ก.ล.ต. เปิดเผยผลการจัดงาน The 1st SEC Thailand International Digital Asset Webinar

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 9, 2021 16:29 —ThaiPR.net

ก.ล.ต. เปิดเผยผลการจัดงาน The 1st SEC Thailand International Digital Asset Webinar

ก.ล.ต. เปิดเผยความสำเร็จการจัดงาน The 1st SEC Thailand International Digital Asset Webinar มีผู้แทนจากหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนในเอเชียแปซิฟิก กลุ่ม IOSCO ICO Network and FinTech Network หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินในประเทศไทย ผู้ประกอบธุรกิจและผู้สนใจ รับชมผ่านช่องทางต่าง ๆ รวมกว่า 3,000 คน โดย Ms. Hester Peirce กรรมการ ก.ล.ต. สหรัฐอเมริกา ให้ความเห็นว่า หน่วยงานกำกับดูแลต้องสร้างสมดุลระหว่างการคุ้มครองผู้ลงทุนและการสนับสนุนนวัตกรรมหรือพัฒนาการใหม่ ๆ ของตลาด ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของ ก.ล.ต.

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ "The 1st SEC Thailand International Digital Asset Webinar" ภายใต้แนวคิด "Policy Implication for Digital Asset Regulation : A Peak at Global Movement" เพื่อเป็นเวทีในการรับฟัง เรียนรู้มุมมองและความคิดเห็นเกี่ยวกับการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลจากหน่วยงานกำกับดูแล นักวิชาการ ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลจากต่างประเทศ เมื่อวันที่ 1-2 พฤศจิกายน 2564 นั้น มีผู้แทนจากหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนในประเทศกลุ่มเอเชียแปซิฟิก (IOSCO Asia-Pacific Regional Committee) หน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนในกลุ่ม IOSCO ICO Network and FinTech Network หน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินในประเทศไทย รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจและผู้สนใจ ร่วมรับชมผ่านระบบออนไลน์และการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กเพจ "สำนักงาน กลต." รวมกว่า 3,000 คน

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวในการเปิดงานว่า "ที่ผ่านมาตลาดการเงินทั่วโลกมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเทคโนโลยี Distributed Ledger Technology (DLT) และพัฒนาการเกี่ยวกับการให้บริการทางการเงินแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Finance: DeFi) เป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญของหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก ดังนั้น หน่วยงานกำกับดูแลต้องพิจารณากรอบการกำกับดูแลให้สอดคล้องกับพัฒนาการของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล และให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง

"แม้ว่าเทคโนโลยีและตลาดทุนจะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ก.ล.ต. ยังยึดมั่นภารกิจในการคุ้มครองผู้ลงทุน โดยเน้นการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการให้ความรู้ทางการเงิน การรักษาความน่าเชื่อถือของตลาดทุน และการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ก.ล.ต. ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างความสมดุลระหว่างการกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุน และการสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรม ดังนั้นจึงได้ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อภาคธุรกิจในการพัฒนานวัตกรรมและเติบโตได้อย่างยั่งยืน" เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าว

Ms. Hester Peirce กรรมการ ก.ล.ต. สหรัฐฯ (U.S. SEC Commissioner) กล่าวถึงนโยบายการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลในสหรัฐฯ ว่า การกำกับดูแลตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลมีความท้าทายและยากกว่าการกำกับดูแลอื่น โดยเฉพาะเรื่องการพิจารณาความสมดุลระหว่างระดับการกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนได้อย่างเหมาะสม และการสนับสนุนนวัตกรรมหรือพัฒนาการใหม่ ๆ ของตลาด ซึ่งจำเป็นต้องมีการกำหนดกฎหมายและกฎเกณฑ์ให้มีความชัดเจนและเหมาะสม ในขณะเดียวกันกฎหมายและกฎเกณฑ์ควรมีความยืดหยุ่นเพียงพอเพื่อรองรับพัฒนาการของตลาดในอนาคตด้วย ดังนั้น ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรียนรู้และรับฟังผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการสื่อสารและให้ความรู้กับสาธารณชน เพื่อให้เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ ขอบเขต และแนวทางของหน่วยงานกำกับดูแลในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล และสามารถเดินไปในทิศทางเดียวกันได้

