มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) โดย สถาบันวิจัยและพัฒนากัญชากัญชงและสมุนไพร เปิดตัว "ศูนย์เรียนรู้พืชกระท่อม ประจำภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" แห่งแรกในภาคอีสาน ใช้พื้นที่กว่า 4 ไร่ ปลูกพืชกระท่อม 400 ต้น ภายในคณะทรัพยากรธรรมชาติ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร เพื่อเป็นแหล่งบริการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านพืชสมุนไพรที่ครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการปลูกจนถึงการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ สู่การพัฒนาให้พืชกระท่อม กัญชา กัญชง เป็นพืชเศรษฐกิจที่ยั่งยืนคู่ประเทศไทย ภายใต้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านอาหารและสุขภาพตามนโยบายของสภามหาวิทยาลัยฯ
รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน เปิดเผยว่า สถาบันวิจัยและพัฒนากัญชากัญชงและสมุนไพร มทร.อีสาน ณ วิทยาเขตสกลนคร ได้มีการวิจัยพัฒนาพืชสมุนไพรไทยชนิดต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชกัญชากัญชงที่ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขไปแล้วถึง 4 สายพันธุ์ด้วยกัน นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยได้มีการปลดล็อกกัญชา กัญชง ออกจากการบัญชียาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 และการที่ มทร.อีสาน เข้าไปมีบทบาทกับกัญชากัญชง หรือกระท่อมนั้น เพราะผมมองเห็นถึงโอกาสในการส่งเสริมให้เกษตรกรไทยสามารถสร้างรายได้ที่เข้มแข็งและยั่งยืนจากพืชสมุนไพรท้องถิ่น และ มทร.อีสาน สามารถเป็นสื่อกลางในถ่ายทอดองค์ความรู้ในการใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรดังกล่าวอย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในด้านของอาหารและสุขภาพที่ มทร.อีสาน มุ่งขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม
โดยการเปิดศูนย์เรียนรู้พืชกระท่อมประจำภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือในครั้งนี้ สืบเนื่องจากสถาบันวิจัยและพัฒนากัญชา กัญชง และสมุนไพร มทร.อีสาน ได้รับงบประมาณสนับสนุนเพื่อจัดทำโครงการวิจัย "การศึกษาพันธุ์และโอกาสการใช้ประโยชน์ของพืชกระท่อม" จากห้างหุ้นส่วนจำกัดเอ็มแอนด์เอ็ม โตเกียว ในการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืชกระท่อม ลักษณะพฤกษเคมี และปริมาณสารสำคัญในใบกระท่อมที่ปลูกในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดนนทบุรี จังหวัดนครพนม และ จังหวัดสกลนคร โดยมี อาจารย์อินทร์ธัชว์ ศรีบุตต์ อาจารย์ประจำสาขาพืชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ร่วมกับนักวิจัยใน มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และกรมวิชาการเกษตร ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.สรจักร เกษมสุวรรณ อุปนายกสภา มทร.อีสาน ร่วมเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ดร.จเร พันธ์เปรื่อง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ มทร.อีสาน ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ และที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นพ.ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 8 ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่เข้าร่วมงาน
สำหรับพืชกระท่อม ถือเป็นพืชสมุนไพรดั้งเดิมที่ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นิยมนำมาใช้เป็นยาเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อย เหนื่อยล้า โดยวิธีการนำใบสดหรือใบแห้งมาเคี้ยว สูบ หรือนำมาชงเป็นชาดื่ม อีกทั้งเป็นถือเป็นยาพื้นบ้านที่มีสรรพคุณหลากหลายทั้งแก้ไอ ลดไข้ ท้องร่วง ความดันโลหิตสูง รวมถึงช่วยบำบัดผู้ที่ติดเฮโรอีนได้อีกด้วย รัฐบาลจึงได้มีการปลดล็อกพืชประท่อมอย่างเป็นทางการใน พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษฉบับที่ 8 พ.ศ. 2564 ปลดล็อกกระท่อมออกจากการบัญชียาเสพติด ประเภทที่ 5 มีผลบังคับใช้เมื่อ 24 สิงหาคม 2564 ทำให้ประชาชนสามารถปลูก ซื้อ ขาย หรือบริโภคได้อย่างเสรี ทั้งนี้เนื่องจากรัฐได้เล็งเห็นถึงโอกาสที่จะผลักดันพืชกระท่อมในเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในประเทศไทย ซึ่งจากการที่รัฐบาลได้สำรวจมูลค่าทางเศรษฐกิจของพืชกระท่อมนั้น พบว่ามีมูลค่าอย่างมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกามีผู้บริโภคมากถึง 15 ล้านคน ซึ่งมีมูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามพืชกระท่อมแม้ว่าจะเป็นพืชสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคได้ แต่การใช้ในปริมาณที่มากเกินไปและนานเกินไปสามารถทำให้เกิดโทษได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น สถาบันวิจัยและพัฒนากัญชากัญชงและสมุนไพร มทร.อีสาน ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อผลักดันพืชสมุนไพรไทยสำหรับขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านอาหารและสุขภาพที่ได้รับการยอมรับจากกระทรวงสาธารณสุขไทยนั้น จึงได้เข้ามามีบทบาทในการเป็นสื่อกลางที่จะช่วยวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดองค์ความรู้ตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำให้กับเกษตรกรและประชาชนชาวไทยเพื่อให้สามารถใช้พืชกระท่อมได้อย่างปลอดภัยและเกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน พร้อมทั้งยังมีเป้าหมายที่จะต่อยอดการปลูกพืชกระท่อม กัญชากัญชงเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชาวภาคอีสานในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ทั้งที่ มทร.อีสาน นครราชสีมา วิทยาเขตขอนแก่น วิทยาเขตสุรินทร์ และวิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งจะเป็นในรูปแบบฐานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างครบวงจรสอดรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในอีกรูปแบบหนึ่งอีกด้วยครับ รศ.ดร.โฆษิต กล่าวทิ้งท้าย