ชลิต อินดัสทรีฯ-มจธ.ต่อยอด "ชลิต อินดัสทรี อวอร์ด" ปี2 มอบรางวัลโครงงานวิจัยดีเด่นด้านอุตสาหกรรมยานยนต์

ข่าวทั่วไป Tuesday November 16, 2021 13:04 —ThaiPR.net

ชลิต อินดัสทรีฯ-มจธ.ต่อยอด

เพื่อต่อยอดและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาให้กับเยาวชนไทย ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและประเทศชาติ บริษัท ชลิต อินดัสทรี จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชิ้นส่วนประกอบรถยนต์และอะไหล่ยาง ภายใต้แบรนด์ "POP" ได้จัดโครงการ "ชลิต อินดัสทรี อวอร์ด 2021" (Chalit Industry Award 2021)" ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยความร่วมมือของภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีบทบาทโดดเด่นด้านการวิจัย พัฒนาและเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมะกับสมกับทางเศรษฐกิจและสังคมไทย

โดยเมื่อเร็วๆนี้ได้มีการนำเสนอผลงานดีเด่นผ่านทางออนไลน์โดยมี ผศ.นิธิ บุรณจันทร์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เป็นประธานในที่ประชุม และได้จัดพิธีมอบมอบรางวัลวิจัยดีเด่นโครงการ "ชลิต อินดัสทรี อวอร์ด 2021" ปี 2 ให้กับน้องๆนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ฯ ที่มีผลงานโครงงานปริญญานิพนธ์ดีเด่นด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ประจำปี 2564 โดยมี นายชวิศ ยงเห็นเจริญ กรรมการผู้จัดการ และ นางสาววิมลลักษณ์ ยงเห็นเจริญ กรรมการ บริษัท ชลิต อินดัสทรี จำกัด เป็นผู้มอบรางวัล ร่วมด้วย รศ.ดร.บวรโชค ผู้พัฒน์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและบริการวิศวกรรมการเชื่อมฯ และคณาจารย์ จากภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ฯ มจธ. ร่วมแสดงความยินดี ณ ห้องประชุม คณะวิศวกรรมศาสตร์ฯ มจธ.

โครงงานปริญญานิพนธ์ดีเด่นด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ประจำปี 2564 ที่ได้รับรางวัล ชลิต อินดัสทรี อวอร์ด 2021 ปี 2 ประกอบด้วย 4 โครงงานปริญญานิพนธ์ดีเด่นด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ ทางด้านต่างๆ ได้แก่

          1. Advanced manufacturing technology for future automotive industries หัวข้อ "ศึกษากลไกการทำความสะอาดผิวออกไซด์ของวัสดุอะลูมิเนียมโดยการใช้กระบวนการเชื่อมแบบผสมระหว่าง GTAW และ GMAW" โดย นางสาวศศิวิมล แป้นโพธิ์, นายสุวัฒน์ เจริญวิทยะกุล และนางสาวธันยธรณ์ แก้วประดับ

          2. Autonomous Vehicle; การศึกษาระบบอัตโนมัติของรถตักดินขนาดจำลอง โดย นายธนกฤต เลิศคัมภีร์ศีล, นายภควัชร์ คันธภูมิ และนายศิวกร บุญฉัตรสุริยา

          3.Advanced material for Future Automotive industries; ศึกษาโครงสร้างทางจุลภาคและสมบัติทางกลของอะลูมิเนียมคอมโพสิต AA4032/ZrB2 ที่เตรียมด้วยกระบวนการอัลตราโซนิค โดยนายนันทวัฒน์ วงพล, นายวริศ วรรณงาม และนางสาวเพชรรัตน์ ตั้งพงศ์บัณฑิต

          4.Advanced Inspection Technology: ศึกษาการพัฒนาระบบตรวจสอบโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงแบบ Immersion C- Scan โดยนายภาธร ชื่นชูจิตต์, นายภูรินท์ จันทรวรเมท, นายพงศ์ธาริน ชูทวด และนายญาณเดช พรอ่ำพูล

