175 ปี ZEISS ผู้นำแห่งเลนส์ระดับโลกสัญชาติเยอรมันจากผู้บุกเบิกกล้องจุลทรรศน์ สู่ผู้นำนวัตกรรมแห่งอนาคต

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 22, 2021 11:02 —ThaiPR.net

175 ปี ZEISS ผู้นำแห่งเลนส์ระดับโลกสัญชาติเยอรมันจากผู้บุกเบิกกล้องจุลทรรศน์ สู่ผู้นำนวัตกรรมแห่งอนาคต

หากเอ่ยถึงองค์กรที่ดำเนินธุรกิจมายาวนานต่อเนื่องหลักร้อยปี ต้องมีชื่อ "ไซส์ส (ZEISS)" ผู้นำอุตสาหกรรมเลนส์ระดับโลก สัญชาติเยอรมัน  ที่ประสบความสำเร็จข้ามศตวรรษมาถึง 175 ปี ด้วยศักยภาพความแข็งแกร่งทั้งด้านคุณภาพและเทคโนโลยีที่ก้าวไกล  เป็นที่ยอมรับจากหลากหลายสายงานด้านทัศนศาสตร์และออปโตอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก สะท้อวิสัยทัศน์ในการวางรากฐานทางวิทยาศาสตร์และความมุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมที่โดดเด่น โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของมนุษย์ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นพร้อมสร้างประโยชน์ให้กับสังคมอย่างยั่งยืน

จากจุดเริ่มต้น ณ ห้องปฏิบัติการเล็กๆ ในเมืองเยนา ประเทศเยอรมันนี ของวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1846 นายช่างหนุ่มชาวเยอรมัน ชื่อ (Carl Zeiss)  ได้ทดลองผลิตเครื่องกลและอุปกรณ์ทางจักษุวิทยา ที่นำไปสู่การก่อตั้งบริษัท ZEISS ในปี 1866 โดยจับมือกับ Ernst Abbe นักฟิสิกส์และนักคณิตศาสตร์ ร่วมกันยกระดับเป็นผู้ประกอบการชั้นนำด้านเทคโนโลยี นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ การพัฒนาวิทยาการที่หลากหลายทั้งด้านวิทยาศาสตร์ การแพทย์ อุตสาหกรรม จนประสบความสำเร็จระดับสากลจวบจนปัจจุบัน

เทคโนโลยีกล้องจุลทรรศน์ของ ZEISS นั้น มีชื่อเสียงก้องโลก ได้รับความไว้วางใจใช้เป็นเครื่องมือในการค้นคว้าวิจัยจากผู้ชนะรางวัลโนเบลหลายท่าน รวมถึง Robert Koch และ Christian Neusslein-Walhard ผู้ค้นพบวัณโรคและเป็นผู้วิจัยการควบคุมทางพันธุกรรมในการพัฒนาตัวอ่อน และ Allvar Gullstrand จักษุแพทย์ชาวสวีเดน ที่ได้ร่วมมือกับ Moritz von Rohr หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาที่ ZEISS ทำการวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีของแสงต่อการวินิจฉัยและรักษาโรคตา จนได้รับรางวัลโนเบลจากผลงานด้าน Dioptrics เช่นกัน

ZEISS ไม่เพียงแต่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน แต่ยังมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่มีความโดดเด่นและน่าสนใจ โดยมีการจดทะเบียนการดำเนินธุรกิจในรูปแบบของมูลนิธิ โดยมีพันธกิจหลักในการสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงส่งเสริมเรื่องธรรมชาติและเทคโนโลยี ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในมูลนิธิที่มีความเก่าแก่และได้สร้างคุณูปการมหาศาลให้กับวงการวิทยาศาสตร์และการค้นคว้าให้แก่ประเทศเยอรมันนีและทั่วโลก

