เมื่ออุตสาหกรรมแข่งไม่ไหว หรือภาคบริการคือคำตอบของไทย ?

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 9, 2021 11:42 —ThaiPR.net

เมื่ออุตสาหกรรมแข่งไม่ไหว หรือภาคบริการคือคำตอบของไทย ?

[อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ https://advicecenter.kkpfg.com/th/money-lifestyle/money/economic-trend/service-sector-analysis]

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร ประเมินว่าถึงแม้นักท่องเที่ยวจะยังคงสามารถกลับเข้ามาได้หลังจากโควิด-19 จบลง ภาคบริการที่พึ่งพาเฉพาะการท่องเที่ยวจะไม่เพียงพอเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว จากเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่กำลังเผชิญกับความท้าทายในหลายมิติและอาจทำให้เติบโตได้ช้าลงกว่าเดิม จากทั้งปัญหาการถูกทิ้งห่างด้านความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิต ปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงอายุ และการเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนของภูมิรัฐศาสตร์โลก หรือหมายความว่า "เศรษฐกิจไทยแบบเก่ากำลังไม่เหมาะกับโลกยุคใหม่ที่มีสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปอย่างมาก"

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีความเสี่ยงที่การท่องเที่ยวในยุคหลังโควิด-19 จะฟื้นตัวได้ไม่ดีเท่ากับที่คาด จากทั้งกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 10% อาจไม่กลับมาอย่างถาวรและในกรณีเลวร้ายที่นักท่องเที่ยวจีน (ประมาณ 30% ของนักท่องเที่ยว) ไม่กลับมาในระยะยาวตามนโยบายของจีนที่สนับสนุนเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้นอาจทำให้นักท่องเที่ยวกลับมาได้ต่ำกว่าระดับก่อนโควิดค่อนข้างมาก เหตุการณ์นี้กำลังเร่งให้ไทยต้องมองหาเครื่องยนต์อื่น ๆ เพื่อลดความเสี่ยงของการเติบโตที่อาจลดลงในระยะยาว

ภาคบริการเดิมไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะยาว
ภาคบริการมีความหลากหลายตามนิยามโดยสามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มบริการสมัยใหม่ที่เน้นการใช้นวัตกรรม เช่น กลุ่มสื่อสารและสารสนเทศ (2) กลุ่มบริการดั้งเดิมที่เน้นการใช้แรงงานทักษะต่ำ และเน้นการค้าระหว่างประเทศ (Low-Skill Tradable Services) เช่น ธุรกิจค้าส่ง ธุรกิจขนส่ง (3) กลุ่มบริการที่ใช้แรงงานทักษะต่ำและพึ่งพาการบริโภคในประเทศเป็นหลัก (Low-Skill Domestic Services) เช่น ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ (4) กลุ่มบริการที่เน้นแรงงานทักษะสูง (High-Skill Intensive) เช่น แพทย์ การศึกษา

เมื่อพิจารณาลักษณะของภาคบริการไทยยังพบว่าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มบริการแบบเก่าซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นตัวตามเศรษฐกิจมากกว่าตัวนำเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดจาก 1) โครงสร้างภาคบริการไทยยังอยู่ในกลุ่มบริการแบบเก่า เช่น การค้าปลีกค้าส่ง การขนส่ง การให้บริการสาธารณะ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มน้อย 2) ภาคบริการไทยไม่ได้ทำหน้าที่สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรม 3) การเติบโตหลักของบริการในระยะหลังเกิดจากภาคการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ซึ่งสะท้อนทิศทางนโยบายของไทยในอดีตว่า ภาคบริการไทยยังไม่ได้รับการใส่ใจจากนโยบายภาครัฐและไม่ได้ถูกผนวกเข้าเป็นกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวทำให้โครงสร้างภาคบริการของไทยยังเป็นภาคบริการแบบเก่า

