ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้รับเชิญจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมบรรยายหัวข้อ "การพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูประบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม" ภานใต้เวทีเสวนา ฬ.จุฬาฯ นิติมิติ ในประเด็น "กฎหมายใหม่ พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 จะส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานของมหาวิทยาลัยได้อย่างไร"
ดร. กิติพงค์ เริ่มจากการกล่าวถึงที่มาที่ไปของพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ว่าเกิดจากการที่เราหันไปมองถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จากเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วเห็นได้ชัดเจนว่าความสามารถในการแข่งขันของไทยเป็น Comparative Advantage ในเชิงของทรัพยากรและแรงงาน แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ต้องประสบกับปัญหาจากกฎผลตอบแทนลดน้อยถอยลง (Diminishing Returns) ทำให้ต้องย้อนกลับมาดูจำนวนทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) หรืองานวิจัยในประเทศ พบว่ายังมีจำนวนน้อย ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ เช่น ระยะเวลาการออกสิทธิบัตร โดยเฉพาะสิทธิบัตรการประดิษฐ์ (Invention Patent) จึงต้องพยายามหาแรงจูงใจให้สามารถพัฒนาในส่วนนี้ให้ขยับขึ้นไปได้ เป็นผลให้เกิด พ.ร.บ.ฯ นี้ขึ้น เพื่อเข้ามาช่วยปลดล็อกเรื่องการเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญา
ในประเทศไทยมีการผลักดันกฎหมายไปพร้อมกันหลายฉบับ บางฉบับออกมาเป็นกฎหมายส่งเสริม อย่างกฎหมายของปี 2562 ที่เป็นกฎหมายส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อ พ.ร.บ.ฯ นี้เกิดขึ้นก็จะเข้าไปเติมเต็มกฎหมายฉบับเดิมในเชิงของการปลดล็อกผลงานวิจัย นอกจากนี้ ยังมีการทำกฎหมายลูกออกมา อาทิ ระเบียบการให้ทุนกับเอกชนโดยตรง หรือแนวทางการจัดทำกองทุนที่ไปสนับสนุนเอกชน เช่น กองทุน Innovation Fund ที่รัฐบาลและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้เงินทุนเข้าไปสมทบกับกลุ่ม SME ซึ่งกรณีนี้ก็จะต้องปลดล็อกให้ผลงานที่เกิดจากทุนของรัฐบาลตกไปอยู่ที่ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้
"ล่าสุดสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ตั้งเป้าหมายในการนำประเทศไทยออกจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งวิธีที่จะเป็นทางออกได้คือต้องสร้าง Innovation Driven Enterprise (IDE) หรือผู้ประกอบการธุรกิจฐานนวัตกรรม เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด โดยทำได้ตั้งแต่การยกระดับ SME การเพิ่มจำนวน IDE เพื่อเป็น New Growth Engine ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และในกลุ่มสตาร์ทอัพ การจะผลักดันให้เติบโตและยั่งยืนได้ ต้องเข้าไปทำเรื่องระบบนิเวศ ทำให้สตาร์ทอัพมีเทคโนโลยีหลักหรือเทคโนโลยีขั้นสูง (Deep Tech) เป็นของตัวเอง ซึ่งสิ่งนี้จะทำได้ยากมากหากไม่ได้เชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัย เพราะในด้านวิชาการ นักวิจัย รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่จะทำนั้นอยู่ในมหาวิทยาลัยเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการจะทำให้ระบบนิเวศนี้สมบูรณ์ได้มหาวิทยาลัยต้องเข้ามาทำงานร่วมกัน" ดร. กิติพงค์ กล่าว
พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ฉบับนี้จะเข้าไปปลดล็อกให้นักวิจัย หรือผู้รับทุนที่ส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย ที่ได้รับเงินสนับสนุนของรัฐ ให้ได้เป็นผู้ถือครองสิทธิในผลงานวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญาของผลงานวิจัยนั้น โดยกฎหมายฉบับนี้มีเป้าหมายคือต้องการให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ซึ่งตัวนักวิจัยเพียงลำพังอาจไม่สามารถผลักดันงานวิจัยนั้นออกไปได้ มหาวิทยาลัยจึงต้องเข้ามามีบทบาทในการผลักดันด้วย อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้ได้พูดถึงเรื่องข้อกำหนดในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ภายในเวลา 2 ปี แต่กรณีไม่ใช้ประโยชน์ก่อนครบระยะเวลาที่กำหนด สามารถยื่นคำขอพร้อมแสดงหลักฐานความพยายามในการใช้ประโยชน์ได้ จึงถือเป็นอีกสิทธิประโยชน์ที่นักวิจัยสามารถทำได้
สำหรับข้อสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้มีทั้งหมด 23 มาตรา โดยแบ่งเป็น 6 หัวข้อย่อย ได้แก่ ขอบเขตการบังคับใช้กฎหมาย, ขั้นตอนการเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม, การนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์, เมื่อผลงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นของหน่วยงานรัฐ, การใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็น "เทคโนโลยีที่เหมาะสม", และการบังคับใช้สิทธิ โดยกฎหมายนี้ได้มีการประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 และจะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วันข้างหน้า และในระหว่างนี้ สอวช. และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จะต้องดำเนินการจัดทำรายละเอียดของกฎหมายลูกเพิ่มเติมต่อไป
ดร. กิติพงค์ ยังได้กล่าวถึงกลไกการจัดตั้ง University Holding Company ที่มีความเกี่ยวข้องกันกับ พ.ร.บ. ดังกล่าว เนื่องจากเมื่อปลดล็อกให้ผลงานวิจัยไปอยู่ที่มหาวิทยาลัยแล้ว จะต้องดูว่ามหาวิทยาลัยจะมีความสามารถในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างไร โดยสภานโยบายฯ ได้ออกแนวทางส่งเสริมการจัดตั้ง Holding Company ในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยขึ้นมา เพื่อส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยสามารถนำเงินรายได้ไปร่วมลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมได้ ทำให้มหาวิทยาลัยให้มีความสามารถในการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรม ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีการจัดตั้งเป็น Holding Company แล้ว 5 แห่ง ได้แก่ CU Enterprise ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, บจก. อ่างแก้ว โฮลดิ้ง ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, บจก. M Venturer ของมหาวิทยาลัยมหิดล, บริษัท นววิวรรธ จำกัด ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.), และ TUIP ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์