"ชัยวุฒิ" รมว.ดีอีเอส ประกาศความร่วมมือ "โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัล (CDA)" ขานรับการทำงานร่วมกับบริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ ดึงความเชี่ยวชาญระดับโลกเร่งความเร็วการก้าวสู่เป้าหมายนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ผลักดันประโยชน์เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าถึงทุกภาคส่วนของประเทศ นำร่องปักหมุดเทคโนโลยี 4 ด้านทั้ง สาธารณสุข, 5G สำหรับองค์กร, สมาร์ซิตี้และระบบขนส่ง และไซเบอร์ซีเคียวริตี้
นาย ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวในการแถลงประกาศความร่วมมือ "โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัล" หรือ Cisco's Country Digital Acceleration (CDA) ร่วมกับ บริษัทซิสโก้ ซีสเต็มส์ ว่าโครงการนี้จะเป็นอีกหนึ่งกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลที่สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลไทย รองรับเป้าหมายเพื่อเร่งการขับเคลื่อนสู่ดิจิทัลในทุกภาคส่วนของประเทศ ตลอดจนกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสริมสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทยจากการปรับใช้เทคโนโลยีที่สำคัญๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต คุณภาพสินค้า และการสร้างสรรค์นวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมหลักของประเทศ
ทั้งนี้ โครงการขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลในประเทศไทย (CDA) จะเริ่มขับเคลื่อนโครงการต่างๆ โดยมุ่งเน้น 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1.Connected Healthcare มีการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนสุขภาพ เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการให้บริการด้านสาธารณสุขทั่วประเทศ โดยการนำเทคโนโลยีด้านต่างๆ มาช่วยทำให้บริการของโรงพยาบาลมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดตอกย้ำถึงความสำคัญของเทคโนโลยี เพื่อสร้างความมั่นใจต่อบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพให้เข้าถึงครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม
2.โครงการด้าน 5G สำหรับองค์กร ตอกย้ำการใช้ประโยชน์เครือข่าย 5G ที่สามารถรับส่งข้อมูลจำนวนมากได้รวดเร็วกว่า ช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างลูกค้ากลุ่มต่างๆ รวมไปถึงแอปพลิเคชั่น และเทคโนโลยีทางด้านธุรกิจที่หลากหลาย ซึ่งเป็นการส่งเสริมการให้บริการ predictive แบบเรียลไทม์ และระบบงานอัตโนมัติที่ชาญฉลาดมากขึ้น รวมถึงโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ในภาคธุรกิจที่สำคัญเช่น ภาคการผลิต
3.สมาร์ทซิตี้ และระบบขนส่ง ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชั้นนำที่รองรับโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้ โดยจะมุ่งเน้นในการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบขนส่งภายในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ให้ทันสมัย รวมถึงโครงการเมกะโปรเจกต์สำหรับระบบขนส่งทางอากาศ รถไฟ ทางบก และทางทะเล โดยครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
และ 4.ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ โดยซิสโก้จะจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ในไทย เพื่อยกระดับทักษะของบุคลากรในประเทศ สถาบันฯ แห่งนี้ มีการควบคุมสภาพแวดล้อมแบบอินเทอร์แอคทีฟ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญและบุคลากรไซเบอร์ซีเคียวริตี้สามารถร่วมมือกันที่จะตรวจค้น สืบหา และลดการโจมตีทางไซเบอร์ รวมทั้งการสร้างกรอบความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ (Critical National Infrastructure (CNI)) ในประเทศไทย
"เศรษฐกิจของไทยมีบทบาทในการกำหนดทิศทางของภูมิภาคฯ นี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันเรามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน และเรามุ่งเน้นที่จะสร้างความมั่นใจในบทบาทผู้นำอย่างต่อเนื่องแม้หลังการแพร่ระบาดสิ้นสุดลง ด้วยการนำดิจิทัล เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้อย่างเต็มที่ โดยทุกภาคส่วนจะร่วมมีบทบาทในการขับเคลื่อนนี้ การทำงานร่วมกับซิสโก้ในโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาดิจิทัลประเทศไทย ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างสรรค์อนาคตแห่งดิจิทัลให้เป็นจริง" นายชัยวุฒิกล่าว