คุณธีระพงษ์ บุญรอดชู กรรมการผู้จัดการ บริษัท คาร์ล ไซส์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า "ปีนี้ ZEISS ฉลองวาระครบรอบ 175 ปี การเป็นผู้นำแห่งเลนส์ระดับโลก เราภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมมาอย่างยาวนาน และเป็นหนึ่งในผู้นำเทรนด์ที่มีส่วนกำหนดอนาคตของเทคโนโลยี และพัฒนาโลกแห่งเลนส์ ที่สอดคล้องกับการเติบโตของโลกในอนาคต และเรายังมีการเตรียมความพร้อมสำหรับความเปลี่ยนแปลงเพื่อการเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดย ZEISS เป็นหนึ่งในเจ้าของเทคโนโลยีในการผลิตระบบและโมดูลสำหรับการผลิตไมโครชิปผ่านการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยีลิโธกราฟฟี ช่วยให้สามารถผลิตโครงสร้างที่ละเอียดยิ่งขึ้นบนไมโครชิปได้ ทำให้วงจรมีขนาดเล็กลง ส่งผลให้มีไมโครชิปที่ทรงพลังและประหยัดพลังงานยิ่งขึ้น"

คุณคาโรลีน ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม จอยน์ เว็นเจอร์โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า "ธุรกิจของ บี.กริม เกี่ยวข้องกับการแพทย์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาโดยตลอด เริ่มด้วยการเปิดห้างสยามดิสเปนซารี (Siam Dispensary) ใน ค.ศ. 1878 สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นร้านปรุงยาแบบตะวันตกและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางเภสัชกรรมและเคมีภัณฑ์  เราเป็นผู้นำเข้ากล้องจุลทรรศน์ของคาร์ล ไซส์ส ที่ใช้ในวงการแพทย์สมัยใหม่ของยุโรปในขณะนั้นเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย  ซึ่งมีส่วนช่วยพัฒนาให้วงการวิทยาศาสตร์และการแพทย์ของไทยมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก   ด้านดาราศาสตร์ บี.กริมและคาร์ล ไซส์ส ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทยในปี ค.ศ. 1962 ให้เป็นผู้ก่อสร้างท้องฟ้าจำลองพร้อมติดตั้งเครื่องฉายดาวระบบเลนส์และอุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อส่งเสริมให้เด็กไทยได้มีองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ที่ทันสมัย 

"ในปี ค.ศ. 1991 บี.กริม และ คาร์ล ไซส์ส เยอรมนี ได้ร่วมทุนเปิด บริษัท คาร์ล ไซส์ส (ประเทศไทย) ขึ้น เพื่อจัดจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ เครื่องมือที่ใช้ในห้องปฏิบัติการ และผลิตภัณฑ์เพื่ออุตสาหกรรม  ZEISS เป็นทั้งพันธมิตรและคู่ค้าที่ผูกพันกับเรามาอย่างอย่างแน่นแฟ้นตลอด 143 ปีที่บี.กริมดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เราร่วมมือกันส่งเสริมวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างความยั่งยื่นให้กับการดำเนินธุรกิจและการใช้ชีวิตของผู้คนในทุกภาคส่วนของสังคมไทย" 

คุณธีระพงษ์ กล่าวเสริมว่า "สำหรับประเทศไทย หนึ่งในพันธกิจที่สำคัญของเรา คือ การสนับสนุนงานวิชาการและการศึกษาในด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ในส่วนของภาควิศวกรรมฯ เมื่อเร็วๆ นี้ เราก็ได้รับเกียรติลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และอีก 5 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย ในโครงการ ZEISS Academic Program เพื่อร่วมือกันพัฒนาและยกระดับบุคลากรด้านวิศวกรรมของไทยให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทักษะเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งจะส่งผลให้อุตสาหกรรมในประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดด และส่งเสริมอุตสาหกรรม New S-Curve และ S-Curve รองรับความต้องการแรงงานระดับสูงในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของประเทศไทยต่อไป"

