กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม ต้อนรับเปิดประเทศ และสอดรับนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรมในการยกระดับกาแฟอาราบิก้าอย่างครบวงจรจากต้นสู่แก้ว (Coffee to Cup : C2C) ภายใต้อัตลักษณ์กาแฟภาคเหนือ โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน ได้ทำให้มูลค่าของตลาดกาแฟในภาคเหนือตอนบนเติบโตมากขึ้นถึง 5,000 ล้านบาท พร้อมเผยแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว รับการเติบโตของธุรกิจร้านเครื่องดื่ม (คาเฟ่) รวมถึงพฤติกรรมการเว้นระยะห่าง และการปรับรูปแบบการเลือกซื้อสินค้า อาทิ การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานเมล็ดกาแฟ การเพิ่มโอกาสในการขยายตลาด พร้อมยกระดับกาแฟอาราบิก้าภาคเหนือตอนบนให้มีมาตรฐาน และเป็นแหล่งเพาะปลูกสำคัญในระดับโลก
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ขับเคลื่อนนโยบายเปิดประเทศ และในช่วงที่ประเทศไทยเริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้มอบนโยบายให้ดีพร้อมเร่งฟื้นฟูภาคส่วนสำคัญทั้งด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว รวมทั้งการเข้าถึงวิสาหกิจชุมชนในหลาย ๆ พื้นที่ โดยนโยบายที่สำคัญด้านหนึ่งคือการยกระดับกาแฟอาราบิก้าให้เกิดขึ้นอย่างครบวงจร ภายใต้อัตลักษณ์กาแฟภาคเหนือ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟที่มีคุณภาพและทำให้ภาคเหนือตอนบนเป็นแหล่งผลิตเมล็ดกาแฟที่มีชื่อเสียง ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวในปี 2562 จนถึงปัจจุบันได้ผลักดันทักษะของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกาแฟในภาคการผลิตและภาคบริการให้ก้าวสู่ทิศทางที่ดีขึ้น
การพัฒนาดังกล่าว ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มูลค่าของตลาดกาแฟของภาคเหนือตอนบน เติบโตมากขึ้นถึง 5,000 ล้านบาท พร้อมทั้งเป็นแรงผลักดันให้การเติบโตของอุตสาหกรรมกาแฟในประเทศไทยเฉลี่ยปีละ 10 - 15 % โดยตลาดกาแฟในประเทศไทยปี 2562 มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ราว 37,000 - 38,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2563 ที่ผ่านมา มูลค่าของตลาดกาแฟในประเทศไทยอยู่ที่ 42,537 ล้านบาท แบ่งเป็นกาแฟสด 4,119 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.7 อัตราขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 5.8 % ต่อปี ส่วนกาแฟสำเร็จรูปอยู่ที่ 38,418 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90.3 และมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 3.8 % ต่อปี นอกจากนี้ เมื่อศึกษามูลค่าในระดับโลกยังมีการคาดการณ์ว่าตลาดกาแฟในช่วงระหว่างปี 2564 - 2566 จะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องปีละ 9% และมีมูลค่าที่สูงมากถึง 191.1พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ดีพร้อมยังได้มีการศึกษาภาพรวมในตลาดกาแฟซึ่งพบว่ามีหลายปัจจัยที่เป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการต้องปรับรูปแบบในการดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของธุรกิจร้านเครื่องดื่ม (คาเฟ่) ที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ การลดบริโภคเครื่องดื่มนอกบ้านจากมาตรการล็อกดาวน์ ภายใต้สถานการณ์การระบาดโควิด - 19 และเปลี่ยนพฤติกรรมมาสู่ยุคชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) การดื่มกาแฟสด - เลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากช่องทางออนไลน์และเดลิเวอรี่เพิ่มมากขึ้น จากปัจจัยดังกล่าว ดีพร้อมจึงได้มีแนวทางเพิ่มโอกาสการเติบโตของผู้ผลิตกาแฟในพื้นที่ภาคเหนือผ่านโครงการยกระดับศูนย์กลางการพัฒนาอัตลักษณ์กาแฟอะราบิก้าภาคเหนือ ด้วยแนวทางที่สำคัญดังนี้
