บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BAFS เป็นลบ จากมีเสถียรภาพ และคงอันดับเครดิตดังกล่าวที่ 'BBB+(tha)' ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของบริษัทฯ ที่ 'F2(tha)' และคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวสำหรับหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีประกันของบริษัทฯที่ 'BBB+(tha)'
แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ สะท้อนถึงความเสี่ยงที่ BAFS ต้องเผชิญในการลดอัตราส่วนหนี้สินให้ลงมาอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันในช่วง 18-24 เดือนข้างหน้า ซึ่งรวมถึงการอุบัติขึ้นของเชื้อไวรัสโคโรนากลายพันธุ์สายพันธุ์โอไมครอน ที่อาจส่งผลให้มีการปิดเมือง (Lockdown) และการบังคับใช้ข้อจำกัดในการเดินทางต่างๆ อีกครั้ง ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวของการเดินทางทางอากาศทั่วโลกล่าช้าออกไป และอาจส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของ BAFS ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินของ BAFS ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป
นอกจากนี้ ฟิทช์ยังเชื่อว่าธุรกิจท่อขนส่งน้ำมันของ BAFS ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด หรือ FPT ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ก็น่าจะอ่อนแอกว่าที่ฟิทช์เคยคาดการณ์ไว้ เว้นแต่จะมีการใช้จ่ายลงทุนในระดับสูงสำหรับโครงการเชื่อมระบบท่อขนส่งน้ำมัน ซึ่งรายละเอียดของโครงการเชื่อมท่อขนส่งน้ำมันดังกล่าว รวมถึงแผนการจัดหาเงินทุน ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ดังนั้น ฟิทช์จึงไม่ได้รวมโครงการเชื่อมท่อขนส่งน้ำมันดังกล่าวไว้ในประมาณการ
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
อัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับสูง: ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ BAFS ที่วัดจากหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในเงินทุนหมุนเวียน (FFO net leverage) จะเพิ่มขึ้นอย่างมากมาอยู่ที่ระดับ 35 เท่า ถึง 40 เท่า ณ สิ้นปี 2564 (ปี 2563 อยู่ที่ 23 เท่า) ก่อนที่จะลดลงมาอยู่ในระดับ 10 เท่าในปี 2565 และ 5 เท่าถึง 6 เท่าในปี 2566 ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ของฟิทช์ในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก อัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง มีสาเหตุมาจากปริมาณการสัญจรทางอากาศที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ หลังจากการระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยยังคงมีการจำกัดการเข้าออกประเทศ ซึ่งทำให้การเดินทางทางอากาศถูกจำกัด รวมถึงการลงทุนของ BAFS ที่อยู่ในระดับสูงรวม 2.7 พันล้านบาท ซึ่งใช้แหล่งเงินทุนจากเงินกู้ยืม โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น
ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินของ BAFS จะเริ่มลดลงในปี 2565 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของธุรกิจการบิน หลังจากที่ประเทศไทยได้เปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ในขณะเดียวกัน บริษัทย่อยในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพิ่งเข้าลงทุน ก็น่าจะทำให้ BAFS มีกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอเพิ่มเข้ามา แม้ว่าจะอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับเงินลงทุนที่ใช้ไป
การฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะสั้น: ฟิทช์คาดว่าปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานของ BAFS ในปี 2564 จะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 25-30 ของปริมาณการเติมน้ำมันในปี 2562 ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา เนื่องจากข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศโดยส่วนใหญ่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงเกือบตลอดทั้งปี ฟิทช์คาดว่าปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 55 และร้อยละ 85 ของระดับก่อนการเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ในปี 2565 และปี 2566 ตามลำดับ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่ประเทศไทยได้เปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 และอัตราการฉีดวัคซีนที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก
