แพทย์เตือนปวดเข่าเรื้อรังในผู้สูงอายุควรเฝ้าระวัง หากปล่อยไว้อาจส่งผลปัญหาบานปลาย

ข่าวทั่วไป Thursday December 9, 2021 15:20 —ThaiPR.net

แพทย์เตือนปวดเข่าเรื้อรังในผู้สูงอายุควรเฝ้าระวัง หากปล่อยไว้อาจส่งผลปัญหาบานปลาย

ปวดเข่าอาการทั่วไปที่สามารถพบได้บ่อย โดยปกติอาการปวดเข่าเคล็ดขัดยอกทั่วไป จะปวดประมาณ 1-2 อาทิตย์ และอาการค่อยๆดีขึ้น แต่หากอาการยังไม่ดีขึ้น และปล่อยให้ปวดเรื้อรังอาจส่งผลต่อปัญหาข้อเข่าและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่ภาวะความแข็งแรงของกระดูกน้อยลง และเกิดภาวะเสื่อมของร่างกายที่เกิดขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยข้อเข่าประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ อาทิ กระดูกสะบ้า กระดูกอ่อน น้ำหล่อลื่นผิวข้อเข่า เยื่อหุ้มข้อ หมอนรองกระดูก เส้นเอ็นต่าง ๆ ทั้งเอ็นไขว้หน้า เอ็นไขว้หลัง เอ็นด้านใน เอ็นด้านนอก ซึ่งทุกส่วนจะประกอบกันเพื่อให้ข้อเข่าแข็งแรงและสามารถเคลื่อนไหวในการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากองค์ประกอบต่าง ๆ เกิดการบาดเจ็บสึกหรอแล้ว ก็จะส่งผลให้เกิดอาการปวดเข่าขึ้น และหากปล่อยให้ปวดเรื้อรัง ก็จะส่งผลให้อาการรุนแรง หรือยากต่อการกับมาใช้ชีวิตให้เหมือนปกติ หรือหากปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลต่อข้อเข่าเสื่อมได้

นายแพทย์นิธิวุฒิ ปิ่นสิรานนท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ โรงพยาบาลนครธนกล่าวว่า โรคข้อเข่าเสื่อม พบมากในผู้สูงวัยอายุ 50 ปีขึ้นไป เกิดจากความเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อที่อยู่ตรงกลางระหว่างข้อเข่าเกิดการสึกหรอ ฉีกขาด เริ่มบางลง เสื่อมสมรรถภาพตามวัย รวมถึงน้ำในข้อหล่อลื่นภายในผิวข้อเข่าน้อยลง จึงทำให้เกิดการเสียดสีกันของกระดูกข้อเข่าจนเกิดการสึกหรอ ทำให้การทำงานของกระดูกข้อต่อ และกระดูกบริเวณใกล้ข้อเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งหากปล่อยไว้ก็อาจส่งผลให้เกิดการอักเสบ หรือส่งผลให้เกิดการปวดเข่า ความเสียหายรุนแรง หรือความเสื่อมของข้อเข่าเพิ่มขึ้น โดยปัจจัยที่ก่อให้เกิดข้อเข่าเสื่อมนั้นหลักๆมาจากวัยที่เพิ่มขึ้น น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น อุบัติเหตุที่เคยเกิดขึ้นกับข้อเข่า ข้อเข่าหลุดหลวม มีประวัติเป็นโรคข้ออักเสบ โรครูมาตอยด์ หรือพันธุกรรม โดยจะเริ่มมีอาการปวดเข่าจากด้านในหลังหัวเข่า โดยจะปวดเมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น เดิน ขึ้นลงบันได ออกกำลังกาย และจะทุเลาเมื่อหยุดพัก หากปล่อยไว้จนมีอาการรุนแรง จะปวดมากขึ้น ข้อเข่าฝืดตึง มีเสียงลั่นในข้อดังกรอบแกรบ เข่าโกง เข่าผิดรูป ไม่สามารถเดินได้ไกล ไม่สามารถนั่งคุกเข่า หรือนั่งพับเพียบได้ แม้เวลานอนพลิกตัวก็ปวด หากปล่อยไว้นอกจากผู้สูงอายุต้องทนทุกข์ทรมานจากการปวดเข่ายังส่งผลต่อสภาพจิตใจและเพิ่มความเสียหายต่อข้อเข่าเพิ่มขึ้น

อาการปวดข้อเข่าในผู้สูงอายุนอกจากเกิดจากโรคข้อเข่าเสื่อมแล้ว ยังเกิดจากหลายสาเหตุได้อีกด้วย การบาดเจ็บของเส้นเอ็น โดยเส้นเอ็นข้อเข่าจะทำหน้าที่พยุงและยึดกระดูกให้เชื่อมต่อกันให้ข้อเข่ามั่นคงขณะเคลื่อนไหว และควบคุมการทรงตัว ในขณะที่วิ่ง กระโดด หรือเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวกะทันหัน หากเคลื่อนไหวผิดท่า หรือได้รับการกระแทกอย่างรุนแรง อาจส่งผลต่อการบาดเจ็บของเส้นเอ็นได้ หรือเกิดจากการใช้งานของหัวเข่าซ้ำ ๆ หรือเกิดการบาดเจ็บที่ข้อเข่ารุนแรง ทำให้เกิดการอักเสบ เช่น นั่งงอเข่า หกล้มหัวเข่ากระแทกพื้น การเคลื่อนไหวข้อเข่าซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน รวมถึงการเสื่อมสภาพของเส้นเอ็นที่ก่อให้เกิดการอักเสบได้ง่าย เป็นต้น โดยจะมีอาการปวดบริเวณหัวเข่า หัวเข่าบวมแดง ปวดร้อนบริเวณหัวเข่าร่วมด้วย เดินแล้วเจ็บเข่า หรือเวลางอเข่าแล้วรู้สึกเจ็บ

