กรุงเทพฯ--23 พ.ย.--เดนท์สุ (ประเทศไทย)
โครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น แสดงผลงานการดำเนินงาน พร้อมประกาศเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยร่วมกันอย่างบูรณาการทั้งมิติการสร้างคน สร้างธุรกิจ และสร้างเมือง มั่นใจแฟชั่นไทยมีเอกลักษณ์เป็นที่ยอมรับในระดับสากล พร้อมก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางแฟชั่นของภูมิภาคได้แน่นอน
นายปราโมทย์ วิทยาสุข อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะ ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น เปิดเผยในงานแถลงข่าวแนะนำ BFC Press Center ว่า สำนักงานโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่นได้จัดจ้างเอกชนดำเนินการโครงการย่อยทั้ง 9 โครงการเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการดำเนินงานจากนี้เป็นต้นไป จะมีการประสานความร่วมมือไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านการพัฒนาบุคลากร สร้างขีดความสามารถให้ธุรกิจอุตสาหกรรมแฟชั่น และ สร้างการยอมรับกรุงเทพฯ ในฐานะศูนย์กลางแฟชั่นของภูมิภาค
ทั้งนี้ โครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่นมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นทั้ง 3 มิติ ได้แก่ การสร้างคน สร้างธุรกิจ และ สร้างเมือง ซึ่งจากการดำเนินงานของโครงการย่อยทั้ง 9 โครงการนับว่ามีความคืบหน้ามาก และ ก่อให้เกิดผลต่อเนื่องในการกระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นในวงกว้าง ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายหลักของโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น ที่มุ่งหวังให้เกิดการจุดประกายต่อบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแฟชั่น และ ประชาชนทั่วไปเพื่อให้ได้รับทราบถึงความสำคัญ และคุณค่าของอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาอย่างบูรณาการ
มิติการสร้างคน โครงการพัฒนาบุคลากรด้านแฟชั่นหรือ BIFA เป็นโครงการแรกที่จะเสร็จสิ้นการดำเนินโครงการในเดือนมกราคม 2549 โดยจะมีการแสดงผลงานของนิสิตที่จบการศึกษาจาก BIFA ในวันที่ 19-21 ธันวาคม 2548 ในระยะเวลา 18 เดือนของการดำเนินงานพัฒนาบุคลากร และ ให้ความรู้กับสถานบันการศึกษาต่าง ๆ ทำให้วงการศึกษาตื่นตัวโดยเริ่มจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบรรจุหลักสูตรของ BIFA เป็นหลักสูตรมหาบัณฑิต ขณะที่มหาวิทยาลัยชั้นนำอีก 19 สถาบัน ตื่นตัวในการพัฒนาหลักสูตรด้านแฟชั่น ทั้งสร้างหลักสูตรใหม่ และ ปรับปรุงหลักสูตรเดิมให้ทันสมัย ด้านสถาบันอาชีวะศึกษาพัฒนาหลักสูตรแฟชั่นธุรกิจสำหรับปริญญาตรี ขณะเดียวกัน BIFA กลายเป็นต้นแบบในการก่อตั้ง Lanna International Fashion Academy เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการทอผ้าในภาคเหนือต่อไป
นอกจากนี้ Fashion Trend Center ห้องสมุดแฟชั่นแห่งแรกของไทยและเอเชียที่เพิ่งเปิดตัวไปล่าสุด ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะมีบทบาทในการพัฒนาความรู้และความสามารถของบุคลากรแฟชั่นไทย โดยเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มแฟชั่นจากทั่วโลกเพื่อพัฒนาการสร้างสินค้าให้ได้ตอบสนองตลาดในระดับสากล ซึ่งตั้งแต่เปิดให้บริการ มีความต้องการจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ให้จัดอบรมสัมมนาความรู้เกี่ยวกับแนวโน้มแฟชั่นให้กับนักเรียนและนักศึกษา นับเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ในวงกว้างขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยในอนาคตต่อไป
