Soft Power ปลุกเศรษฐกิจไทยด้วยพลังซีรีส์วาย

ข่าวบันเทิง Tuesday November 16, 2021 17:30 —ThaiPR.net

Soft Power ปลุกเศรษฐกิจไทยด้วยพลังซีรีส์วาย

Soft Power ปลุกเศรษฐกิจไทยด้วยพลังซีรีส์วาย

ปรากฎการณ์ ซีรีส์วาย (Y) หรือ ซีรีส์ Boy's Love ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซีรีส์ไทยมาตลอด 2- 3 ปีทีผ่านมาโดยได้ขยายวงกว้างมากขึ้น พัฒนาจากคอนเทนต์เฉพาะกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงานจนกลายเป็นกระแสหลัก จนก่อให้เกิดวัฒนธรรมแบบใหม่ที่เรียกว่า Y Economy ทั้งยังสร้างส่งออกความจิ้นไปยังตลาดต่างประเทศ ทำให้สามารถสร้างรายได้อย่างมหาศาลทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

จุดเริ่มต้นวัฒนธรรมวาย

โดยจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมวาย(Y culture) มาจากคำว่า "YAOI" มาจากการ์ตูนหรือนิยาย Boy's Love ของประเทศญี่ปุ่น โดยวัฒนธรรมวายของไทย ในประเทศไทยเริ่มมีกระแสมาจากเรื่อง Lovesick the series ที่ปลุกกระแสในโลกทวิตเตอร์ และดังไกลถึงประเทศจีน เช่นเดียวกับซีรีส์ เพราะเราคู่กัน "2gether the series" ที่มากวาดหัวใจแม่จีน หรือแฟนคลับชาวจีนที่ส่งให้แฮชแท็ก #คั่นกู ทะยานขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ไทยและทั่วโลก หรือแม้กระทั่งเรื่อง "แปรรักฉันด้วยใจเธอ" ที่ไม่เพียงทำให้เราหลงเสน่ห์ตัวละครอย่าง "เต๋และโอ้เอ๋ว" แต่ยังทำให้เราตกหลุมรักเมืองภูเก็ตอย่างไม่รู้ตัว จนเกิดกระแสท่องเที่ยวตามรอยซีรีส์ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของวัฒนธรรมวายที่จะเติบโตและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ในหลายรูปแบบ

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA กล่าวว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซีรีส์ ดนตรี ศิลปะ หนังสือหรือแม้กระทั่งแฟชั่น ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญถือเป็นหนึ่งในพลัง "Soft Power" ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาคนทั่วโลกรู้จักประเทศไทยผ่าน การท่องเที่ยว อาหารไทย และแพทย์แผนไทย ขณะที่คลื่นพลัง Soft Power ไทยที่กำลังมาแรงในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี มาจากซีรีส์ประเภท BoysLove หรือซีรีส์วาย (Y) ที่ได้พัฒนาก้าวกระโดดเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย อาทิ เพราะเราคู่กัน 2gether The Series, Sotus The Series, En of Love ซึ่งกลายเป็นๆจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้คอนเทนต์ ของประเทศไทยเป็นที่รู้จักในระดับเอเชีย จึงเป็นที่มาของการนำเสนอศักยภาพของกลุ่มคอนเทนต์และสื่อสร้างสรรค์ ผ่านบริบทของการพัฒนาซีรีส์วายในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมร่วมมือและยกระดับการผลิตคอนเทนต์ให้ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นตัวของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้ดำเนินต่อไปได้

ไทยขึ้นแท่นผู้นำคอนเทนวายระดับโลก

โดยปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการผลิตคอนเทนต์ซีรีส์วายระดับโลก และถือเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย โดยซีรีส์วายของประเทศไทยได้รับความนิยมมากในไต้หวัน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงประเทศในลาตินอเมริกา โดยพบว่ามีมูลค่าตลาดรวมไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ตอกย้ำให้เห็นถึงคุณภาพและความเป็นผู้นำด้านการผลิตคอนเทนต์เพื่อความบันเทิงที่มีศักยภาพของประเทศไทย ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) พบว่า จากการจัดงานเจรจาธุรกิจผ่านระบบออนไลน์เมื่อเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมามีประเทศที่ให้ความสนใจซื้อคอนเทนต์วายมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเวียดนามและสามารถทำรายได้สูงถึง 360 ล้านบาท

