สวนทุเรียนแห่งแรก จ.บึงกาฬผ่านมาตรฐาน GAP

ข่าวทั่วไป Thursday December 23, 2021 13:45 —ThaiPR.net

สวนทุเรียนแห่งแรก จ.บึงกาฬผ่านมาตรฐาน GAP

"ปลูกทุเรียนไม่มีวันจน มันจะจนสำหรับวันแรกที่ลงทุนซื้อต้นพันธุ์และทำระบบน้ำ หลังจากนั้นเรามีแต่รายได้" นายวิรัตน์ สาลีรัมย์ เจ้าของสวนทุเรียนรุ่งโรจน์ซึ่งปลูกทุเรียนเป็นแห่งแรกของจังหวัดบึงกาฬ ยืนยันพร้อมกับกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการทำสวนทุเรียนมาจากการไปรับจ้างเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนที่จังหวัดจันทบุรีและนครศรีธรรมราชทำให้เกิดแนวคิดว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็น่าจะทำได้จึงทดลองปลูกทุเรียนเป็นแปลงแรกของจังหวัดบึงกาฬเมื่อปี 2549 โดยนำความรู้จากประสบการณ์ที่ได้รับทั้ง 2 แห่งมาบริหารจัดการดูแลสวนทุเรียนพื้นที่ปลูกจำนวน 28 ไร่ ณ บ้านท่าดอกคำเหนือ หมู่ที่ 9 ตำบลท่าดอกคำ อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ

นางสาวณัฐฏา ดีรักษา นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรหนองคาย (ศวพ.หนองคาย) สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ศวพ.หนองคาย ได้เข้าไปให้คำแนะนำการผลิตทุเรียนตามมาตรฐาน GAP ที่สวนของนายวิรัตน์ซึ่งประสบปัญหาโรครากเน่าและโคนเน่าของทุเรียนทำให้ใช้สารเคมีในการป้องกันและกำจัดค่อนข้างมากโดยแนะนำให้ใช้ชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาซึ่งเป็นผลงานวิจัยและเทคโนโลยีของของกรมวิชาการเกษตรที่สามารถป้องกันกำจัดโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราไฟทอฟธอราได้ทำให้ลดการใช้เคมีในการป้องกันและกำจัดโรค รวมทั้งยังให้คำแนะนำการตัดแต่งกิ่งทุเรียนและการใช้ปุ๋ยหลังการเก็บเกี่ยว จึงช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อสารเคมีและปุ๋ยเคมีเป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ให้แก่นายวิรัตน์ โดยสวนทุเรียนรุ่งโรจน์เป็นสวนทุเรียนแห่งแรกของจังหวัดบึงกาฬที่ได้รับการรับรองแหล่งผลิตทุเรียน GAP จาก ศวพ.หนองคาย โดยมีพื้นที่ได้รับการรับรอง GAP จำนวน 22 ไร่ แยกเป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทอง จำนวน 340 ต้น และพันธุ์ชะนี จำนวน 60 ต้น การจัดการสวนของนายวิรัตน์ จะตัดแต่งกิ่งแห้ง กิ่งแขนง กิ่งกระโดงในทรงพุ่ม กิ่งที่เป็นโรคออก ช่วงแตกใบอ่อน ป้องกันกำจัดโรคที่เกิดกับใบ และแมลงปากดูด ที่มาทำลายใบ ช่วงฤดูฝน ป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าโดยใช้ชีวภัณฑ์ไตรโคเดอร์มาและควบคุมวัชพืชโดยการปลูกพืชคลุมดิน หรือกำจัดโดยใช้แรงงานตัดหญ้า การใส่ปุ๋ย หว่านปุ๋ยคอกก่อนและตามด้วยปุ๋ยเคมี ปุ๋ยคอก อัตรา 5-10กิโลกรัม/ต้น ปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 1-2 กิโลกรัม/ต้น การให้น้ำ ปริมาณน้ำ 150 ลิตร/ต้น/วัน การเตรียมต้นทุเรียนให้พร้อมต่อการออกดอก ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24 อัตรา 2-3 กิโลกรัม/ต้น หลังติดผลใช้ปุ๋ยเคมีสูตร 12-12-17-2 หรือ 13-13-21 อัตรา 1 ใน 3 ของเส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม พร้อมกับตัดแต่งผลที่ไม่สมบูรณ์หรือมีจำนวนมากเกินไปออกเพราะถ้าปล่อยไว้อาจทำให้กิ่งหักได้ หลังติดผล 70 วัน ใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 0-0-60 อัตรา 1 ถึง 2 กิโลกรัม/ต้น

