สสส. จับมือ โคแฟค (ประเทศไทย) เปิดตัวเครือข่ายตรวจสอบความจริงระดับภาค ชูขับเคลื่อนกลไกชุมชน-สร้างทักษะพลเมืองดิจิทัล สู่การสร้างสุขภาวะร่วมของสังคม

ข่าวทั่วไป Tuesday December 14, 2021 08:41 —ThaiPR.net

สสส. จับมือ โคแฟค (ประเทศไทย) เปิดตัวเครือข่ายตรวจสอบความจริงระดับภาค ชูขับเคลื่อนกลไกชุมชน-สร้างทักษะพลเมืองดิจิทัล สู่การสร้างสุขภาวะร่วมของสังคม

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับโคแฟค (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่าย อาทิ สถาบันเชนจ์ฟิวชั่น, มูลนิธิฟรีดริซเนามัน, อีสาน Cofact, อันดามัน Cofact, อุบลคอนเนก, สมาคมผู้บริโภคสงขลา, เชียงรายพะเยาทีวี, ตราดทีวี, สมาคมสื่อสารมวลชนจังหวัดตราด และ Deep South Cofact ฯลฯ แถลงข่าวเปิดตัวเครือข่ายตรวจสอบความจริงระดับภาค นำทีมโดย 7 ภาคีเครือข่ายจาก 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ เสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ 'ทิศทางการตรวจสอบความจริง' หวังนำสู่การสร้างโมเดลต้นแบบขยายต่อเป็นกลไกการตรวจสอบ 'ข่าวปลอม-ข่าวลวง' จากระดับสากลลงลึกสู่ระดับชุมชน ปักหมุดหมายเดินหน้าใช้นวัตกรรมตรวจสอบข่าวลวงโคแฟคขับเคลื่อนชุมชนทั่วประเทศเพื่อการสร้างสุขภาวะสังคมอย่างยั่งยืน

นางญาณี รัชต์บริรักษ์ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า "การเติบโตของเครือข่ายโคแฟคเป็นไปอย่างก้าวกระโดด จาก 8 องค์กรหลักที่ร่วมประกาศปฏิญญาขับเคลื่อนงานในปี 2562 มาถึงวันนี้มีองค์กรมากกว่า 39 องค์กรที่มาร่วมประกาศเจตนารมณ์ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับโคแฟค สสส. มีความยินดียิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนงานภายใต้เป้าหมายการทำงานที่สอดคล้องกัน ได้แก่ 1. การก่อเกิดนวัตกรรมใหม่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงภาคประชาชน 2. การสานพลังเครือข่ายให้ทุกคนได้เป็นเจ้าของร่วมกันในชุมชนสาธารณะโคแฟคแห่งนี้ และ 3. การสร้างค่านิยมหรือวัฒนธรรมใหม่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยการพัฒนาให้ทุกคนในสังคมเป็น Fact Checker ซึ่งการขยายภาคีเครือข่ายตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยนวัตกรรมโคแฟคไปจนถึงระดับชุมชน จะทำให้เกิดกลไกเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค นับเป็นหมุดหมายสำคัญในการขับเคลื่อนงานโคแฟคให้เกิดประสิทธิภาพในระยะยาวต่อไป"

นายสุชัย เจริญมุขยนันท ผู้ก่อตั้ง Ubon Connect จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า "ภาคีเครือข่ายอุบลราชธานีร่วมกับโคแฟคอีสาน เริ่มต้นจากทีวีชุมชน ไปสู่การเป็น Ubon connect ช่วงปี 2562 อุบลน้ำท่วมหนัก ทุกเวทีการประชุมในตอนนั้นบอกตรงกันหมดว่า การเตือนภัยที่มีอยู่ของเรานั้นล้มเหลว เราจึงตั้งโอเพนแชทเตือนภัยพิบัติอุบลราชธานีขึ้นมา จากกลุ่มตรงนั้นทำให้เกิดองค์ความรู้มากมายจากประชาชนมาอยู่รวมกัน รวมถึงมีการสอบถามเรื่องข่าวจริงข่าวลวง เกิดกลไกการตรวจสอบความจริงร่วมกันขึ้นมา อีกกลุ่มหนึ่งที่เราทำคือกลุ่มโอเพนแชท โควิดอุบลฯ Covid19Ubon รูปแบบคล้ายพันทิพย์ยุคใหม่ที่ชาวบ้านเข้ามาอยู่ร่วมกัน สถานการณ์โควิดทำให้เกิดการขยายวงการบอกต่อสื่อสารจากโอเพนแชทไปยังเพจและที่ต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น การสอบถามความจริงเรื่องตลาดปิดจริงไหม? การตรวจสอบสรุปความเป็นจริงประเด็นการติดเชื้อโควิดในงานกฐิน ซึ่งจริง ๆ เป็นวงเล็ก ๆ แค่วงรำพญานาคเท่านั้น จะเห็นว่าตรงนี้เราก็ทั้งเชื่อม ทั้งช่วยกันตรวจสอบ และเผยแพร่ช่วยแก้ไขให้ ล่าสุดเราทำเป็นรายการเลยชื่อว่า แล้วเรื่องจริงมันเป็นยังไง ซึ่งการที่เราได้ทำงานร่วมกับโคแฟค ทำให้เราสามารถทำงานเรื่องนี้ได้อย่างเข้มข้นและจริงจังต่อเนื่อง"