การบาดเจ็บกระดูกอ่อนลูกสะบ้า เกิดจากการใช้งานบริเวณหัวเข่าซ้ำ ๆ จึงทำให้เกิดการอักเสบ บริเวณผิวกระดูกอ่อนลูกสะบ้าไม่เรียบขรุขระ เกิดการสึกหรอ โดยอาจเกิดจาก การนั่งงอเข่า นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ การขึ้นลงบันได โดยจะเกิดอาการปวด เสียว แปล๊บบริเวณหน้าข้อเข่า เมื่อมีการงอเข่าแล้วเหยียดเข่าออกโดยจะเกิดอาการปวดชั่วขณะนั้น หากปล่อยให้เรื้อรังไม่รีบรักษา อาจส่งผลต่อการเกิดข้อเข่าเสื่อมได้

โรคข้ออักเสบบางชนิด ที่ก่อให้เกิดอาการปวดข้อเข่า เช่น โรคเกาท์ โรครูมาตอยด์ อาจมีอาการบวมแดงอักเสบร่วมด้วย โดยอาการปวดจะไม่เกิดร่วมกับการเคลื่อนไหวข้อเข่า แต่มักจะเกิดในช่วงพักผ่อน ช่วงตอนกลางคืน ตอนเช้า หากปล่อยไว้อาจก่อให้เกิดข้อติด หรือทำลายกระดูก และข้อผิดรูปได้

ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าในปัจจุบันมีแนวทางการรักษาที่หลากหลายพร้อมช่วยลดการเกิดปัญหาที่ซับซ้อนและช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติเร็วขึ้น ทั้งรูปแบบการรับประทานยา การกายภาพบำบัด การฉีดยา และการผ่าตัดแผลเล็ก และการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น การรีบรักษาตรงจุดให้เร็วเท่าไหร่ ยิ่งส่งผลดีต่อการรักษาและลดการแทรกซ้อนของโรคอื่น ๆ ที่จะตามมาได้ เพราะการที่ปล่อยให้ผู้สูงอายุปวดเข่า นอกจากอาจส่งผลให้เกิดข้อเข่าเสื่อมได้แล้ว ยังส่งผลต่อปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา เช่น สะโพก หลังของผู้สูงอายุได้ แนวทางการป้องกันควรควบคุมดูแลน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ไม่ปล่อยให้น้ำหนักมากเกินไปที่อาจส่งผลต่อการกดทับของข้อเข่าได้ หลีกเลี่ยงการอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ เช่น การนั่งขัดสมาธิ การนั่งยอง ๆ การยืน ควรนั่งบนเก้าอี้และทิ้งน้ำหนักขาสองข้างลงมาให้เหมาะสม การยืนควรทิ้งน้ำหนักลงขาทั้งสองข้างให้เท่ากัน ไม่ทิ้งน้ำหนักไว้ขาข้างใดข้างหนึ่ง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเน้นการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขา และกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า เพื่อให้มีกล้ามเนื้อในการช่วยพยุงข้อเข่าในการเดิน ช่วยลดอาการปวดเข่าได้ การเดิน หรือเดินเร็วในน้ำ รวมถึงการปั่นจักรยานเบาๆ ก็สามารถช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อให้ผู้สูงอายุได้ดี

Doctor Quote: การปล่อยให้ผู้สูงอายุปวดข้อเข่าเรื้อรังจะทำให้การทรงตัวและรับน้ำหนักได้ไม่เต็มที่อาจเกิดการหกล้ม หรือการเดินที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ส่งผลต่อข้อสะโพก และหลังได้ ควรรีบรับการรักษาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

โรงพยาบาลนครธน ตั้งอยู่ในทำเลย่านพระราม 2 สะดวกเข้าถึงง่าย และเปิดการสื่อสารสะดวกหลากหลายช่องทางสำหรับทุกเจนเนอเรชัน ทั้งผ่านระบบโทรศัพท์ โทร.02-450-9999 บริการคอนแทคเซ็นเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมงและออนไลน์แพลตฟอร์มทางเว็บไซต์ www.nakornthon.com สามารถนัดหมายแพทย์เฉพาะทางและ บริการถาม-ตอบปัญหาสุขภาพผ่าน LINE official @Nakornthon และเฟซบุ๊กเพจ FB: Nakornthon Hospital บริการให้ข้อมูลรวมถึงติดตามข่าวสารและข้อมูลการรักษาเพิ่มเติมได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้โรงพยาบาลยังเข้าถึงผู้รับบริการต่างชาติ(กลุ่มคนจีน) ผ่านทาง Weibo และ WeChat ตอบโจทย์คนในแต่ละพื้นที่บริการได้อย่างครบครัน   ด้วยการดูแลอย่างเข้าใจดุจญาติมิตรทุกขั้นตอนจากการตรวจรักษาไปจนถึงการฟื้นฟูด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ มุ่งเน้นให้ความคุ้มค่าเหนือราคา

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