บริการโตได้?แต่ไทยยังตามหลังประเทศพัฒนาแล้ว
ภาคบริการเป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศพัฒนาแล้วและมีแนวโน้มมีความสำคัญมากขึ้น โดยประเทศรายได้สูงมีแนวโน้มพึ่งพามูลค่าเพิ่มจากภาคบริการในสัดส่วนที่สูงกว่าประเทศกำลังพัฒนา KKP Research มองว่าลักษณะสำคัญของบริการในประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ภาคบริการสามารถเติบโตได้ดี เกิดจากองค์ประกอบของภาคบริการที่มักมีลักษณะเป็นบริการสมัยใหม่ในสัดส่วนที่สูง ตัวอย่างเช่น การบริการในกลุ่ม IT คอมพิวเตอร์ ภาคการเงิน ผู้เชี่ยวชาญในการช่วยเหลือธุรกิจ (Professional Business Services) ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 30%-40% จากบริการทั้งหมดเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาที่มีสัดส่วนประมาณ 10%-20% เท่านั้น สำหรับเศรษฐกิจไทยถือว่ามีสัดส่วนภาคบริการค่อนข้างใหญ่ คือ ประมาณ 60% ของ GDP แต่เป็นบริการสมัยใหม่เพียงประมาณ 14% เท่านั้นสะท้อนชัดเจนว่าภาคบริการไทยยังคงตามหลังประเทศพัฒนาแล้วอยู่มาก

KKP Research ประเมินว่าลักษณะของภาคบริการในประเทศพัฒนาแล้วที่เป็นบริการสมัยใหม่ (Modern Services) สร้างโอกาสสำคัญให้กับการเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวมจากลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ

1) ภาคบริการสมัยใหม่มีลักษณะที่สามารถช่วยส่งเสริมศักยภาพของภาคอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น ทำให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถพัฒนานวัตกรรมได้อย่างเต็มที่ เมื่อพิจารณามูลค่าเพิ่มของสินค้าส่งออกที่เกิดจากภาคบริการพบว่าประเทศพัฒนาแล้วพึ่งพาภาคบริการในประเทศเป็นหลักเกินกว่า 80% ของบริการทั้งหมดในขณะทีไทยพึ่งพาบริการในประเทศเพียงประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าทั้งหมดเท่านั้น

2) ภาคบริการสมัยใหม่สามารถเพิ่มขนาดตลาด (scalable) ผ่านการหารายได้จากการค้ากับต่างประเทศ (Tradeable) ได้ โดยในช่วงที่ผ่านมาการเติบโตและมูลค่าของการค้าบริการสูงกว่าการค้าสินค้าปกติ สะท้อนโอกาสจากการเติบโตในภาคบริการที่ยังมีอยู่สูง

3) เทคโนโลยีใหม่มีส่วนสำคัญในการช่วยเพิ่มโอกาสการขยายตัวและประสิทธิภาพของภาคบริการในอนาคต (Innovation) โดยเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาจะให้ประโยชน์มากกว่ากว่ากับกลุ่มบริการแบบใหม่ (Modern Services) โดยสามารถทำการค้าระหว่างประเทศได้ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น ผ่านรูปแบบของ Online Outsourcing ในขณะที่บริการแบบเก่าได้ประโยชน์น้อยกว่าเนื่องจากเป็นกลุ่มบริการที่ต้องเจอหน้ากันโดยตรง เช่น การค้า การท่องเที่ยว

ลักษณะของภาคบริการสมัยใหม่อาจเป็นแรงส่งสำคัญที่ทำให้ภาคบริการสามารถทำหน้าที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจโดยตรงโดยไม่จำเป็นต้องพัฒนาภาคการผลิตมาก่อนตามความเชื่อแบบเก่า ซึ่งเป็นข้อมูลที่สะท้อนว่าในระยะต่อไปประเทศไทยควรต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาภาคบริการเพิ่มเติมจากภาคอุตสาหกรรมเช่นกัน

การพัฒนาภาคบริการไทยยังเผชิญอุปสรรคมหาศาล
ภาคบริการในแต่ละกลุ่มมีโอกาสในการเติบโตและต้องการปัจจัยสนับสนุนที่แตกต่างกัน KKP Research ประเมินว่าในภาพรวมการพัฒนาภาคบริการไทยจะเจอความท้าทายมหาศาลแต่ยังมีโอกาสในบริการบางกลุ่มอยู่บ้าง ได้แก่

