"อายุน้อยร้อยล้าน" คือ ความใฝ่ฝันของคนรุ่นใหม่ ซึ่งในโลกยุคดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำทำให้เกิด"Cryptocurrency" หรือเงินสกุลดิจิทัล ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของการเก็งกำไรที่ทำให้ได้ผลตอบแทนที่ขึ้นลงอย่างไม่คาดฝันอนาคตทางการเงินอาจดับวูบลงได้ในพริบตา หากไม่มีการศึกษาวางแผนที่ดีพอ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาวิชาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล(CMMU) กล่าวว่า รูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องรูปแบบการใช้จ่าย จากเดิมที่เคยใช้เงินสด บัตรเครดิต เมื่อเข้าสู่ช่วงวิกฤติ COVID-19 ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่หันไปใช้ระบบออนไลน์ ทั้งการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ใช้สแกน QR Code และการโอนเงิน เพื่อการใช้จ่ายแบบไร้สัมผัสกันมากขึ้น
เช่นเดียวกับการลงทุน พบว่าคนรุ่นใหม่สนใจใช้เงินสกุลดิจิทัล "Cryptocurrency" กันมากขึ้นทั่วโลก และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในประเทศไทยพบว่าเริ่มมีใช้ตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กันบ้างแล้ว
ที่น่าเป็นห่วง คือ คนไทยส่วนใหญ่ยังขาด "ทักษะทางการเงิน" หรือ "Financial Literacy" ที่เพียงพอรองรับเทคโนโลยีดังกล่าว โดยแม้ว่าในคนรุ่นใหม่จะเข้าถึงเทคโนโลยีในโลกยุคดิจิทัลได้อย่างรวดเร็วและง่ายกว่าคนรุ่นอื่นๆ แต่ประสบการณ์และความรู้ความเข้าใจอาจยังคงมีจำกัด
ซึ่ง "Cryptocurrency" เป็นการลงทุนที่มีการเก็งกำไรกันสูงแม้จะคล้ายกับการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือ "การเล่นหุ้น" แต่ "การเล่นหุ้น" ยังมี "ความน่าจะเป็น" บนพื้นฐานของ"ธุรกิจจริง" มีผลประกอบการที่ใช้พิจารณาประกอบ อาจจะผันผวนบ้างตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคง
ในขณะที่ "Cryptocurrency" มีความเสี่ยงสูงกว่า ผันผวนได้อย่างรวดเร็วตลอดเวลา อาจกลายเป็นเหมือน "แมลงเม่าบินเข้ากองไฟ" ได้ หากผู้เล่นไม่รู้จักดีพอ บางสกุลมีการหลอกลวง บางสกุลมีการปล่อยข่าวสร้างภาพให้เกิดความหวังเกินจริง
"Cryptocurrency" เป็นเงินสกุลดิจิทัล ที่เกิดจากเทคโนโลยีBlockchain ซึ่งใช้ระบบในการควบคุมการแลกเปลี่ยนซื้อขายโดยไม่ผ่านธนาคาร จึงไม่มีอะไรมารับประกันได้เลย
แม้ธุรกิจประเภท "Cryptocurrency" ในประเทศไทยจะมีผู้ประกอบการซึ่งเป็นคนไทย และควบคุมโดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แต่การควบคุมการขึ้นสูงของราคายังไม่มีกลไกที่ดีเท่ากับตลาดหลักทรัพย์
ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ซื้อขาย "Cryptocurrency" สามารถใช้เอปพลิเคชันของต่างประเทศซื้อขายกันได้โดยง่ายไร้ข้อจัด ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนหน้าใหม่ในประเทศไทยเช่นกัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร ได้แสดงความห่วงใยถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ทิ้งท้ายว่า ไม่แนะนำในกรณีที่เป็นนักเรียนนักศึกษาซึ่งต้องถึงกับเอาเงินที่ผู้ปกครองส่งมาให้เป็นค่าเทอมไปลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงจนเกิดความเสียหายกลายเป็นหนี้นอกระบบ
แม้ทุกคนมีสิทธิที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในโลกอนาคต โดยอาจลงทุนด้วย"Cryptocurrency" เก็บไว้ได้บ้างหากเงินลงทุนนั้นไม่กระทบต่อภาระที่ต้องใช้จ่ายในชีวิตปัจจุบัน
ถึงในวันนี้จะโชคดีได้เป็นเศรษฐี "อายุน้อยร้อยล้าน" แต่เพียงไม่กี่วันอาจ "พลิกฝ่ามือ" กลายเป็นสถานะตรงกันข้ามได้
จึงอยากให้มีการศึกษาข้อมูลเพื่อเรียนรู้ทำความเข้าใจให้ดีก่อนการลงทุน โดยที่จะต้องไม่ลืมเก็บออม แม้จะยังไม่ถึงวัยเกษียณ แต่การคิดเผื่อไว้ในวันที่ไม่มีรายได้จากการทำงานและการเก็บออมจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไรให้ยั่งยืนก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลยอย่างยิ่ง
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210