5 Checklist นอนกรนแบบไหน..อันตรายในเด็ก
ภาวะนอนกรนในเด็ก ที่ดูว่าน่าจะเป็นปัญหาเล็กๆ แต่ความจริงเป็นปัญหาที่อันตรายต่อสุขภาพของลูกน้อยอย่างมาก โดยส่วนใหญ่อาการนอนกรนจะพบในเด็กช่วงอายุ 2-8 ขวบ เพราะช่วงนี้ต่อมน้ำเหลืองในร่างกายกำลังโตไม่ว่าจะเป็นต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์
สาเหตุที่ทำให้เด็กนอนกรนที่หมอพบบ่อยๆ ก็มาจากต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์โต ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่พบได้รองลงมาก็มาจากโรคภูมิแพ้โพรงจมูก ไซนัสอักเสบ โรคอ้วน ผนังจมูกคด ฯลฯ ภาวะนอนกรนถ้ามีการอุดกั้นทางเดินหายใจหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่รุนแรงมาก จะส่งผลให้ออกซิเจนต่ำเป็นช่วงๆ ขณะนอนหลับ เมื่อออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ไม่เพียงพอก็จะมีผลต่อเซลล์สมอง หัวใจ และพัฒนาการของเด็กตามได้ เช่น เด็กซุกซนมาก อารมณ์ฉุนเฉียว ก้าวร้าว สมาธิสั้น เรียนไม่เก่ง ความจำไม่ดี และร้ายแรงที่สุดคืออาจหัวใจล้มเหลวได้
ภาวะนอนกรนที่เป็นอันตราย ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ คือ
- ลูกนอนกรนเสียงดัง เสียงกรนคล้ายผู้ใหญ่
- กรนมากในทุกท่านอน ไม่ว่าจะนอนหงาย นอนคว่ำ หรือนอนตะแคง
- เสียงกรนมีการขาดหายเป็นช่วงๆ หรือมีอาการสะดุ้งเฮือกเหมือนขาดอากาศ
- เปลี่ยนท่านอนบ่อย เปลี่ยนท่าแล้วยังกรนอยู่
- ปัสสาวะรดที่นอน (เด็กก่อน 5 ขวบ จะมีการปัสสาวะรดที่นอนได้ แต่ถ้าเกิน 5 ขวบไปแล้ว มีการปัสสาวะรดที่นอน ถือว่าผิดปกติ)
ภาวะนอนกรนในเด็กสามารถวินิจฉัยได้ด้วยวิธีตรวจการนอนหลับ (Pediatric Sleep Test) แพทย์จะให้การรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดและตามรุนแรงของภาวะนอนกรน ดังนั้นหากพบว่าลูกมีภาวะนอนกรน หรือสงสัยว่าอาจมีปัญหา มีความผิดปกติ ควรพาลูกไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม หากปล่อยไว้อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพของลูกตามมาภายหลังได้ อ่านข้อมูลเพิ่มเติมคลิก >> https://www.ram-hosp.co.th/news_detail/1205