กยท. ลงนาม mou ร่วมกับ RUBBERWAY PTE เปิดแอป "RUBBERWAY" วิเคราะห์ข้อมูลระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ยางธรรมชาติ บริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานยางประเทศไทย
การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ลงนามบันทึกข้อตกลงกับ RUBBERWAY PTE เปิดแอปพลิเคชั่น RUBBERWAY วิเคราะห์ความเสี่ยงห่วงโซ่อุปทานยาง ร่วมส่งเสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางทำสวนยางพาราอย่างยั่งยืนภายใต้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งลงพื้นที่ดูงาน จ.พังงา เพื่อดูกระบวนการแปรรูปยางแผ่นดิบคุณภาพดีเกรดพรีเมี่ยม ณ สหกรณ์กองทุนสวนยางบางวัน จำกัด และ การทำยางแผ่นดิบสั่งตัดของกลุ่มเกษตรกรทำสวนโคกกลอย ตลอดจน นำร่องสำรวจข้อมูลผ่านระบบแอปพลิเคชั่น RUBBERWAY กับเกษตรกรในพื้นที่
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การร่วมมือระหว่าง กยท. และ RUBBERWAY PTE เป็นการวางแนวทางในการพัฒนายางพาราสู่ความยั่งยืน ลดความเสี่ยงเรื่องผลผลิต รวมถึงการปรับปรุงการทำงานของเกษตรกรรายย่อยในประเทศไทย ให้ผลิตยางตามแนวทางที่เหมาะสมควบคู่ไปกับการตระหนักรู้ในเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นประเด็นระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ ในการกำกับดูแลการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในอุตสาหกรรมยางธรรมชาติ ตั้งแต่การปลูกยางพารา (ต้นน้ำ) ไปจนถึง โรงงานแปรรูปยางพารา (ปลายน้ำ) ก่อให้เกิดความยั่งยืนกับยางธรรมชาติทั้งห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งโครงการความร่วมมือนี้จะดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2564 - 2566 ผ่านระบบแอปพลิเคชัน "RUBBERWAY" ในการประเมินและจัดทำแผนที่บริหารจัดการความเสี่ยง
กยท. ให้การสนับสนุนบุคลากรในการลงสำรวจข้อมูลจากเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเชื่อมั่นว่าแอปพลิเคชัน RUBBERWAY จะเป็นเครื่องมือที่มีศักยภาพในการช่วยบริหารความเสี่ยงในเรื่องของห่วงโซ่อุปทานยาง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรชาวสวนยางในการผลิตยางพาราที่มีคุณภาพตรงตามความต้องการของผู้ซื้อ และช่วยพัฒนาให้กับเกษตรกรชาวสวนยางให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในขณะเดียวกันผู้ใช้ยางสามารถบริหารจัดการผลผลิต และตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มา ทำให้เกิดความเชื่อมั่นทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ยาง
Mr. Come de la Porte, Head of Operations, RUBBERWAY PTE กล่าวว่า อุตสาหกรรมยางธรรมชาติถูกจับตามองในเรื่องความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศและป้องกันการทำลายพื้นที่คุ้มครอง เช่น ป่าดิบชื้น และการรักษาพื้นที่ป่าคุ้มครองเหล่านี้จะส่งผลดีอย่างใหญ่หลวงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทรัพยากรของประเทศไทย ซึ่งการทำสวนยางยั่งยืนมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตยางพาราของ
ประเทศไทย ให้เป็นเครื่องหมายของคุณภาพและสินทรัพย์สำหรับการแข่งขันในเวทีระหว่างประเทศ
แอปพลิเคชั่น "RUBBERWAY" จะทำหน้าที่เป็นเครื่องมือที่ให้ความกระจ่างต่อความเสี่ยงทั้งหมดในห่วงโซ่อุปทานยางของประเทศไทย พร้อมเสนอแผนปฏิบัติการแก้ไขและจัดการกับความเสี่ยงที่ตรวจพบ เพื่อให้สามารถวิเคราะห์คุณภาพและปริมาณของผลผลิตมวลรวมของทั้งประเทศได้ ทำให้ผู้ซื้อเกิดความเชื่อมั่นและวางแผนการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ โครงการร่วมกันระหว่าง กยท. และ RUBBERWAY PTE ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุด 2 รายของโลก คือ มิชลิน และ คอนทิเน็นทัล ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุด 2 รายของโลก คือ มิชลิน และ คอนทิเนนทัล ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันในการประเมินความเสี่ยงทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมของห่วงโซ่อุปทานของยางพาราโดย RUBBERWAY มีความเชี่ยวชาญพิเศษในการพัฒนาโซลูชั่นทางเทคโนโลยีเพื่อสำรวจและจัดทำแผนที่ประเมินความเสี่ยง ด้านความยั่งยืนในระบบ Supply Chain ของอุตสาหกรรมยางธรรมชาติ
ความร่วมมือในการนำเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการข้อมูลระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ยางธรรมชาติ จะนำไปสู่ความยั่งยืนของอุตสาหกรรมยางธรรมชาติของประเทศไทย และที่สำคัญ ช่วยส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานกับผู้ส่วนเกี่ยวข้องทั้งระบบ โดยเฉพาะในเชิงสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืนเช่นกัน