- การพัฒนาคุณภาพมาตรฐานเมล็ดกาแฟอาราบิก้า ซึ่งมีการเพาะปลูกในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนกว่า 7 หมื่นไร่ ให้มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นในด้านกลิ่น รสชาติ และลักษณะปรากฎเฉพาะของกาแฟ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมประยุกต์ใช้ในการปลูก ตลอดจนยกระดับให้เป็นกาแฟคุณภาพพิเศษ หรือ Specialty Coffee ซึ่งเป็นกาแฟที่มีกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพและได้คะแนนจากนักทดสอบ (Q Grader) 80 คะแนนขึ้นไป รวมถึงนำผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยแบ่งปันเทคนิคการดูแลต้นกาแฟ การเก็บเกี่ยว การเก็บรักษาหลังการเก็บเกี่ยวให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น พร้อมผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาค
- ส่งเสริมกระบวนการคั่ว ซึ่งในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมีโรงคั่วอยู่กว่า 70 แห่ง และถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการเติบโตอุตสาหกรรมกาแฟในพื้นที่ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มุ่งลดปัญหาสำคัญทั้งการบริหารจัดการของเสียจากการแปรรูปกาแฟ อาทิ กลิ่น - ควันจากกระบวนการเผาไหม้ การกำหนดให้แต่ละโรงคั่วมีมาตรฐานเดียวกัน โดยเฉพาะในกลุ่มโรงคั่วขนาดเล็ก รวมถึงเข้าไปสนับสนุนเกษตรกรที่ต้องการลงทุนทำกาแฟคั่วบด ด้วยการเรียนรู้จากผู้ประกอบการในคลัสเตอร์กาแฟที่ประสบความสำเร็จ
- ยกระดับธุรกิจผ่านแนวทางการเกษตรสร้างสรรค์ ด้วยการผลักดันกาแฟในแต่ละดอยมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวของตัวเอง เช่น กาแฟอมก๋อย กาแฟดอยวาวี กาแฟดอยอินทนนท์ กาแฟดอยผาหมี รวมถึงรูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น การทำกาแฟแบบแคปซูล กาแฟที่มีกลิ่นเฉพาะ กาแฟดริป รวมถึงช่วยยกระดับบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับการขนส่ง มีความดึงดูดสายในช่องทางค้าขายออนไลน์ และยกระดับพื้นที่ในการเพาะปลูกให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกด้วย
- การส่งเสริมธุรกิจกาแฟของภาคเหนือตอนบนผ่านศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 และศูนย์พัฒนาและทดสอบอัตลักษณ์กาแฟอาราบิก้าภาคเหนือ (Northern Boutique Arabica Coffee Center : NBACC) ของดีพร้อม ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางที่สำคัญและมีความพร้อมทั้งในด้านบุคลากรที่เชี่ยวชาญ โปรแกรมอบรมวิชาชีพสำหรับผู้ที่สนใจจัดตั้งหรือพัฒนาธุรกิจกาแฟ รวมถึงการสร้างเครือข่ายของหน่วยงานด้านการวิจัยและพัฒนา โดยภายใน ศูนย์ฯประกอบด้วย 6 โซน ได้แก่ โซนนิทรรศการข้อมูลองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับกระบวนการพัฒนากาแฟตั้งแต่เริ่มปลูก โซนเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ที่ใช้ในการทดลอง/ทดสอบ โซนตัวอย่างเมล็ดกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) โซนการสาธิตในการชงและชิมกาแฟ โซนตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากกาแฟ และโซนห้องอบรมสัมมนา