ปัจจุบัน ZEISS นับเป็นผู้นำเทคโนโลยีระดับโลกที่ดำเนินงานในอุตสาหกรรมด้านออปติคอล และออปโตอิเล็กทรอนิกส์ โดยแบ่งออกเป็น เทคโนโลยีการผลิตเซมิคอนดักเตอร์,  อุตสาหกรรมและการวิจัย และเทคโนโลยีทางการแพทย์ และยังคงมุ่งมั่นพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะในด้านของการแพทย์ โดยเป็นผู้ผลิตเครื่องมือที่ใช้สำหรับการผ่าตัดจุลศัลยกรรม รวมไปเทคโนโลยีเอกซ์เรย์ที่ทำให้การวินิจฉัยโรคและการรักษามนุษย์มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น และยังเป็นผู้ผลิตเครื่องวัดสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมที่มีความแม่นยำและได้มาตรฐาน ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยสนับสนุนความเจริญ ก้าวหน้าทางเศรษฐกิจให้กับสังคมมาอย่างต่อเนื่อง

ในโอกาสครบรอบ 175 ปี ในเดือนพฤศจิกายน 2021 นี้ ZEISS ได้จัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านชุดการสัมภาษณ์ "Zeiss Beyond Talks" รวมไปถึงกิจกรรมบน Social Media ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมดังกล่าวและเรื่องราวของ ZEISS เพิ่มเติมได้ที่ www.zeiss.com

เส้นทาง ZEISS 175 ปี สู่การเป็นผู้นำนวัตกรรมระดับโลก

1846       วันที่ 17 พฤศจิกายน นายช่างหนุ่มชาวเยอรมัน ชื่อ Carl Zeiss ทดลองผลิตเครื่องกลที่มีความแม่นยำและผลิตอุปกรณ์ทางจักษุวิทยา ณ ห้องปฏิบัติการขนาดเล็ก ในเมืองเยนา ประเทศเยอรมันนี

1847       Carl Zeiss เริ่มผลิตกล้องจุลทรรศน์ขั้นพื้นฐาน

1857       Carl Zeiss และเพื่อนร่วมทีม สามารถสร้างกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูงได้สำเร็จ

1860       Carl Zeiss ร่วมงานกับอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเยนา ผลิตเลนส์ใกล้วัตถุจากพื้นฐานของการคำนวณทางคณิตศาสตร์

1866       Carl Zeiss และ Ernst Abbe นักฟิสิกส์และนักคณิตศาสตร์ ก่อตั้งบริษัท ZEISS ที่เมืองเยนา ประเทศเยอรมนี  

1879       Otto Schott นักเคมีเครื่องแก้ว ประสบความสำเร็จในการผลิตแก้วด้วยคุณสมบัติทางแสงแบบใหม่ นำไปสู่การทำงานร่วมกันกับ ZEISS เพื่อพัฒนาเลนส์คุณภาพสูง

1884       Glaswerk Schott และ Genossen ริเริ่มโรงงานผลิตแก้ว ซึ่งคุณภาพของกระจกออปติคอลทำให้สามารถต่อยอดจากทฤษฎีของ Ernst Abbe ได้ และส่งผลให้เครื่องมือของ ZEISS ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

1889       Carl Zeiss เสียชีวิต Ernst Abbe จึงได้ก่อตั้งมูลนิธิ Carl Zeiss ขึ้น เพื่อส่งเสริมด้านวิทยาศาสตร์ ธรรมชาติและเทคโนโลยี

1890       Ernst Abbe พัฒนากล้องจุลทรรศน์ให้สามารถจำกัดความละเอียดแสงได้ดียิ่งขึ้น การพัฒนานี้ ได้ถูกนำมาปรับใช้ในด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทัศนศาสตร์ และนำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่

1900       Allvar Gullstrand จักษุแพทย์ชาวสวีเดน ร่วมมือกับ Moritz von Rohr หัวหน้าฝ่ายวิจัยและพัฒนาที่ ZEISS ทำการวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีของแสงต่อการวินิจฉัยและรักษาโรคตา และได้รับรางวัลโนเบลจากผลงานด้าน Dioptrics  แบบจำลองดวงตาของ Gullstrand และการคำนวณค่าเลนส์โดย von Rohr ส่งผลต่อการพัฒนาจักษุวิทยาในปัจจุบัน

1912       เปิดตัวกล้องจุลทรรศน์ Slit Lamp โดยอิงจากผลการวิจัยของ Gullstrand อันเป็นรากฐานของเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สร้างความแข็งแกร่งให้กับ ZEISS  

