ก่อนที่ความเจริญทางเทคโนโลยีจะทำให้เกิด Smart Devices ที่มากด้วยอุปกรณ์ และช่องทางการติดต่อสื่อสารที่ไร้ขีดจำกัดเช่นในปัจจุบัน เวลาเห็นเด็กเล็กๆ ส่งเสียงร้องไม่ยอมหยุด ส่วนใหญ่จะนึกว่าเด็กกำลังหิวนม เจ็บป่วย หรือหวาดกลัว แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นเพราะโดนพ่อแม่ห้ามไม่ให้เล่นโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต!
ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ เปรียบเหมือนเป็น "ปัจจัยที่ 5"โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค 5G เป็นไปได้ยากที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสะดวกสบายในสมัยนี้โดยไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟน หรือโทรศัพท์มือถือ ตลอดจนอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ ที่สามารถใช้เชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ต จนเชื่อกันว่ายิ่งมากด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยี ยิ่งหมายถึงโอกาสในชีวิตที่มากขึ้นเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับผู้ใช้ และการใช้พบเด็กยิ่งเล็กยิ่งเป็นอันตราย หากปล่อยให้โตไปกับ Smart Devices โดยปราศจากการควบคุม
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เป็นเรื่องเข้าใจผิดที่ว่า การให้เด็กเล็กได้เรียนรู้การใช้ Smart Devices กันในอายุยิ่งน้อยยิ่งดี ซึ่งเด็กเล็กที่ใช้ Smart Devices ได้อย่างคล่องแคล่ว ตั้งแต่ยังไม่สามารถพูด-เดินได้ ไม่ได้หมายความว่าเป็น "เด็กอัจฉริยะ" แต่ในทางกลับกันหากปล่อยลูกอยู่กับ Smart Devices โดยลำพัง อาจเสี่ยงต่อภาวะ "ออทิสติกเทียม" หรือลูกอาจมีปัญหาทางพัฒนาการได้
ซึ่งเด็กที่มีภาวะ "ออทิสติกเทียม" จะมีปัญหาเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์ และการสื่อสารกับมนุษย์ด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยที่ต้องหัดพูด เด็กจะไม่สามารถสื่อสารได้อย่างเป็นธรรมชาติ พูดโดยไม่สบตา และอาจมีปัญหาสายตาจากการ ใช้ Smart Devices ที่มากจนเกินไป โดยปัจจุบันกลายเป็นอุบัติการณ์ที่มากขึ้นจนน่าเป็นห่วง ทางออกที่ดีที่สุดต้องเริ่มจากการเปลี่ยนทัศนคติของพ่อแม่ รวมทั้งควรเรียกร้องให้ผู้ผลิต และผู้ประกอบการระบบสื่อสารแสดงความรับผิดชอบด้วยการติดประกาศคำเตือนบนอุปกรณ์ และตั้งเรทอายุผู้ใช้
มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งปณิธานสู่การเป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาดังกล่าว โดยเมื่อเร็วๆ นี้ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำ "คู่มือจัดการปัญหาเด็กปฐมวัยติดสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต" ผลงานโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาภรณ์ คำเรืองฤทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการประกอบการเชิงนิเวศวัฒนธรรม โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล และทีมวิจัยโดยได้รับสนับสนุนทุนจาก กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
คู่มือฯ ได้แนะนำให้พ่อแม่ในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ลองนำคู่มือไปใช้เป็นแนวทางในการดูแลลูกน้อย ซึ่งจากการวิจัยพบว่าช่วงระยะเวลาการใช้ Smart Devices ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเด็กเล็ก คือ วันละไม่เกินครึ่งชั่วโมง ในขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบไม่ควรใช้ Smart Devices เป็นอย่างยิ่ง
โดยในการทดสอบได้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มเพื่อเปรียบเทียบผลวิจัย ระหว่างกลุ่มพ่อแม่ในชุมชนที่ใช้คู่มือ และไม่ได้ใช้คู่มือ พบความแตกต่างอย่างชัดเจน ซึ่งในกลุ่มที่ได้ใช้คู่มือพบว่าลูกมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพัฒนาการทางอารมณ์ พบว่าเด็กแสดงความฉุนเฉียวน้อยลง เมื่อถูกห้ามไม่ให้เล่นโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ตนานจนเกินกำหนด จากการได้ทำตามคู่มือที่แนะนำให้พ่อแม่ค่อยๆ จำกัดเวลาการเล่นโทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ตของลูก ลงจนให้อยู่ภายในระยะเวลาวันละไม่เกินครึ่งชั่วโมง แล้วลองพยายามหาสื่ออื่นๆ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจลูก เช่น นิทาน หรือสื่อเพื่อการเรียนรู้เสริมพัฒนาการอื่นๆ
"อุปสรรคสำคัญของการวิจัยอยู่ที่ "ความต่อเนื่อง" โดยพบว่าหากพ่อแม่เผลอปล่อยปละละเลย
ลูกก็จะกลับมามีอาการติด Smart Devices ได้เหมือนเดิมอีกโดยโครงการฯ ได้มองไปถึงผลระยะยาวที่จะขยายสู่เด็กๆในชุมชนเมื่อโตขึ้น เพื่อให้สามารถลดการ "เสพติดเทคโนโลยี" ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของเด็กโดยปกติต่อไปได้อย่างยั่งยืนร่วมด้วย" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.สุภาภรณ์ คำเรืองฤทธิ์ กล่าว
21 พฤศจิกายน 2564 เวลา 08.30 - 13.00 น. ขอเชิญหาคำตอบ "สื่อหน้าจอกับเด็กปฐมวัย แค่ไหนจึงจะดี" ได้ในเสวนาออนไลน์จัดโดย ศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้สนใจสามารถเข้าฟังได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ติดตามรายละเอียดได้ที่ FB: NICFD Mahidol
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210