- เพิ่มโอกาสในการขยายตลาด ด้วยการผลักดันให้กาแฟแต่ละแบรนด์ หรือ แต่ละแหล่งเพาะปลูกมีโอกาสเข้าถึงช่องทางการค้าออนไลน์ ห้างสรรพสินค้า หรือ เครือข่ายร้านกาแฟที่มีชื่อเสียง พร้อมทั้งส่งเสริมการออกแบบสินค้า การจดสิทธิบัตร - ขึ้นทะเบียนสินค้าเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI) รวมถึงการบ่มเพาะวิธีการสร้างเรื่องราว (Story Telling) หรือการสร้างคอนเทนต์ โดยอาศัยความพิเศษของวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ เพื่อปลุกระแสให้เกิดเทรนด์การดื่มกาแฟ 1 กลิ่น 1 แก้ว 1 วันให้เข้าถึงกลุ่มร้านค้าและผู้บริโภคในอนาคต
- การรวมกลุ่มของอุตสาหกรรมกาแฟผ่านคลัสเตอร์ (Cluster) โดยกลุ่มต้นทางได้สนับสนุนและส่งเสริมให้ความรู้ด้านการคัดเลือกสายพันธุ์ การดูแลพื้นที่ปลูก การตัดแต่งกิ่ง การเก็บเกี่ยว การแปรรูป เมล็ดกาแฟ ตลอดจนการเก็บรักษาเมล็ดกาแฟ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและมาตรฐาน กลุ่มกลางทางสนับสนุน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการควบคุมคุณภาพการผลิต เพื่อให้ได้มาตรฐาน และกลุ่มปลายทางได้สนับสนุนการประกอบธุรกิจกาแฟ เสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะบุคลากร ทั้งเรื่องเทคนิคการคัดคุณภาพสารกาแฟ เทคนิคการคั่ว การผสมสูตรที่มีลักษณะเฉพาะ การชงกาแฟ และการบริหารจัดการหน้าร้าน เพื่อให้เกิดความอยู่รอดและยั่งยืน
"เพื่อให้อุตสาหกรรมกาแฟในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมีการเติบโตที่ดียิ่งขึ้น ในปี 2565 ดีพร้อม จึงได้วางแนวทางผลักดันให้ผลผลิตจากเกษตรกร-ผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มพรีเมียม กลุ่มผู้รักสุขภาพ รวมถึงธุรกิจร้านเครื่องดื่ม (คาเฟ่) ผ่านการพัฒนาคุณภาพและรสชาติแทนการเพิ่มปริมาณเพื่อเจาะตลาดกาแฟพิเศษ โดยเฉพาะผู้บริโภคที่มีความชื่นชอบและให้ความสำคัญกับกลิ่น รสชาติ ลักษณะเฉพาะ และเรื่องราว (Storytelling) ของเมล็ดกาแฟที่มาจากแต่ละพื้นที่เพาะปลูก เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับกาแฟของภูมิภาคและสามารถขายได้ในราคาสูง โดยภายใต้เป้าหมายดังกล่าว มีกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพและสามารถพัฒนาได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ การผลิตและเพาะปลูกบนดอยรวมกว่า 20 แห่ง ซึ่งจะพัฒนาทั้งพันธุ์กาแฟอาราบิก้าที่เหมาะสมกับแต่ละลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ การนำผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ มาร่วมพัฒนาเป็นคุณสมบัติพิเศษที่สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผลิตภัณฑ์กาแฟ เช่น กาแฟกลิ่นส้ม ผลิตภัณฑ์กาแฟเข้มข้น การผลักดันให้สินค้าใกล้เคียงกับมาตรฐานโลก และยกระดับศักยภาพให้เป็นพื้นที่สำคัญของการเพาะปลูก - การแปรรูปในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงในระดับโลกต่อไป" นายณัฐพล กล่าวสรุป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2430 6860 หรือ ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ เว็บไซต์ www.diprom.go.th/th/ หรือ www.facebook.com/dipromindustry