กระทรวงแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสำนักพัฒนาผู้ฝึกและเทคโนโลยีการฝึก ติวเข้มบุคลากร "เครื่องมือวัด พิกัด 3 มิติ" ก่อนขยายผลยกระดับทักษะฝีมือให้แก่แรงงาน รองรับภาคอุตสาหกรรมหลังเปิดประเทศ
เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มอบหมายให้ นายสุทธิพงษ์ โกศลวิริยะกิจ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นประธานในพิธีเปิดฝึกอบรมหลักสูตร การใช้เครื่องมือวัด 3 มิติ CMM (Coordinate Measuring Machine) ระยะเวลาการฝึก 30 ชั่วโมง ให้แก่เจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน จำนวน 20 คน เพื่อพัฒนาบุคลากรฝึกของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีความรู้ความสามารถและพร้อมขยายผลการฝึกอบรม Upskill ทักษะที่จำเป็นให้แก่แรงงานรองรับเทคโนโลยีการผลิตภาคอุตสาหกรรมยุคใหม่ ซึ่งมีมาตรฐานความถูกต้องแม่นยำสูงมาก ดังนั้นหลักสูตรนี้จึงเน้นการวัดขนาดรูปทรงเรขาคณิต การวัดพิกัดความเผื่อ และพิกัดรูปร่างของชิ้นงานตามข้อกำหนด ตลอดจนการบำรุงรักษาเครื่องมือวัด 3 มิติ CMM ได้อย่างถูกต้อง สามารถนำความรู้และทักษะที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปถ่ายทอดให้แก่ผู้รับการฝึกต่อไป โดยมี นายสรรชัย ชอบพิมาย ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาผู้ฝึกและเทคโนโลยีการฝึก กล่าวรายงาน ณ สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (MARA) จังหวัดชลบุรี
นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่มและสั่งการให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน พัฒนาทักษะฝีมือเพื่อให้กำลังแรงงานมีความพร้อม เป็นแรงงานคุณภาพเมื่อกลับเข้าสู่การทำงาน หลังจากเปิดประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมส่งออก นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ขับเคลื่อนการพัฒนาฝีมือแรงงานโดยบูรณาการร่วมกับเครือข่ายพัฒนาฝีมือแรงงานทั้งภาครัฐ และเอกชน เสริมสร้างภาพลักษณ์และยกระดับทักษะแรงงานให้เข้มแข็งในทุกๆด้าน
นายสุทธิพงษ์ โกศลวิริยะกิจ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ในปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีความต้องการและมีการใช้เครื่องมือวัด 3 มิติ CMM (Coordinate Measuring Machine)อย่างแพร่หลายและมีการใช้ในวงการอุตสาหกรรมแทบจะทุกประเภท โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ เป็นเครื่องมือใช้การวัดลักษณะทางเรขาคณิตด้านกายภาพของวัตถุได้อย่างละเอียด และมีความแม่นยำสูง สามารถวัดชิ้นงานที่มีรูปร่างซับซ้อน วัดทั้ง 3 แกน ประกอบด้วย แกน X แกน Y และแกน Z ได้อย่างละเอียดและครอบคลุม โดยเครื่องมือชิ้นนี้เพียงเครื่องเดียวสามารถทดแทนการวัดชิ้นงานด้วยเครื่องมือวัดละเอียด (Hand tool) ได้หลายเครื่อง ปัจจุบันมีฟังก์ชั่นที่สามารถวิเคราะห์ผลตามเกณฑ์ความคลาดเคลื่อนทางเรขาคณิตและมิติ (Geometric Dimensional and Tolerance : GD&T) อีกทั้งยังนำผลที่ได้จากการวัดไปเปรียบเทียบกับค่าที่กำหนดไว้ใน CAD ไฟล์ พร้อมแสดงค่าการผลิตชิ้นงานหรือดัดแปลงชิ้นงาน มีค่า Error ลดลง จนถึงค่าที่ยอมรับได้ และสามารถวัดค่าและแสดงผลภาพเป็นแบบ 3 มิติ การทำงานของเครื่องมีทั้งแบบให้ผู้วัดเป็นผู้นำการเคลื่อนที่ (Manual) และแบบอัตโนมัติ (CNC) เครื่องมือดังกล่าวช่วยประหยัดเวลาและลดความยุ่งยากในการวัด โดยไม่ต้องใช้เครื่องมือวัดหลายๆอย่าง แล้วยังสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้องและแม่นยำ นิยมนำมาใช้ในวงการอุตสาหกรรมทุกประเภท
บุคลากรของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานผู้ทำหน้าที่ถ่ายทอดขยายผลทักษะความรู้ ต้องมีความเท่าทันกับเทคโนโลยีชั้นสูงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัท มิตูโตโย (ประเทศไทย) จำกัด ให้การสนับสนุนวิทยากร เครื่องมือและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญการใช้เครื่องมือวัด 3 มิติ CMM ตลอดจนนำไปฝึกอบรมให้แก่กำลังแรงงานเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมในพื้นที่ทั่วประเทศต่อไป