ทั้งนี้ ฟิทช์ไม่คาดว่าการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินจะเป็นไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากระดับความแตกต่างของอัตราการฉีดวัคซีนในประเทศที่มีเศรษฐกิจพัฒนาแล้วและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ยังคงมีอยู่ รวมถึงความเป็นไปได้ของการระบาดระลอกใหม่ของโควิด 19 อย่างไรก็ตาม ประมาณการของฟิทช์ อยู่บนสมมติฐานว่าข้อจำกัดการเดินทางต่างๆ ที่อาจถูกนำมาบังคับใช้อีกครั้ง จะเป็นลักษณะเฉพาะพื้นที่ หรือในช่วงเวลาสั้น และมีความเข้มงวดน้อยกว่ามาตรการที่ใช้ในปี 2563
ธุรกิจท่อขนส่งน้ำมันที่อาจอ่อนแอกว่าคาด: โครงการท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือของประเทศไทยทั้ง 2 ระยะได้ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 อย่างไรก็ตามผลประกอบการของธุรกิจดังกล่าวในช่วง 12-24 เดือนข้างหน้าอาจอ่อนแอกว่าที่ฟิทช์เคยคาดการณ์ไว้เดิม เนื่องจากการเลื่อนโครงการเชื่อมระบบท่อขนส่งน้ำมัน FPT วางแผนที่จะเชื่อมระบบท่อขนส่งน้ำมันของบริษัทฯ กับระบบท่อขนส่งน้ำมันอีกระบบ ซึ่งจะทำให้ระบบท่อขนส่งน้ำมันของ FPT สามารถรับปริมาณน้ำมันจากคลังน้ำมันบริเวณชายฝั่งภาคตะวันออกของประเทศไทยได้ BAFS คาดว่า FPT อาจต้องใช้เวลานานขึ้น 4-5 ปีในการเพิ่มปริมาณขนส่งน้ำมันให้ได้ถึงระดับที่วางแผนไว้เดิม หากไม่มีการเชื่อมระบบท่อขนส่งน้ำมันดังกล่าว
ค่าใช้จ่ายลงทุนเพิ่มเติมเกี่ยวกับท่อขนส่งน้ำมัน: เนื่องจากปัจจัยทางด้านเทคนิค FPT ได้ประเมินค่าใช้จ่ายลงทุนสำหรับโครงการเชื่อมระบบท่อขนส่งน้ำมันใหม่และพบว่าค่าใช้จ่ายลงทุนที่ประเมินใหม่เพิ่มสูงขึ้นกว่าที่เคยวางแผนไว้เดิมมาก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากรายละเอียดของโครงการเชื่อมระบบท่อขนส่งดังกล่าว รวมถึงแผนการจัดหาเงินทุน ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ดังนั้น ฟิทช์จึงไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายลงทุนและแผนการจัดหาเงินทุนสำหรับโครงการเชื่อมท่อระบบขนส่งดังกล่าวไว้ในประมาณการ รวมทั้งนำรายได้ส่วนเพิ่มที่เคยคาดว่าจะได้รับภายหลังการเชื่อมระบบท่อขนส่งแล้วเสร็จในปี 2566 ออกจากประมาณการด้วย
สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในธุรกิจเติมน้ำมันอากาศยาน: BAFS เป็นผู้ให้บริการคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน (Depot Service) และเครือข่ายท่อจ่ายน้ำมันอากาศยาน (Hydrant Pipeline Network) แต่เพียงรายเดียว และเป็นผู้ให้บริการหลักในการเติมน้ำมันอากาศยาน (โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 89) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมถึงเป็นผู้ให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานแต่เพียงรายเดียว ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเป็นท่าอากาศยานนานาชาติที่รองรับสายการบินต้นทุนต่ำ BAFS อยู่ในธุรกิจที่มีการแข่งขันน้อย เนื่องจากผู้ให้บริการต้องได้รับสัมปทานจากท่าอากาศยานนั้นๆ จึงจะให้บริการได้
ความเสี่ยงต่อความผันผวนของราคาน้ำมันที่จำกัด: BAFS ไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน เนื่องจาก BAFS จะเรียกเก็บเฉพาะค่าบริการเติมน้ำมันจากบริษัทน้ำมันเท่านั้น (โดยบริษัทน้ำมันเป็นผู้ขายน้ำมันให้แก่สายการบิน) นอกจากนี้ ต้นทุนหลักของ BAFS เป็นค่าสัมปทานซึ่งเป็นอัตราที่ตกลงกันก่อนตามสัญญา ทำให้อัตราส่วนความสามารถในการทำกำไรของ BAFS ค่อนข้างคงที่
รายได้ที่สม่ำเสมอจากธุรกิจพลังงานหมุนเวียน: แม้ว่าแนวโน้มในอนาคตของธุรกิจการบินจะอ่อนแอลงจากก่อนเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส แต่การที่ BAFS ได้ขยายธุรกิจไปยังธุรกิจพลังงานหมุนเวียน น่าจะช่วยสนับสนุนสถานะทางธุรกิจของ BAFS ในช่วง 3-4 ปีข้างหน้าให้ยังคงแข็งแกร่ง จากกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ ขึ้นอยู่กับระดับของความเสี่ยงจากแหล่งพลังงาน โดยโครงการพลังงานหมุนเวียนได้รับประโยชน์จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวที่มีอายุเฉลี่ย 20-25 ปีกับคู่สัญญาที่มีความแข็งแกร่ง ได้แก่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และบริษัทชั้นนำในธุรกิจพลังงานไฟฟ้าสำหรับโครงการในประเทศญี่ปุ่น