ขณะที่มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ปี 2561 ในสาขาภาพยนตร์ พบว่ามีมูลค่ากว่า 2,421 ล้านบาท และสาขาแพร่ภาพและกระจายเสียง(ซีรีส์-ภาพยนตร์) มูลค่าสูงถึง 32,838 ล้านบาท ซึ่งอุตสาหกรรมการแพร่ภาพและกระจายเสียง ที่อยู่ภายใต้กลุ่มคอนเทนต์และสื่อสร้างสรรค์มีการเติบโตสูงสุดในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ยุคสัญญาณโทรทัศน์ดิจิทัล แต่เมื่อเกิดการพัฒนาความเร็วของอินเตอร์เนท และความนิยมในการใช้โทรศัพท์มือถือที่นำมาสู่การพัฒนา OTT หรือ Over-The-Top TV ซึ่งเป็นรูปแบบการรับชมคอนเทนต์ต่าง ๆ ผ่าน application เช่น Youtube, LINE TV หรือต่อยอดไปสู่ธุรกิจ Streaming ได้แก่ Netflix, VIU, iQiYi, We TV เป็นต้น จึงทำให้ผู้บริโภคสามารถรับชมคอนเทนต์ที่หลากหลายทั่วโลก ทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้มีความรุนแรงและท้าทาย จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามพฤติกรรมผู้บริโภคและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ดังนั้น การปรับตัวโดยเฉพาะการพัฒนาคอนเทนต์จึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้อุตสาหกรรมของไทยสามารถแข่งขันในตลาดนี้ได้

อย่างไรก็ดี Line Thailand ซึ่งเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่เป็นแหล่งรวมของซีรีส์วายของเมืองไทย โดยทีม Line Insights ได้มีการรวบรวมสถิติเรื่อง "Y Economy" พบว่า ปี 2563 ฐานคนดูซีรีส์วายบน Line TV เพิ่มขึ้น 328% หรือกว่า 3 เท่าตัว โดยกลุ่มคนดูหลัก ช่วงอายุ 18-24 ปี รองลงมา อายุ 25- 34 ปี โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้หญิง และกลุ่มที่น่าสนใจคือ กลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าจับตามองว่าคนส่วนใหญ่คิดว่าคนดูซีรีส์วายจะจำกัดเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด19 ที่ผ่านมา ทำให้พฤติกรรมคนรุ่นใหม่ได้มีการปรับเปลี่ยนจากการชมคนเดียวผ่านสมาร์ทโฟน มาเป็นการรับชมผ่าน Smart TV ร่วมกับครอบครัวมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดการขยายฐานผู้ชมไปยังกลุ่มผู้สูงวัยมากขึ้น โดยกลุ่มผู้ชมมีรายได้เฉลี่ยระดับ A หรือรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนประมาณ 80,000 บาท/เดือน สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคไม่ได้จำกัดแค่เพศ-วัย แต่ยังกระจายตัวในทุกช่วงอายุและมีรายได้สูง รวมทั้งยังมีพฤติกรรมที่ยินดีในการซัพพอร์ตแบรนด์สินค้าต่างๆที่ปรากฏในซีรีส์อีกด้วย

แนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรม

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางส่งเสริมอุตสาหกรรมซีรีส์วาย CEA ได้จัดทำสารคดีและบันเทิง หรือ Series Y Documentary ร่วมกับภาคเอกชนตัวจริงในวงการซีรีส์วาย ภายใต้กิจกรรม Creative Industries 2021เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและแนวคิดสร้างสรรค์จากคอนเทนต์ของไทย โดยได้เจาะลึกทุกขั้นตอน ผ่านมุมมองของผู้สร้าง ตั้งแต่ขั้นตอนการคิดเนื้อหา เตรียมการสร้างเตรียมงาน (pre-production) การถ่ายทำซีรีส์ (production) และการประชาสัมพันธ์ (post-production) ที่การพัฒนาต่อยอดไปเป็นอีเวนท์ หรือกระแสตอบรับจากหลาย ๆ ประเทศ

พร้อมร่วมกับ JustดูIt ในการจัดทำสารคดีเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ได้แก่ สารคดีสั้นไขเคล็ดลับความสำเร็จซีรีส์ "แปลรักฉันด้วยใจเธอ" ของผู้กำกับ บอส นฤเบศ กูโน และผู้กำกับภาพ ตั้ง ตะวันวาด วนวิทย์ (TangBadVoice) ทีมผู้สร้างสรรค์ จนกลายเป็นป๊อปคัลเจอร์การท่องเที่ยวของภูเก็ต และ สารคดีสั้นทำหนังไทยไปไกลระดับโลก เบื้องหลังความสำเร็จ "บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ " ผู้กำกับไทยมาแรงแห่งยุคจาก "ฉลาดเกมส์โกง" โกอินเตอร์ทำหนังร่วมกับ "หว่องกาไว" กับ One for the Road ผลงานเจ้าของรางวัลใหญ่จาก Sundance Film Festival 2021 พร้อมก้าวต่อไปของเขาคือการทำหนังระดับ Hollywood และสารคดีสั้น "กินตามหนัง" จนอาหารกลายเป็น "พลังสื่อ" ขับเคลื่อนวัฒนธรรม การสร้างชาติผ่านอาหารไทย ที่ไปไกลระดับโลก

ทั้งหมดนี้ คือ พลังซีรีส์วายที่จะนำเศรษฐกิจไทยไปไกลระดับโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