1919       เปิดตัวไมโครมิเตอร์แบบเกลียวที่มีความแม่นยำ ที่งาน Leipzig Spring Fair สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในด้านมาตรวิทยา ส่งผลให้ ZEISS กลายเป็นผู้ผลิตชั้นนำด้านการวัดแบบหลายมิติ ทั้งเครื่องวัดพิกัดแสงและเซ็นเซอร์หลากหลาย รวมทั้งซอฟต์แวร์มาตรวิทยาสำหรับยานยนต์ การบิน วิศวกรรมศาสตร์ พลาสติกและเทคโนโลยีทางการแพทย์ ไปจนถึงเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรม เช่น เครื่องวัด X-ray 3 มิติ  

1925       เครื่องฉายดาวระบบเลนส์ชุดแรกได้ถูกสร้างขึ้นสำหรับพิพิธภัณฑ์ Deutsches ที่เมืองมิวนิก

1930       เมืองใหญ่ทั่วโลกได้มีการก่อสร้างท้องฟ้าจำลองถึง 21 แห่ง โดยสั่งซื้อเครื่องฉายดาวระบบเลนส์จาก ZEISS

1953       เปิดตัว OPMI(R) 1 กล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษที่ช่วยให้จักษุแพทย์สามารถส่องเห็นดวงตาทั้งภายนอกและภายในแบบภาพ 3 มิติ อันเป็นพื้นฐานสำหรับการพัฒนากล้องจุลทรรศน์ศัลยกรรม ทุกวันนี้ ZEISS ยังคงพัฒนาการรักษาทางจักษุวิทยาและการจุลศัลยกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเปิดตัวเทคโนโลยี ZEISS KINEVO(R) 900 ที่ใช้กับการผ่าตัดกระดูกสันหลังและศัลยกรรมประสาท ซึ่งประกอบด้วยนวัตกรรมมากกว่า 100 รายการและสิทธิบัตร 180 รายการ ผ่านระบบการทำงานกับหุ่นยนต์ในการสร้างภาพดิจิตอลและรูปแบบการตอบสนองต่อความช่วยเหลือที่ทันสมัย

1974       เซ็นต์สัญญากับบริษัท Kyocera ของญี่ปุ่นผู้ผลิตกล้องถ่ายภาพ Yashica โดยใช้เลนส์ของคุณภาพสูงของ ZEISS บริษัทยังผลิตอุปกรณ์ทางด้านเลนส์อื่น ๆ อีกจำนวนมาก อาทิ กล้องส่องนก เลนส์สำหรับกล้องวิดีโอ เลนส์สำหรับกล้องดิจิทัล เลนส์สำหรับกล้องบนมือถือ เลนส์สำหรับกล้องถ่ายภาพยนตร์ เครื่องมือวัดทางอุตสาหกรรม และอุปกรณ์การแพทย์  รวมถึงผลิตเลนส์สำหรับใช้กับกล้องถ่ายภาพหลากหลายยี่ห้อ เช่น คอนแท็กซ์ (Contax), ไลกา (Leica), โรไล (Rolei), โวกท์แลนเดอร์ (Voigtlander), ฮัสเซลบลัด (Hasselblad), โซนี (Sony), โคนิกา-มินอลตา (Konica-Minolta), นิคอน (Nikon), แคนนอน (Canon), และ เพ็นแท็กซ์ (Pentax)

2019       ZEISS ร่วมมือกับบริษัทมากมายในยุโรป รวมถึงสถาบันวิจัยต่างๆ เพื่อสร้างเทคโนโลยีทางการผลิตใหม่ๆ ที่นำไปสู่การพัฒนาของการพิมพ์หินด้วยแสง (EUV lithography) ส่งผลให้ ZEISS เป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนการเข้าสู่โลกดิจิทัล โดยเทคโนโลยีนี้มีความสำคัญอย่างมากในการลดขนาด  ช่วยให้สามารถผลิตโครงสร้างที่ละเอียดยิ่งขึ้นบนไมโครชิปได้ ทำให้วงจรมีขนาดเล็กลง ไมโครชิปทรงพลังและประหยัดพลังงานยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