สินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ หนุน GIT Standard เสริมแกร่ง อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 19, 2021 09:08 —ThaiPR.net

สินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ หนุน GIT Standard เสริมแกร่ง อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนา อัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT พร้อมรับทราบรายงานความคืบหน้าโครงการ การสร้างมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับ หรือ GIT Standard เพื่อยกระดับมาตรฐาน และการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยในเวทีโลก เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ณ อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ สีลม โดยมีคณะกรรมการสถาบันและนายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบัน ให้การต้อนรับ

นายสินิตย์ เปิดเผยว่า ในฐานะที่ GIT เป็นหน่วยงานหลักของชาติในการสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ซึ่งการผลักดันเรื่องมาตรฐานนั้น นับว่าเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยสถาบันได้จัดทำโครงการการสร้างมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับ หรือ GIT Standard ถือว่าเป็นผลงานสำคัญ เป็นส่วนช่วยยกระดับอุตสาหกรรม และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค โดย GIT Standard จะทำให้มาตรฐานการตรวจสอบและออกใบรับรองสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับโดยสถาบันต่างๆ ในประเทศไทยเป็นมาตรฐานเดียวกัน เทียบเท่ามาตรฐานสากล ปัจจุบัน GIT กำลังอยู่ระหว่างการผลักดันให้ห้องปฏิบัติการทุกแห่งในประเทศเข้าร่วมใช้ GIT Standard ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อ การส่งออก และช่วยเสริมภาพลักษณ์ของไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลกอีกด้วย

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบัน กล่าวว่า การเยี่ยมชมครั้งนี้ นอกจากรับทราบการดำเนินโครงการ GIT Standard แล้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังได้เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณีและโลหะมีค่า พร้อมฟังบรรยายกระบวนการ การตรวจสอบอัญมณีประเภทต่างๆ โดยนักอัญมณีศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งห้องปฏิบัติการของสถาบัน นับเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย ที่ได้รับการรับรอง ISO 17025: 2017 นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชม GIT TEMP Pop-Up Store จุดจำหน่ายสินค้าจากผู้ประกอบการภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในภูมิภาค ซึ่งถือเป็นการขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับชุมชนในแต่ละท้องถิ่นอีกด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่า สถาบันมีความพร้อมในทุกมิติที่จะส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย รวมถึงการเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลก

 


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