ด้านการสร้างธุรกิจ โครงการสร้างขีดความสามารถอุตสาหกรรมแฟชั่นทั้งสาขาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สาขาเครื่องหนังและรองเท้า และสาขาอัญมณีเครื่องประดับ ดำเนินการอบรม สัมมนา และ พัฒนาความรู้ เทคนิคการผลิตให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ โดยในการอบรม สัมมนา นอกจากจะสอนเทคนิคการผลิตที่มีประสิทธิภาพให้กับผู้ประกอบการ ยังเป็นการระดมความคิด ความรู้และหาแนวทางในการแก้ปัญหาอุปสรรคของอุตสาหกรรม รวบรวมเป็นองค์ความรู้เพื่อสร้างฐานข้อมูลในการพัฒนาขีดความสามารถอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจแฟชั่นอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม (T-DET) เปิดรับผู้เข้าร่วมอบรมในโครงการอีก 150 บริษัท และมีผู้ประกอบการ 6บริษัทร่วมพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับองค์กรธุรกิจด้านสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ตั้งแต่การออกแบบ และการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จจะส่งผลให้ราคาซอฟต์แวร์สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอ ลดลง 50% เหลือราคาที่ 5 แสน-1.5 ล้านบาท ด้านโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจแฟชั่นสาขารองเท้าและเครื่องหนังดำเนินการเตรียมฐานข้อมูลและซอฟต์แวร์สำหรับผู้ประกอบการ โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเจ้าธนบุรีได้มีการพัฒนาซอฟต์แวร์ร่วม และเตรียมฐานข้อมูลด้านการออกแบบ รวมทั้งการวิเคราะห์แบรนด์ โดยมีการแยกเซิร์ฟเวอร์อย่างชัดเจน ส่วนโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันธุรกิจแฟชั่นสาขาอัญมณีเครื่องประดับ (Jarad) ได้เริ่มดำเนินการอบรมไปแล้ว 2 รุ่น
สำหรับงานสร้างเมืองกรุงเทพฯ ให้เป็นที่ยอมรับในฐานะศูนย์กลางแฟชั่นนั้น ความสำเร็จของ Bangkok Fashion Week 2005 ที่ผ่านมาทำให้ต่างประเทศรับรู้ศักยภาพของประเทศไทย ให้ความสนใจความเคลื่อนไหววงการอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยมากขึ้น โดย Fashion Week ของไทยได้รับการบรรจุลงในปฏิทินแฟชั่นโลก และได้รับการตอบรับดีจากสื่อต่างประเทศที่เสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้ดีไซเนอร์ไทยเป็นที่รู้จักและสามารถเปิดตลาดใหม่และขยายตลาดเดิมได้ ด้านการสร้างการยอมรับในต่างประเทศ โครงการเจาะตลาดเป้าหมายนำดีไซเนอร์ไทยไปแสดงแฟชั่นโชว์และแสดงสินค้าในต่างประเทศ ล่าสุด การจัดโรดโชว์ที่ปารีสส่งผลให้เกิดการเจรจาการค้าเป็นมูลค่ากว่า 11.6 ล้านบาท ในระยะต่อไปจะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2549 โดยเริ่มจัดแสดงสินค้า In Store Promotion ที่วาฟิ มอลล์ ที่ประเทศดูไบ ในเดือนมกราคม สำหรับการเผยแพร่ศักยภาพของแฟชั่นไทยจากอดีตถึงปัจจุบันผ่านหนังสือ ในโครงการรวบรวมผลงานแฟชั่นนักออกแบบไทยนั้น หนังสือเล่มแรกชื่อ “SCREAM” ได้รับการตอบรับอย่างดี โดยมีกลุ่มผู้สนใจสั่งซื้อหนังสือผ่านเว็บ 325 ราย ดังนั้นทางบริษัทจะขยายฐานลูกค้าด้วยการจับมือกับพันธมิตรในอเมริกา เพื่อขายหนังสือผ่าน www.amazon.com โดยล่าสุด ได้มีการเปิดตัว “ Street ” หนังสือเล่มที่ 2 ของ ซีรีส์ บางกอก แฟชั่น นาว แอนด์ ทูมอร์โร เพื่อแสดงผลงานการออกแบบเสื้อผ้าประเภท Ready to Wear ผ่านถนนแฟชั่นสำคัญของกรุงเทพฯ โดยหนังสือดังกล่าวจะเริ่มจำหน่ายภายในเดือนพฤศจิกายน 2548 นี้
และล่าสุด ทางโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่นได้จัดตั้งศูนย์ BFC Press Center เพื่อให้บริการแก่สื่อมวลชน และเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น โครงการย่อย อุตสาหกรรมแฟชั่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในส่วนของ BFC Press Center นั้น ตั้งอยู่ ณ ชั้น 27 อาคารอื้อจือเหลียง ถนนพระราม 4 และที่ชั้น 6 สำนักงานโครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระราม 6
หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
วันดี ชื่นชม (ติ๊ก) - ประชาสัมพันธ์ โทร. 01-694-8203
สกุลศรี ศรีสารคาม (ไอซ์) — ประชาสัมพันธ์ โทร. 05-811-9484--จบ--