ม.มหิดล วิจัยกู้วิกฤติส่งออกสัตว์น้ำเศรษฐกิจไทย ศึกษา คิดค้น และพัฒนาเพื่อให้ได้สารชีวโมเลกุล ลดโรคระบาดในกุ้งขาวอย่างมีประสิทธิภาพ

ข่าวทั่วไป Monday November 8, 2021 17:11 —ThaiPR.net

ม.มหิดล วิจัยกู้วิกฤติส่งออกสัตว์น้ำเศรษฐกิจไทย ศึกษา คิดค้น และพัฒนาเพื่อให้ได้สารชีวโมเลกุล ลดโรคระบาดในกุ้งขาวอย่างมีประสิทธิภาพ

วันที่ 21 พฤศจิกายน ของทุกปี ตรงกับ "วันประมงโลก" (World Fisheries Day) ซึ่งตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติ ข้อที่ 14 ที่ว่าด้วยการอนุรักษ์ใช้ประโยชน์จากชีวิตในน้ำให้เกิดความยั่งยืน (Life Below Water) ที่สอดคล้องกับชีวิตการกินการอยู่ของผู้คน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยการประกอบการด้านประมง มีบทบาทสำคัญในการสร้างรายได้มาเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้ง ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกถึงปีละหลายหมื่นล้านบาท

กุ้งในประเทศไทยมีอุดมสมบูรณ์ทั้งที่เป็นกุ้งน้ำจืด  และกุ้งทะเล โดยสายพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงแบบอุตสาหกรรม ที่เป็นกุ้งน้ำจืด ได้แก่ "กุ้งก้ามกราม" ในส่วนที่เป็นกุ้งทะเล "กุ้งกุลาดำ" (Penaeus monodon) เคยเป็นที่นิยมเลี้ยง เนื่องจากมีขนาดค่อนข้างใหญ่ แต่นับจากปีพ.ศ.2545 ที่เกิดวิกฤติโรคระบาดในกุ้งกุลาดำ ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ จนกรมประมงได้อนุญาตให้มีการทดลองเลี้ยง"กุ้งขาว" หรือ "กุ้งแวนนาไมน์" (Litopenaeus vannamei) ซึ่งทนต่อโรค เจริญเติบโตเร็ว และให้ผลผลิตที่ดีกว่าทดแทนจากนั้นได้มีการพัฒนาสายพันธุ์กันเรื่อยมา จนปัจจุบัน "กุ้งแวนนาไมน์" กลายเป็นกุ้งที่ครองตลาดส่งออกมากที่สุดของประเทศไทย

ที่ผ่านมา สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีความพยายามมาโดยตลอดในการทุ่มเทพัฒนางานวิจัยในเชิง "deep tech" ซึ่งใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจไทย จากผลงานสร้างชื่อของศูนย์วิจัยประยุกต์และพัฒนานวัตกรรมกุ้ง ของสถาบันฯ ที่ได้คิดค้นและพัฒนาใช้สารชีวโมกุลเพื่อการเพิ่มผลผลิตกุ้งเศรษฐกิจ ทั้งที่เป็นกุ้งแม่น้ำ หรือ "กุ้งก้ามกราม" และ "กุ้งแวนนาไมน์" ซึ่งเป็นกุ้งทะเล ส่งผลให้เกิดมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศไทยปีละมหาศาล โดยในส่วนของ "กุ้งแวนนาไมน์" ดำเนินการวิจัยโดยมี ดร.พงโสภี อัตศาสตร์ นักวิจัยประจำศูนย์ฯ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยที่ใช้ชื่อว่า "การศึกษากลไกการนำอาร์เอ็นเอสายคู่ เข้าเซลล์กุ้งโดยโปรตีน SID1 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตัวแดงดวงขาวในกุ้งแวนนาไมน์"

ดร.พงโสภี อัตศาสตร์ กล่าวว่า แม้เกษตรกรส่วนใหญ่จะหันมาเลี้ยง "กุ้งแวนนาไมน์" เพื่อทดแทน "กุ้งกุลาดำ" เนื่องจาก"กุ้งแวนนาไมน์" เป็นกุ้งที่ทนต่อโรคมากกว่า แต่ในเวลาต่อมาเกษตรกรประสบปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสตัวแดงดวงขาวในกุ้งแวนนาไมน์ ซึ่งในแวดวงผู้วิจัยกุ้งในประเทศไทยได้มีความพยายามที่จะคิดค้นและพัฒนาวิธีการต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรดังกล่าวรวมทั้งตนซึ่งได้นำทีมวิจัยของศูนย์วิจัยประยุกต์และพัฒนานวัตกรรมกุ้ง สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินโครงการวิจัยซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันมูลค่าส่งออกกุ้งไทยให้เพิ่มขึ้น เพื่อเยียวยาเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศไทยที่ต้องหยุดชะงักจากวิกฤติCOVID-19 เช่นเดียวกับทั่วโลก

มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ "มหาวิทยาลัยวิจัย" ของประเทศ ได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมของบุคลากรทุกระดับ โดยมี สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) ซึ่งเป็นส่วนงานของมหาวิทยาลัยมหิดล

ที่มีบทบาทในระดับชาติ และนานาชาติ คอยให้การสนับสนุนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ จากการอำนวยความสะดวกทั้งในเรื่องการสรรหาทุนเริ่มต้น และต่อยอดงานวิจัยดำเนินการขอรับทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนร่วมกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์อันเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนและประเทศชาติ

ซึ่ง "นักวิจัย" คือ กำลังสำคัญของประเทศไทย  ที่จะร่วมผลักดันสู่การเป็น "ประเทศนวัตกรรม" โครงการวิจัย "การศึกษากลไกการนำอาร์เอ็นเอสายคู่ เข้าเซลล์กุ้งโดยโปรตีน SID1 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตัวแดงดวงขาวในกุ้งแวนนาไมน์" ของ ศูนย์วิจัยประยุกต์และพัฒนานวัตกรรมกุ้ง สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล (MB) จึงได้รับการสนับสนุนหลักด้วยทุนจากมหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ยังได้รับทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัย วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ครั้งที่ 27 พ.ศ.2563 จาก มูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ประเทศไทย

ซึ่งการที่โครงการฯ ได้พยายามศึกษาอย่างจริงจังถึงกลไกการนำสารชีวโมเลกุลเข้าเซลล์กุ้งโดยโปรตีน SID1 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตัวแดงดวงขาวในกุ้งขาวแวนนาไมน์ โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ให้ได้สารชีวโมเลกุลที่มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นให้กุ้งต้านทานต่อไวรัสดังกล่าวได้ดียิ่งขึ้นนี้นับเป็นการแก้ไขปัญหาไวรัสตัวแดงดวงขาวในกุ้งแวนนาไมน์อย่างยั่งยืน ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มุ่งสู่การเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนและเศรษฐกิจไทยอย่างแท้จริง

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