1) ภาคบริการสมัยใหม่ (Modern Services) มีโอกาสเติบโตจากการยกระดับสู่เศรษฐกิจดิจิทัล แต่ไทยขาดการลงทุนด้าน R&D และนวัตกรรม และแรงงานมีฝีมือซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนา ทำให้ในระยะสั้นประเทศไทยจะไม่มีศักยภาพมากพอในการพัฒนาไปสู่ Modern Services และเป็นศูนย์กลางบริการของโลกได้
2) ภาคการเงินมีโอกาสเติบโตจากความเชื่อมโยงของภาคการเงินระหว่างประเทศที่มากขึ้น แต่ไทยยังมีอุปสรรคด้านกฎระเบียบและข้อจำกัดในระบบการเงิน โอกาสในการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาค (Financial Center) ในไทยจึงมีความท้าทายสูง
3) อุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานทักษะต่ำ (Low-Skilled Labor) เช่น การท่องเที่ยว การค้าปลีกค้าส่ง ยังเติบโตได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติแต่ในระยะยาวต้องเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น ภาคบริการในกลุ่มนี้ของไทยมีโอกาสเติบโตได้แต่ต้องหันไปพึ่งพาปัจจัยด้านคุณภาพมากขึ้น เช่น พัฒนาการท่องเที่ยวให้เป็นการท่องเที่ยวมูลค่าสูงรวมทั้งพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการท่องเที่ยวและการค้า
4) บริการที่เน้นแรงงานทักษะสูงมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องโดยเฉพาะแนวโน้มความต้องการดูแลสุขภาพและการเข้าสู่สังคมสูงอายุ แต่ไทยยังการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะเฉพาะทางและเทคโนโลยีด้านการสื่อสารขั้นสูง บริการสุขภาพของไทยมีศักยภาพในการเติบโตผ่านการสนับสนุนท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ แต่ต้องเร่งดำเนินการในหลายเรื่อง คือ 1) เพิ่มจำนวนแรงงานเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 2) การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและโทรคมนาคม

นโยบายภาครัฐ ปัจจัยสำคัญเพื่อขับเคลื่อนภาคบริการ
แม้ภาคบริการอื่น ๆ ของไทยนอกเหนือจากการท่องเที่ยวในปัจจุบันจะยังเผชิญกับอุปสรรคจำนวนมาก การพัฒนาภาคบริการให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น มีมูลค่าเพิ่มที่สูง และผนวกเข้าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจจะเป็นประโยชน์ในระยะยาวต่อเศรษฐกิจไทยในหลายมิติ ทั้งในแง่ของการช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมในทางอ้อม ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจไทยในมิติของการกระจายความเสี่ยงและลดการพึ่งพาการส่งออกในยุคของ De-Globalization และสร้างโอกาสให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาจากลักษณะของภาคบริการที่พึ่งพาแรงงานเป็นหลัก

KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร สรุปภาพรวมว่าเพื่อให้ประเทศไทยได้ประโยชน์และสามารถพัฒนาภาคบริการได้อย่างเต็มที่ในระยะต่อไป จำเป็นต้องดำเนินนโยบายในอย่างน้อย 4 เรื่องหลัก 1) การปฏิรูปกฎระเบียบ เพิ่มการแข่งขันในภาคบริการ 2) การปฏิรูปและปรับปรุงระบบการศึกษาและการพัฒนาทักษะแรงงาน การพัฒนาภาคบริการจะเกิดขึ้นได้จากแรงงานที่มีทักษะสูงซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของภาคบริการซึ่งต่างจากภาคอุตสาหกรรม 3) การลดการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศของภาคบริการ ภาคบริการยังถือเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่ได้รับการปกป้องมากที่สุดของไทย การเปิดเสรีจะช่วยให้การพัฒนาภาคบริการเกิดเร็วขึ้น และ 4) เพิ่มความแข็งแกร่งให้กับตลาดแรงงานและตลาดทุน โดยเปิดให้มีการแข่งขันในตลาดแรงงานและตลาดทุนอย่างเสรีจะช่วยส่งเสริมให้เกิดแรงจูงใจในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในกลุ่มผู้ประกอบการในภาคบริการ

การพัฒนาภาคบริการในระยะยาวจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูง และการวางแผนนโยบายเศรษฐกิจระยะยาวจำเป็นต้องพิจารณาโอกาสของภาคบริการในการเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพิ่มไปด้วย การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้หรือการพัฒนาบริการเชิงสร้างสรรค์จะเป็นอีกหนึ่งทางออกของไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