อันดับเครดิตของบริษัทฯ และหนี้ไม่มีประกันอยู่ในระดับเดียวกัน: ฟิทช์ไม่ได้ปรับลดอันดับเครดิตสำหรับหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีประกันของบริษัทฯ ลงจากอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัทฯ เนื่องจากฟิทช์เห็นว่าอัตราการได้รับชำระหนี้คืนของเจ้าหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีประกันของบริษัทฯ น่าจะอยู่ในระดับเฉลี่ยเป็นอย่างน้อย หนี้ที่มีหลักประกันส่วนใหญ่เป็นหนี้ของบริษัทย่อยหลักของ BAFS ที่มีการดำเนินงานได้แก่ FPT ซึ่งทำให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันของ BAFS มีสถานะด้อยสิทธิกว่าในเชิงโครงสร้าง (Structural Subordination) ในขณะที่ หนี้สินประเภทสินเชื่อโครงการ (Project Finance) ของบริษัทย่อย ในธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพิ่งเข้าลงทุน ก็ทำให้เจ้าหนี้ไม่มีประกันของ BAFS มีสถานะด้อยสิทธิมากขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จำกัด หรือ TARCO บริษัทย่อยหลักอีกแห่งของ BAFS ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายท่อจ่ายน้ำมันอากาศยานใต้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีหนี้ที่อยู่ในระดับต่ำมาก ดังนั้น รายได้ที่น่าจะมีความสม่ำเสมอของ BAFS และ TARCO หลังจากปี 2565 และความสามารถของ BAFS ในการเข้าถึงกระแสเงินสดของ TARCO รวมถึงหนี้สินในระดับของ BAFS โดยลำพังที่ไม่ได้อยู่ในระดับสูงมากนัก น่าจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนให้อัตราการได้รับชำระหนี้คืนของเจ้าหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิและไม่มีประกันของ BAFS อยู่ในระดับเฉลี่ยดังกล่าว
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
ลักษณะของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ BAFS มีความคล้ายคลึงกับบริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด (มหาชน) หรือ NNEG (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A-(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่มีรายได้ร้อยละ 70-80 มาจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (BBB+/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ดังนั้น ทั้งสองบริษัทจึงมีรายได้ที่สม่ำเสมอและสามารถคาดการณ์ได้ อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดของ BAFS ได้รับผลกระทบชั่วคราวจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลก ในขณะที่ธุรกิจของ NNEG ได้รับผลกระทบที่น้อยกว่ามาก BAFS มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่าและมีการกระจายความเสี่ยงที่ดีกว่า NNEG ซึ่งมีการกระจุกตัวของทรัพย์สินในทำเลที่ตั้งเดียวและดำเนินธุรกิจเพียงอย่างเดียว อัตราส่วนหนี้สินของ BAFS ที่เคยอยู่ในระดับต่ำกว่า NNEG ได้เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าระดับอัตราส่วนหนี้สินของ NNEG เป็นอย่างมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส อัตราส่วนหนี้สินของ BAFS น่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราส่วนหนี้สินของ NNEG ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากการลงทุนที่อยู่ในระดับสูงของ BAFS ในปี 2564 ดังนั้น BAFS จึงมีอันดับเครดิตต่ำกว่า NNEG หนึ่งอันดับเนื่องจากสถานะทางการเงินที่อ่อนแอกว่าเป็นอย่างมาก
ลักษณะของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ BAFS มีความคล้ายคลึงกับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC (A+(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ/ สถานะเครดิตโดยลำพังที่ a-(tha)) เช่นเดียวกันกับ NNEG GPSC มีรายได้ที่สม่ำเสมอและสามารถคาดการณ์ได้ จากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว อย่างไรก็ตาม GPSC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่า BAFS เนื่องจากการกระจายความเสี่ยงของสินทรัพย์และรายได้ที่ดีกว่า อัตราส่วนหนี้สินของ GPSC ในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำกว่า BAFS แต่น่าจะเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากค่าใช้จ่ายลงทุนที่อยู่ในระดับสูงของ GPSC ดังนั้น BAFS จึงมีอันดับเครดิตต่ำกว่าสถานะเครดิตโดยลำพังของ GPSC หนึ่งอันดับ
เช่นเดียวกับ BAFS บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF (BBB-(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาและบริหารศูนย์การค้าขนาดกลางภายใต้แนวความคิดศูนย์การค้าชุมชนในประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเป็นอย่างมาก ธุรกิจของ SF ถือว่ามีรายได้ที่สามารถคาดการณ์ได้อยู่ในระดับสูงเนื่องจากมีสัญญาเช่าระยะปานกลางถึงยาวกับผู้เช่ารองรับ แต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ทำให้ SF ต้องให้ส่วนลดค่าเช่าจำนวนมากแก่ผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบ SF มีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า BAFS และเผชิญกับการแข่งขันที่สูงกว่า อัตราส่วนหนี้สินของทั้งสองบริษัทน่าจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ดังนั้น BAFS จึงมีอันดับเครดิตที่สูงกว่า SF สองอันดับเนื่องจากสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่าเป็นอย่างมาก
