ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ Walk Free และ Finance Against Slavery and Trafficking (FAST) องค์กรพันธมิตรระดับสากลที่เชี่ยวชาญประเด็นสิทธิมนุษยชน จัดทำชุดเครื่องมือบริหารความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน ประกอบด้วย "คู่มือความเสี่ยงด้านการใช้แรงงานทาสยุคใหม่สำหรับธุรกิจไทย" (Guidance on Modern Slavery Risks for Thai Businesses) และ Modern Slavery Benchmarking Tool เผยแพร่ผ่านwww.setsustainability.com สำหรับ บจ. ผู้ประกอบการ และผู้สนใจ ใช้บริหารความเสี่ยงตามลักษณะของธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรม ช่วยลดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน สร้างการยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ยกระดับความเชื่อมั่นต่อธุรกิจไทยในเวทีโลก
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพของ บจ. ไทยให้มีระบบและกลไกในการบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) อย่างเข้มแข็งเพื่อให้ธุรกิจสามารถปรับตัว เติบโต และแข่งขันได้ในระดับสากล
"ปัจจุบันประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นที่ทั่วโลกจับตามอง ภาคธุรกิจไทยจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญและลงมือแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังโดยร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจและสร้างความเชื่อมั่นให้ธุรกิจไทยในเวทีโลก ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงร่วมกับพันธมิตรจัดทำชุดเครื่องมือบริหารความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน โดยออก "คู่มือความเสี่ยงด้านการใช้แรงงานทาสยุคใหม่สำหรับธุรกิจไทย" (Guidance on Modern Slavery Risks for Thai Businesses) เพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาการใช้แรงงานทาสยุคใหม่ โดยระบุประเด็นความเสี่ยงสำคัญสำหรับบริษัทไทยใน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม พร้อมกันนี้ยังได้จัดทำ Modern Slavery Benchmarking Tool เพื่ออำนวยความสะดวกในการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนของธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่า นอกจากนี้ บริษัท จดทะเบียนควรเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานด้าน ESG และการบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้ถือหุ้นและ ผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ สามารถติดตามตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส เกิดความเชื่อมั่นและเพิ่มโอกาสในการเติบโตของธุรกิจได้ในระยะยาว
บทบาทของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับแผนงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการพัฒนาตลาดทุนเพื่อทุกภาคส่วนตามวิสัยทัศน์ "To Make the Capital Market 'Work' for Everyone" และสอดรับกับการเป็นสมาชิกใน UN Sustainable Stock Exchanges Initiative ที่มุ่งเน้นการพัฒนาตลาดทุนอย่างยั่งยืน เพื่อประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวม" นายภากรกล่าว
เกรซ ฟอเรส ผู้ก่อตั้ง Walk Free เปิดเผยว่า "ภาคธุรกิจสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในการกำหนดเป้าหมายและขจัดปัญหาแรงงานทาสยุคใหม่และการกดขี่แรงงานในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจได้ โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนับว่ามีบทบาท สำคัญที่จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยรู้จักและบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการใช้แรงงานทาสยุคใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน (ESG) ในรายงานประจำปีตามเกณฑ์ โดยนับจากนี้ ผู้นำธุรกิจจะสามารถนำประเด็นเรื่องการดำเนินธุรกิจโดยปราศจากการใช้แรงงานทาสยุคใหม่ มาใช้กำหนดเป็นเป้าหมายและมาตรฐานการดำเนินงาน คู่มือความเสี่ยงด้านการใช้แรงงานทาสยุคใหม่สำหรับธุรกิจไทยซึ่งจัดทำขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ Walk Free และ FAST นี้ จะเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ธุรกิจจะร่วมเป็นพลังสำคัญ ขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับพนักงาน ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม และสร้างมาตรฐานทางจริยธรรมแก่ภาคธุรกิจ"
แดเนียล เทเลสคัฟ ผู้อำนวยการ โครงการ Finance Against Slavery and Trafficking (FAST) เปิดเผยว่า "ภาคการเงินมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการต่อต้านการใช้แรงงานทาสยุคใหม่และการค้ามนุษย์ แม้ว่าการใช้แรงงานทาสเป็นข้อห้ามตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ในปัจจุบัน ยังมีผู้ถูกริดรอนอิสรภาพมากกว่า 40 ล้านคนและธุรกิจยังหากำไรจากแรงงานทาสยุคใหม่และการค้ามนุษย์อยู่ที่ประมาณ 150 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ทั้งนี้ FAST จึงมีความยินดีที่ได้ร่วมจัดทำคู่มือความเสี่ยงด้านการใช้แรงงานทาสยุคใหม่สำหรับธุรกิจไทย ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อความพยายามขจัดการใช้แรงงานทาสยุคใหม่และการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก สอดคล้องกับแผนการดำเนินงานของ FAST ที่ขับเคลื่อนภาคการเงินร่วมต่อต้านแรงงานทาสยุคใหม่และการค้ามนุษย์ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ มีบทบาทสำคัญในการสร้างแรงจูงใจต่อบริษัทจดทะเบียน และผลักดันการดำเนินการดังกล่าว"
"คู่มือความเสี่ยงด้านการใช้แรงงานทาสยุคใหม่สำหรับธุรกิจไทย" (Guidance on Modern Slavery Risks for Thai Businesses) เผยแพร่แก่ บจ. ผู้ประกอบการ และผู้สนใจทั่วไป (ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ) พร้อม Modern Slavery Benchmarking Tool เพื่อใช้ในการประเมินประสิทธิภาพในการบริหารธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่การกำหนดโครงสร้างการกำกับดูแล นโยบายการดำเนินงาน การบริหารความเสี่ยง การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน การจัดซื้อจัดจ้าง ไปจนถึงการจัดการการร้องทุกข์และการเยียวยา ผู้สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.setsustainability.com