"เห็นด้วยกับ เลขาธิการ ก.ล.ต. ว่าปัจจัยสำคัญที่หน่วยงานกำกับดูแลต้องพิจารณาในการวางกรอบกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล คือ การสร้างสมดุลระหว่างการคุ้มครองผู้ลงทุนและการสนับสนุนนวัตกรรมหรือพัฒนาการใหม่ ๆ ของตลาด ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจำเป็นต้องมีกรอบกติกาที่มีความชัดเจน รวมถึงมีการสื่อสารแนวปฏิบัติต่อผู้ประกอบธุรกิจ พร้อมให้ความรู้กับผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ ความรับผิดชอบ และสามารถเดินไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน" กรรมการ ก.ล.ต. สหรัฐฯ กล่าว

ศาสตราจารย์ Douglas Arner อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง ให้มุมมองเกี่ยวกับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการกำกับดูแลอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลว่า นับแต่วิกฤตการเงินในปี 2008 จนถึงปัจจุบัน มีการสร้างนวัตกรรมทางการเงินเกิดขึ้นมากมาย รวมถึงการให้บริการทางการเงินในรูปแบบกระจายศูนย์ และสินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลอาจมีข้อกังวลในเรื่องเสถียรภาพของระบบการเงิน ความเสี่ยงเชิงระบบต่อตลาดการเงิน รวมถึงความไม่เป็นธรรมในตลาดและการเอาเปรียบประชาชน

สำหรับการกำกับดูแลตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานกำกับดูแลควรคำนึงถึงความสมดุลระหว่างความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องและโอกาสจากการส่งเสริมด้านเทคโนโลยี รวมถึงควรติดตามพัฒนาการของตลาดอย่างใกล้ชิดเพื่อให้สามารถวางแนวทางการกำกับดูแลได้อย่างเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ ในการวางกรอบกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ควรคำนึงถึงลักษณะของการทำธุรกรรม (activity-based approach) เนื่องจากแต่ละกิจกรรมจะมีลักษณะการใช้งานและความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป

นอกจากนี้ ในเสวนาหัวข้อ "Opportunities, Challenges and Barriers of digital asset businesses" ซึ่งมี Mr. Chia Hock Lai ประธาน (ร่วม) สมาคมบล็อกเชนสิงค์โปร์ (Blockchain Association Singapore) Mr. Ian Taylor ผู้อำนวยการสมาคมผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสหราชอาณาจักร (CryptoUK) Mr. HaeBoong Lee หัวหน้าศูนย์คุ้มครองผู้ลงทุนด้านสินทรัพย์ดิจิทัล Upbit Korea Dr. Manuel Meyer และ Mr. Christopher Murrer ที่ปรึกษากฎหมาย Baker McKenzie Zurich ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาสและความท้าทายที่สำคัญของการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยให้ความเห็นว่า หน่วยงานกำกับดูแลในแต่ละประเทศมีท่าทีในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลที่แตกต่างกันออกไป เช่น สิงคโปร์มีการกำกับดูแลคริปโทเคอร์เรนซีภายใต้กฎหมายชำระเงิน โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจะต้องได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ เกาหลีใต้กำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลตามกรอบแนวคิดแบบ Risk-Based Approach ซึ่งผู้ให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องได้รับการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจและปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยเรื่อง Virtual Asset และ Virtual Asset Service Provider และอังกฤษจะมีการออกกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลการโฆษณาสินทรัพย์ดิจิทัล และการใช้งาน stable coin โดยให้ความสำคัญกับการปกป้องผู้ลงทุนจากถูกหลอกลวงในรูปแบบต่าง ๆ

นอกจากนี้ ผู้ร่วมเสวนาได้ให้ความเห็นร่วมกันว่า ควรใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ และหน่วยงานกำกับดูแลควรกำหนดหลักเกณฑ์ที่มีความชัดเจน เข้าใจง่าย โดยหลักเกณฑ์ควรมีความทัดเทียมกับการกำกับดูแลสินทรัพย์ที่มีลักณะคล้ายคลึงกัน เช่น หากมีลักษณะคล้ายการลงทุนก็ควรกำกับให้เป็นหลักทรัพย์ เป็นต้น และสามารถคุ้มครองประชาชนทุกภาคส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียม

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถรับชมงานสัมมนาย้อนหลังได้ที่ Facebook "สำนักงาน กลต." โดยในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 คลิกลิงก์ https://fb.watch/8-HB8R2hLW/ และในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2564 คลิกลิงก์ https://fb.watch/90QeYFYNAq/ รวมทั้งอ่านสรุปการให้สัมภาษณ์สดของ Ms. Peirce การบรรยายของ ศาสตราจารย์ Arner และความเห็นของผู้ร่วมเสวนาได้ที่ https://www.sec.or.th/TH/Documents/Seminars/webinar-nov2021-sum.pdf


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