นายสุวัฒน์ เจริญวิทยะกุล ตัวแทนกลุ่มโครงงานดีเด่น เรื่อง "การศึกษากลไกการทำความสะอาดผิวออกไซด์ของวัสดุอะลูมิเนียมโดยใช้กระบวนการเชื่อมแบบผสมผสานระหว่าง GTAW และ GMAW" กล่าวว่า เป็นการพัฒนาการเชื่อมอลูมิเนียมสมัยใหม่ หรือที่เรียกว่าการเชื่อมแบบ Hybrid ที่ยังไม่เคยมีการนำมาใช้ในปัจจุบัน การเชื่อมแบบ Hybrid นี้จะทำให้แนวเชื่อมอลูมิเนียมแข็งแรงมากขึ้น เพราะสามารถไปลดรูพรุนในแนวเชื่อมได้จริง จึงสามารถนำงานวิจัยนี้ไปประยุกต์ใช้ได้กับอุตสาหกรรม เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีการนำวัสดุอลูมิเนียมมาเป็นโครงสร้างหลัก รู้สึกดีใจมากที่ผลงานนี้ได้รับรางวัล Chalit Industry Award 2021 และอยากให้ มีการนำงานวิจัยนี้ไปต่อยอดให้กับคนรุ่นใหม่ได้ในอนาคต ต้องขอบคุณบริษัท ชลิต อินดัสทรี จำกัด เป็นอย่างมากที่ได้จัดโครงการนี้ขึ้นมาครับ

น.ส.เพชรรัตน์ ตั้งพงศ์บัณฑิต ตัวแทนกลุ่มโครงงานดีเด่น เรื่อง "โครงสร้างทางจุลภาคและสมบัติทางกลของอะลูมิเนียมคอมโพสิต AA4032/ZrB2 ที่เตรียมด้วยกระบวนการอัลตราโซนิค" กล่าวว่า การศึกษานี้จะเป็นการนำเอาอะลูมิเนียมAA4032ที่มีใช้อยู่อย่างแพร่หลายมาปรับปรุงโดยการเติมอนุภาคนาโนเซรามิกZrB2และนำไปผ่านกระบวนการอัลตราโซนิค เพื่อให้มีสมบัติที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะในด้านของโครงสร้างทางจุลภาคและในด้านของสมบัติทางกล ซึ่งพวกเราทุกคนในทีมทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจในการทำปริญญานิพนธ์นี้ การได้รับรางวัล Chalit Industry Award 2021 ถือเป็นเกียรติและเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานในอนาคตอย่างยิ่ง ขอขอบคุณบริษัท ชลิต อินดัสทรี จำกัด ที่จัดตั้งโครงการดีๆแบบนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางบริษัทจะส่งเสริมการศึกษาของเยาวชนไทยเฉกเช่นนี้ต่อไปค่ะ

นายภควัชร์ คันธภูมิ ตัวแทนกลุ่ม โครงงานดีเด่นหัวข้อ "การศึกษาระบบอัตโนมัติของรถดักดินขนาดจำลอง" กล่าวว่า รถตักดินขนาดจำลองที่ใช้งานได้จริง โดยมีการปรับแต่งระบบบางอย่างให้เข้ากับขนาดของรถ ประกอบกับพิจารณาสภาพแวดล้อมในการตักดิน เพื่อนำมาสร้างเป็นระบบอัตโนมัติ หน้าที่ของผู้ใช้จะมีการป้อนขนาดมิติของบ่อที่ต้องการขุด และระบบที่เราออกแบบจะคำนวณท่าทางการขุดให้จนได้บ่อที่ต้องการครับ ต้องขอขอบคุณทางบจก. ชลิตอินดัสทรี ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของโปรเจกนักศึกษา ขอบคุณอาจารย์ที่ปรึกษาที่ให้คำแนะนำที่ดีเสมอมาครับ สุดท้ายจะขอบคุณตนเองและเพื่อนนักศึกษาที่ตั้งใจทำโปรเจกจนประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงจนมีคนสนใจและมอบรางวัลนี้ให้ครับ

บริษัท ชลิต อินดัสทรี จำกัด เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ให้ความสำคัญกับกิจกรรมเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการศึกษา เพื่อสร้างกำลังใจและเพิ่มโอกาสใหม่ๆให้กับน้องๆเยาวชนได้แสดงออกความสามารถและนำองค์ความรู้ไปต่อยอดต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