สมมุติฐานที่สำคัญ
สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- ปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยานลดลงในอัตราร้อยละ 29 ในปี 2564 มาอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 27 ของระดับก่อนการเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัส (ปี 2563 อยู่ในระดับร้อยละ 38) และฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 55 ของระดับก่อนการเกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในปี 2565 และร้อยละ 85 ในปี 2566
- ปริมาณน้ำมันที่ขนส่งผ่านท่อของ FPT ในปี 2564 อยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2563 โดยปริมาณขนส่งน้ำมันอากาศยานที่ลดลงร้อยละ 28-29 ได้รับการชดเชยจากปริมาณขนส่งน้ำมันภาคพื้นดินที่เพิ่มขึ้น ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเปิดดำเนินการของท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือของประเทศไทยระยะที่ 2 ตั้งแต่เดือนกันยายน 2564; ปริมาณน้ำมันที่ขนส่งผ่านท่อของ FPT เพิ่มขึ้นร้อยละ 30-32 ในปี 2565 และร้อยละ 22-24 ในปี 2566 ทั้งนี้อยู่บนสมมติฐานว่าไม่มีการเชื่อมระบบท่อขนส่งน้ำมัน
- อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ (EBITDA Margin) ลดลงมาอยู่ในระดับร้อยละ 14-15 ในปี 2564 (ปี 2563 อยู่ที่ ร้อยละ 17.4) และเพิ่มกลับขึ้นมาอยู่ในระดับร้อยละ 40 ในปี 2565 และร้อยละ 50-52 ในปี 2566 ตามการฟื้นตัวของปริมาณการเติมน้ำมันอากาศยาน
- ค่าใช้จ่ายลงทุนจำนวนประมาณ 1.1 พันล้านบาทในปี 2564 จำนวน 250 ล้าน- 350 ล้านบาทต่อปีในปี 2565-2566
- ไม่มีการรวมค่าใช้จ่ายลงทุนในโครงการเชื่อมระบบท่อขนส่งและการลงทุนเพิ่มเติมในปี 2565-2566
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
-แนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับกลับมาเป็นมีเสถียรภาพได้ หากอัตราส่วนหนี้สินที่วัดจากหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในเงินทุนหมุนเวียน (FFO net leverage) ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 6.0 เท่าได้ภายในปี 2566
ปัจจัยลบ:
-อัตราส่วนหนี้สินที่วัดจากหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในเงินทุนหมุนเวียน (FFO net leverage) ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 6.0 เท่าหลังจากปี 2566
สภาพคล่อง
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ: BAFS มีหนี้สินทั้งหมดจำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 โดยหนี้สินจำนวนประมาณ 1.5 พันล้านบาทจะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตาม หลังจากสิ้นเดือนกันยายน 2564 หนี้สินจำนวนประมาณ 320 ล้านบาทได้รับการเลื่อนกำหนดชำระหนี้ออกไปเป็นปี 2566 ในขณะที่เงินกู้ระยะสั้นจำนวน 700 ล้านบาทน่าจะสามารถต่ออายุออกไปหากมีความจำเป็น สภาพคล่องของ BAFS ยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากยอดเงินสดคงเหลือและเงินลงทุนระยะสั้นที่มีสภาพคล่องเทียบเท่าเงินสด (ตามคำจำกัดความของฟิทช์) จำนวน 1.1 พันล้านบาท และวงเงินสินเชื่อแบบผูกพันไว้แล้วที่ยังไม่ได้เบิกถอน (Undrawn Committed Facility) จำนวน 500 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564
ลักษณะธุรกิจ
BAFS เป็นผู้ให้บริการคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน และเครือข่ายท่อจ่ายน้ำมันอากาศยาน และเป็นผู้ให้บริการหลักในการเติมน้ำมันอากาศยาน ณ ท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 2 แห่ง BAFS มีบริษัทย่อยที่ BAFS ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 72 ซึ่งเป็นผู้ให้บริการขนส่งน้ำมันทางท่อ จากคลังน้ำมันบางจากไปยังท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่งและเป็นเจ้าของระบบท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคเหนือระบบแรกของประเทศไทย นอกจากนี้ BAFS ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีกำลังผลิตรวม 36 เมกะวัตต์ในประเทศไทยและ 13 เมกะวัตต์ในประเทศญี่ปุ่น