รมว.แรงงาน มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมืแรงงานเดินหน้ายกระดับช่างแอร์ IoT
รมว.สุชาติ มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจับมือภาคเอกชน เดินหน้าพัฒนาช่างแอร์ IoT รับการเปลี่ยนแปลงโลกอนาคต
นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีนโยบายด้านการพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานโดยเน้นให้หน่วยงานภาครัฐบูรณาการตามแนวทางประชารัฐสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา ในการพัฒนาฝีมือแรงงานเสริมทักษะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานและบริการประชาชนได้อย่างมีคุณภาพ สร้างสังคมปลอดภัย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงมอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เร่งดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว ซึ่งล่าสุดกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ร่วมกับบริษัท ไฮเออร์ อีเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) องค์กรชั้นนำด้านระบบเครื่องปรับอากาศ พัฒนาทักษะด้าน IoT ให้แก่ช่างเครื่องปรับอากาศ เพื่อทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีระบบปรับอากาศในปัจจุบัน ซึ่งมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT ร่วมกับเครื่องปรับอากาศมากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมามีการพัฒนาครูฝึกของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อเป็นวิทยากรในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่แรงงาน จัดตั้ง "ศูนย์ฝึกอบรมเทคโนโลยี IoT เพื่อนำไปประยุกต์งาน" ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 13 กรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นศูนย์กลางฝึกอบรมช่างในสาขานี้
สำหรับในปี 2565 มีแผนดำเนินการจัดฝึกอบรมการฝึกยกระดับฝีมือหลักสูตรเทคโนโลยี IoT เพื่อการประยุกต์การใช้งาน และการบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศให้แก่ช่างชุมชน ช่างฝีมือ และช่างตัวแทน ใน 10 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชลบุรี พิษณุโลก ขอนแก่น อุบลราชธานี สกลนคร กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ สงขลา และภูเก็ต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ช่างมีทักษะและทัศนคติที่ดีในการประกอบอาชีพและสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT ในเครื่องปรับอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้เรียนรู้ภายใต้หัวข้อ เทคโนโลยีและประโยชน์ของ IoT ในชีวิตประจำวัน เครื่องมืออุปกรณ์พื้นฐานและหลักการทำงานเทคโนโลยี IoT ร่วมกับเครื่องใช้ไฟฟ้า การติดตั้งและการลงทะเบียนโปรแกรม การยืนยันตัวตนและการตั้งค่าเพื่อการใช้งาน และทดสอบการควบคุมระยะไกลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต การซ่อมแซมและบำรุงรักษา ใช้ระยะเวลาการฝึกอบรม 18 ชั่วโมง มีเป้าหมายดำเนินการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานไม่น้อยกว่า 210 คน ผู้ผ่านการฝึกอบรมได้รับสิทธิ์ในการเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก ระดับ 1 ซึ่งต่อยอดในการมีหนังสือรับรองความรู้ความสามารถได้
จากข้อมูลที่กล่าวมาจะได้เห็นว่าความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยปัจจุบันเทคโนโลยี IoT มีบทบาทและความสำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ผู้ได้รับการพัฒนาตามโครงการนี้จึงถือได้ว่าเป็นช่างฝีมือแถวหน้าของประเทศมีความพร้อมให้บริการ ถึงแม้จะเป็นระบบปรับอากาศที่มาพร้อมเทคโนโลยีใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้มาตรฐาน มีส่วนช่วยให้ประชาชนสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และช่างสามารถเข้าถึงการจ้างงานได้ง่ายขึ้นอีกด้วย