในจังหวัดราชบุรี อาทิ สำนักอุทยานวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม ได้เข้าไปมีส่วนร่วมการดำเนินโครงการ "ผลิตภัณฑ์ทรายแมวจากขุยมะพร้าว"และ "น้ำส้มสายชูหมักจากน้ำมะพร้าวน้ำหอม ด้วยถังหมักขนาด 5 ลิตร ในระดับห้องปฏิบัติการ" เป็นต้น