โรคที่ระบบราก ใช้สารเมตาแลกซิล ราดใต้ทรงพุ่มให้ทั่ว พร้อมกับกระตุ้นการเจริญของราก โรคที่ลำต้นและกิ่ง ถ้าอาการเล็กน้อย ให้ขูดผิวเปลือกส่วนที่เป็นโรคออกนำไปเผาทำลาย แล้วทาด้วยปูนแดง หรือ สารเมตาแลกซิล ถ้าพบอาการรุนแรง ใช้กรดฟอสฟอรัส ฉีดเข้าลำต้น หรือกิ่งในบริเวณตรงข้าม หรือส่วนที่เป็นเนื้อไม้ดีใกล้บริเวณที่เป็นโรค โรยสารคาร์บาริล รอบโคนต้นป้องกันมด หรือพ่นด้วยสารมาลา-ไธออน ร่วมกับปิโตรเลียมออยล์ พ่นเป็นจุดเฉพาะกลุ่มผลที่สำรวจพบการทำลาย และต้องหยุดใช้สารเคมีก่อนเก็บเกี่ยว 15 วัน

การโยงผลทุเรียนสามารถลดการร่วงของผล และกิ่งหักหรือกิ่งฉีกเนื่องจากลมแรงได้ โดยการโยงผลทุเรียนที่ถูกต้องให้ผูกเชือกโยงกับกิ่งทุเรียนให้เลยตำแหน่งเชื่อมต่อระหว่างขั้วผลกับกิ่งไปทางด้านปลายยอดของกิ่ง โดยพยายามสอดดึงเชือกโยงเหนือกิ่งทำมุมกว้างในแนวขนานกับกิ่ง แล้วดึงปลายเชือกผูกรั้งกับต้นให้ตึงพอประมาณ สังเกตได้จากกิ่งนั้นยกระดับสูงขึ้นเล็กน้อย และสามารถเคลื่อนไหวได้ค่อนข้างเป็นอิสระ โดยเชือกโยงกิ่งหรือผลทุเรียนต้องเป็นวัสดุที่ทนทานต่อแรงดึงค่อนข้างสูง และควรใช้เชือกโยงหลายสีในกรณีที่มีผลทุเรียนหลายรุ่นในต้นเดียวกัน

การนับอายุในการเก็บเกี่ยว ทุเรียนจะนับจำนวนจากวันหลังจากดอกบานจนถึงวันที่ผลแก่ พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวได้ พันธุ์หมอนทอง 140-150 วัน พันธุ์ชะนี 110-120 วัน โดยนายวิรัตน์จะทำสัญลักษณ์ของทุเรียนแต่ละรุ่นและจดบันทึกทุกขั้นตอนในการจัดการสวน สำหรับผลผลิตจะจำหน่ายผ่านFacebook โดยจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 180 บาท โดยในปี 2564 นี้ได้รับผลผลิตรวมทั้งสิ้น 12 ตัน รวมรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตทุเรียนจำนวน 2 ล้านบาท ปัจจุบันสวนทุเรียนรุ่งโรจน์ซึ่งเป็นแหล่งปลูกทุเรียนแห่งแรกและได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GAP แห่งแรกของจังหวัดบึงกาฬได้เป็นแหล่งศึกษาดูงานการปลูกไม้ผลตามระบบการรับรองแหล่งผลิต GAP ของจังหวัดบึงกาฬที่ได้รับความสนใจจากเกษตรกรในจังหวัดบึงกาฬและจังหวัดใกล้เคียงได้เข้ามาเรียนรู้ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