"หุ่นจำลองปฏิสัมพันธ์กายวิภาคหัวสุนัขเพื่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง" นวัตกรรมจากอาจารย์สัตวแพทย์ จุฬาฯ คว้ารางวัลเหรียญทองงานนวัตกรรมนานาชาติ IWIS 2021

ข่าวทั่วไป Friday December 3, 2021 09:04 —ThaiPR.net

นวัตกรรม "หุ่นจำลองปฏิสัมพันธ์กายวิภาคหัวสุนัขเพื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเอง" (Canine Head Anatomy Interaction Model for Self-Learning) ผลงานของ ผศ.สพ.ญ.ดร.ภาวนา เชื้อศิริ ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ คว้ารางวัล Special Award และเหรียญทองในงาน International Warsaw Inventions show (IWIS) 2021 ที่ประเทศโปแลนด์ ซึ่งเป็นการประกวดนวัตกรรมระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป ซึ่งปีนี้จัดในรูปแบบออนไลน์ มีผลงานส่งเข้าประกวดถึง 400 รายการ

ที่มาของ "หุ่นจำลองปฏิสัมพันธ์กายวิภาคหัวสุนัขเพื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเอง" ผศ.สพ.ญ.ดร.ภาวนาเปิดเผยว่า หุ่นจำลองกายวิภาคหัวสุนัขเป็นนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาการเรียนการสอนทางด้านกายวิภาคซึ่งต้องใช้ร่างอาจารย์ใหญ่ที่ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความสมบูรณ์ของร่างอาจารย์ใหญ่ หรือการใช้สารเคมีเพื่อคงคุณภาพของร่างอาจารย์ใหญ่ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพของผู้เรียนและผู้สอนได้ จึงเกิดแนวคิดในการสร้างสรรค์นวัตกรรมหุ่นจำลองกายวิภาคหัวสุนัขขึ้นมา เพื่อทดแทนหรือใช้เสริมการใช้ร่างอาจารย์ใหญ่ในการเรียนการสอนนิสิตสัตวแพทย์ ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้เรียนและผู้สอนเป็นอย่างดี นิสิตสามารถเห็นหุ่นจำลองได้อย่างชัดเจนพร้อมๆ กัน และสัมผัสได้ด้วย

หุ่นจำลองดังกล่าว มีผู้ร่วมวิจัยประกอบด้วย นายภักดี สุดถนอม นางจันทิมา อินทรปัญญา จากภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ ด.ช.กฤตยชญ์ เชื้อศิริ นักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ จุดเด่นของนวัตกรรมหุ่นจำลองกายวิภาคหัวสุนัข ขนาดของหุ่นจำลองที่ใหญ่เท่ากับร่างอาจารย์จริงๆ วัสดุที่ใช้จะแตกต่างหุ่นจำลองเดิมที่เคยทำมา มีการติดตั้งวงจรในหุ่นจำลองกายวิภาคให้สามารถโต้ตอบกับผู้เรียนได้ รวมถึงการออกแบบให้มีลักษณะของการฝึกทำหัตถการได้ด้วย เพื่อเป็นการฝึกขั้นพื้นฐานให้นิสิตก่อนจะฝึกกับร่างอาจารย์ใหญ่จริงๆ

"นวัตกรรมนี้มีการพัฒนาจากงานวิจัยที่เคยทำมาให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งการสร้างสรรค์ผลงานมีความยากเพราะต้องให้ความสำคัญกับรายละเอียดทุกขึ้นตอน วัสดุที่นำมาใช้คือโฟม และฝาขวดน้ำพลาสติก ซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งนำมาสร้างคุณค่า ในการทำโมเดลมีลักษณะเป็นสามมิติสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งในต่างประเทศยังไม่มีผลงานสื่อเพื่อการเรียนการสอนเหมือนกับที่เราทำ"

ผศ.สพ.ญ.ดร.ภาวนากล่าวจากนวัตกรรมสู่แอปพลิเคชันเพื่อการเรียนการสอนที่เข้าถึงง่าย นอกจากโมเดลหุ่นจำลองกายวิภาคศาสตร์ที่พัฒนาขึ้นแล้ว ได้มีการจัดทำเป็นแอปพลิเคชันคล้ายเกมที่สามารถโต้ตอบกับผู้เรียนได้ นิสิตสามารถใช้งานใน CU NEX ทั้งในระบบ IOS และ Android จากการใช้งาน 1 ภาคการศึกษาที่ผ่านมา นิสิตสนุกสนานกับการเรียนผ่านแอปพลิเคชัน และมีประกาศนียบัตรแสดงว่าผ่านการเรียนมาแล้ว อนาคตอยากทำเป็น Virtual Anatomy เหมือนสร้างโลกคู่ขนานของห้องเรียน นิสิตสามารถเรียนผ่านโมเดลของอาจารย์ได้เสมือนจริง นอกจากนี้จะพัฒนาร่างอาจารย์ใหญ่ของสัตว์อื่นๆ นอกเหนือจากหัวสุนัขคำแนะนำในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสื่อการเรียนการสอน

ผศ.สพ.ญ.ดร.ภาวนา ฝากข้อคิดว่า "การสร้างสรรค์นวัตกรรมในรูปแบบสื่อการเรียนการสอนควร เริ่มจากการถามความต้องการของนิสิตผู้เรียนว่าอยากได้อะไร มองปัญหาที่เกิดขึ้นและหาวิธีแก้ปัญหานั้น พัฒนานวัตกรรมให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ นอกจากนี้ควรเลือกใช้วัตถุดิบที่ใกล้ตัว เพื่อที่จะสามารถพัฒนาผลงานได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญอย่าท้อ ต้องมีความอดทน แม้จะต้องลองผิดลองถูกก็ขอให้ทำต่อไป ความสำเร็จก็จะเป็นของเราในที่สุด"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