บอร์ดดีอี เห็นชอบ (ร่าง) นโยบายการพัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐเพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (GPPC) ตั้งเป้าดึงหน่วยงานรัฐเข้าใช้งาน 200 แห่งใน 18 เดือน เตรียมขึ้นทะเบียนดิจิทัลสตาร์ทอัพไทย เปิดทางเข้าร่วมโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พร้อมไฟเขียวไปรษณีย์ไทย ปรับค่าบริการส่งจดหมายในประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี
วันนี้ (18 พ.ย. 64) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 3/2564 โดยมี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุม
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมวันนี้ ได้ให้ความเห็นชอบ (ร่าง) นโยบายการพัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐเพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Government Platform for PDPA Compliance : GPPC) เพื่อเป็นกรอบทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาแพลตฟอร์มฯ ช่วยสนับสนุนการดำเนินการด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลฯ เพื่อให้บริการหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ลดภาระด้านงบประมาณในภาพรวมของภาครัฐ รวมทั้ง สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลฯ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)
โดยกำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (1 ปี 6 เดือน) ดำเนินการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางฯ และส่งเสริมให้มีการใช้งานแพลตฟอร์มกลางฯ ไปยังหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 200 หน่วยงาน อบรมบุคลากร 2,000 คน และระยะที่ 2 ดำเนินการส่งเสริมให้เกิดการใช้งานแพลตฟอร์มฯ ในภาคเอกชน และทำการติดตามประเมินผลการใช้งานแพลตฟอร์ม
ในโอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวแสดงความยินดีกับโครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลฯ ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศระดับโลก "World Summit on the Information Society Prizes 2021" ของสหภาพโทรคมนาคมนานาชาติ หรือไอทียู (ITU) ดังนั้นต้องมุ่งพัฒนาเพื่อผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นฮับด้านดิจิทัลของอาเซียนต่อไป ควบคู่ไปกับการเร่งเพิ่มคุณภาพของโครงข่ายเน็ตประชารัฐอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สร้างประโยชน์ให้กับทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีการจัดทำ "บัญชีบริการดิจิทัล" เพื่อขึ้นทะเบียนบริการด้านดิจิทัลของ Digital Startup และผู้ประกอบการดิจิทัล (Digital Provider) ที่มีมาตรฐาน พร้อมผลักดันบัญชีบริการดิจิทัลเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้ดำเนินการขับเคลื่อนบัญชีบริการดิจิทัล ในภาคเอกชนและภาคประชาชน โดยผลักดันผ่านกลไกนโยบายภาครัฐ เช่น นโยบายภาษี เป็นต้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากผู้ประกอบการดิจิทัลไทยในวงกว้าง
"ก่อนหน้านี้ ดีป้า ในสังกัดกระทรวงดิจิทัลฯ ได้เสนอการจัดทำ "บัญชีบริการดิจิทัล" โดยดำเนินการร่วมกับกรมบัญชีกลาง ในการขอแก้ไขกฎกระทรวงการคลัง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563 ผ่านการขอเพิ่มเติมหมวดพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนอีก 1 หมวด ภายใต้ชื่อ "หมวด 9 พัสดุส่งเสริมและพัฒนาด้านดิจิทัล" ซึ่งผลิตภัณฑ์และบริการที่ขึ้นทะเบียนภายใต้บัญชีดังกล่าว จะได้รับการส่งเสริมตามกฎกระทรวงการคลังฯ ที่กำหนดให้เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน" นายชัยวุฒิกล่าว
นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวว่า ที่ประชุมได้มอบอำนาจให้กระทรวงดิจิทัลฯ พิจารณาการเสนอขอปรับอัตราค่าบริการไปรษณียภัณฑ์ในประเทศ ตามร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราไปรษณียากรและค่าธรรมเนียมอื่น พ.ศ...... โดยนับเป็นการขอปรับค่าบริการครั้งแรกในรอบกว่า 17 ปี ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) และมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลฯ เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราไปรษณียากรและค่าธรรมเนียมอื่น พ.ศ.....ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ การปรับค่าบริการดังกล่าวจะปรับเฉพาะบริการจดหมายในประเทศเท่านั้น โดยปรับอัตราค่าบริการเป็น 2 รอบ รอบแรกคงอัตราค่าบริการพิกัดแรกไว้ที่ 3 บาท เช่นเดิมเป็นระยะเวลา 3 ปี (2565-2567) และจะปรับอัตโนมัติในครั้งถัดไปตั้งแต่ปี 2568 โดยมีอัตราค่าบริการในพิกัดแรก 4 บาท และอัตราค่าบริการสูงสุด 62 บาท โดยประกาศให้มีผลบังคับใช้อัตราค่าบริการที่ปรับปรุงใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2565 เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันให้มีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับสภาวะต้นทุนการดำเนินงานที่เหมาะสม