โรคซึมเศร้า.. ทำไม? ถึงน่ากลัว!
ช่วงนี้รามักจะเห็นข่าวเรื่องการเสียชีวิตจากโรคซึมเศร้ากันบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดก็ถือเป็นข่าวเศร้าอีกข่าวหนึ่งของคนวงการบันเทิงกับการจากไปของนักร้องชื่อดังท่านหนึ่ง ที่เสียชีวิตด้วยโรคซึมเศร้า...
มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่มีภาวะซึมเศร้า บางคนเป็นโดยไม่รู้ตัว ทำให้ไม่ได้รับการรักษา การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้หมายความว่าคนๆ นั้นจะเป็นคนอ่อนแอ คิดมาก เอาแต่ท้อแท้ ซึมเศร้า จริงๆ แล้วมันเป็นอาการของโรค หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม โรคนี้ก็จะทุเลาหรือหายเป็นปกติได้
โรคซึมเศร้าเกิดจากความผิดปกติของสมองในส่วนที่มีผลกระทบต่อความคิด อารมณ์ ความรู้สึก พฤติกรรม รวมถึงสุขภาพทางกาย ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าประกอบไปด้วยพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม การใช้ยาบางชนิด การใช้ชีวิตหรือแม้แต่ความเครียดก็มีส่วนทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ (ความเครียดนั้นส่งผลเสียทั้งร่างกายและจิตใจ เมื่อเริ่มรู้สึกว่ามีอาการเครียด ลองฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อเพื่อลดความเครียด ซึ่งเป็นวิธีง่ายๆ สามารถทำได้ด้วยตนเองคลิกเลย >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/1683)
การส่งสัญญาณเตือนเท่ากับการส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือของผู้ที่มีความเสี่ยงภาวะซึมเศร้าครอบครัว หรือคนใกล้ชิด ต้องคอยสังเกตสัญญาณเตือนให้ดีหากพบว่ามีอาการดังต่อไปนี้ เช่น มีอาการเศร้า เบื่อ เซ็ง แยกตัว นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ลบ หรือโพสต์ข้อความเชิงสั่งเสีย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ หมดหวังในชีวิต ซึ่งเป็นอาการบ่งบอกของโรคซึมเศร้าและเป็นสัญญาณเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย เมื่อพบเห็นให้รีบเข้าไปพูดคุยช่วยเหลือพร้อมรับฟังปัญหาและให้กำลังใจ
5 สัญญาณ ในโซเชียลที่หากเราสังเกตเห็นเพื่อนหรือ คนใกล้ชิด โพสต์ ข้อความทำนองนี้ ให้ระวังไว้ เพราะมีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายสูง
ส่วนการตรวจและรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า แพทย์จะเริ่มจากการสอบถามอาการ ผลกระทบที่เกิดขึ้น และระดับความรุนแรง ลักษณะการใช้ชีวิตประจำวัน โรคประจำตัว ยาที่กินอยู่ รวมถึงประวัติครอบครัว โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะประเมินร่วมกับบุคลิกภาพที่สังเกตได้ รวมกับการทำแบบทดสอบทางจิตวิทยา เพื่อนำผลมาประเมินว่าผู้ป่วยควรได้รับการรักษาในแนวทางใด เช่น การรักษาด้วยยา การใช้จิตบำบัด
นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีการรักษาด้วยเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ TMS ที่เป็นอีกหนี่งทางเลือกในการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยใช้หลักการกระตุ้นด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเฉพาะส่วน ทำให้เซลล์สมองกลับมาฟื้นฟูทำงานได้ เป็นการรักษาที่ไม่มีผลข้างเคียงต่อร่างกาย ซึ่งจะต้องทำติดต่อกันอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ขึ้นไป จึงจะเห็นผลการรักษาที่ชัดเจน.. TMS ทางเลือกใหม่รักษาโรคซึมเศร้าและแบบประเมินภาวะซึมเศร้าคลิกอ่านข้อมูล >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/803
การดูแลตัวเองให้ห่างไกลโรคซึมเศร้านั้น อันดับแรกเราต้องดูแลสุขภาพให้ดี ด้วยการออกกำลังกาย พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ และเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง
ด้านจิตใจฝึกให้เป็นคนคิดบวก มองโลกในแง่ดีไม่คิดร้ายกับใคร มองเห็นคุณค่าในตัวเอง หางานอดิเรกทำหรือเป็นจิตอาสาช่วยเหลือสังคมเมื่อมีโอกาส รู้ว่าใครรักและเป็นห่วงก็ให้อยู่ใกล้คนๆ นั้น และควรหาเวลาออกไปทำกิจกรรมที่สนุกสนาน ไม่เคร่งเครียดหรือทำงานหนักเกินไป ไม่ควรดูข่าวที่ทำให้จิตใจหดหู่มากไป หรือหากมีการใช้ยาเพื่อรักษาโรคใดๆ อยู่ไม่ควรหยุดยาเอง โดยเฉพาะถ้ารักษาโรคด้านจิตเวชอยู่ควรกินยาตามแพทย์สั่ง ห้ามหยุดยาเองเด็ดขาด...