ภญ.ชโลม เกตุจินดา กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคใต้ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า "เดิมทีเครือข่ายเราทำงานเฝ้าระวังโฆษณาเกินจริงสินค้าหลอกลวงในทีวีมาโดยตลอด พอมาเปลี่ยนเข้าสู่ยุคของสื่อออนไลน์ สิ่งที่เราทำคือกระบวนการสร้างทีมระดับจังหวัด จะมีการอบรมหลักสูตรตั้งแต่พื้นฐานการใช้โทรศัพท์มือถือ การตรวจสอบข่าว วิธีการแคปหน้าจอ ฯลฯ เพราะอาสาสมัครของเราที่เป็นผู้ใหญ่สูงวัย อาจจะยังขาดทักษะในเรื่องนี้ เขามักจะเชื่อว่าข่าวเหล่านี้มีการตรวจสอบมาแล้ว พอได้ไลน์มาก็จะแชร์ต่อเลย ซึ่งการที่เราสามารถสื่อสารกับเขาได้ลงไปลึกถึงในกลุ่มไลน์ ทำให้เราช่วยคลี่คลายปัญหาตรงนี้ได้ ตอนนี้เครือข่ายของเราจะเน้นการพัฒนา Digital Literacy ร่วมกับ Health Literacy ให้กับชาวบ้าน เรามีงานที่ทำข้อมูลร่วมกับอาจารย์ที่ มอ.ปัตตานี พบข้อมูลข่าวลวงที่มีการเวียนซ้ำในชุมชน โดยเฉพาะข้อมูลเรื่องโควิดจะมีเยอะมาก ซึ่งในอนาคตเราจะทำข้อมูลเหล่านี้ให้เป็นระบบร่วมกับโคแฟค และขยายวงอาสาสมัครให้เพิ่มมากขึ้นต่อไป"

นายพีรพล อนุตรโสตถิ์ ผู้จัดการศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ บมจ. อสมท. กล่าวว่า "สิ่งที่ได้เห็นจากทั้ง 7 ภาคีเครือข่ายในวันนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมาก เพราะเป็นการนำสิ่งที่เป็นหลักการการสื่อสารไปสร้างเนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องรอจากส่วนกลางเท่านั้น ซึ่งตรงนี้เป็นการสร้างความเข้มแข็งที่ดีมาก ๆ ให้กับชุมชน ทุกภาคีเครือข่ายสามารถนำจุดแข็งของตัวเองมาใช้ผสานกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ ไม่ให้เขาได้รับภัยในโลกไซเบอร์ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงมากในการป้องกันข่าวลวงในพื้นที่ ในอนาคตอยากชวนทุกภาคีเครือข่ายมาเชื่อมโยงกัน เปลี่ยนบทเรียนจากแต่ละที่ มาทำให้เกิดเป็นโมเดลที่พื้นที่อื่นสามารถหยิบไปใช้ต่อยอดได้เลย ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับงานของโคแฟคขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ให้มีทั้งความลึกในการทำงานและความกว้างของการรับรู้ในสังคมได้มากยิ่งขึ้นต่อไป"

นวัตกรรมโคแฟคเป็นหนึ่งในโครงการที่ สสส. ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและสนับสนุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะพลเมืองดิจิทัลสู่การสร้างสังคมสุขภาวะ ซึ่งปัจจุบันมีภาคีเครือข่ายมากกว่า 39 องค์กร ครอบคลุมทั้งภาคีเครือข่ายองค์กรอิสระ สื่อมวลชน นักวิชาการ รวมไปถึงสถาบันศึกษาและนิสิตนักศึกษาจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