"ผศ.ดร.พลพัฒน์ รวมเจริญ" อาจารย์เทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ มรภ.สงขลา นำทีมนักวิชาการไทยจับมือทีมวิจัยฝรั่งเศส พัฒนาขวดน้ำดื่มใช้แล้ว ต่อยอดสู่วัสดุงานก่อสร้าง พร้อมหารือความร่วมมือทำงานวิจัยด้านพอลิเมอร์ต่อเนื่อง
ผศ.ดร.พลพัฒน์ รวมเจริญ อาจารย์ประจำหลักสูตร วท.บ. (วิทยาศาสตร์ประยุกต์เชิงอุตสาหกรรม) วิชาเอกเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า ช่วงระหว่างวันที่ 14-28 พฤศจิกายน 2564 ตนพร้อมด้วยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้รับทุนเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส เพื่อดำเนินงานวิจัยและติดตามความก้าวหน้างานวิจัยของนักศึกษาในโครงการวิจัยร่วมภายใต้ความร่วมมือด้านอุดมศึกษาและการวิจัยระหว่างไทย-ฝรั่งเศส (Franco-Thai Cooperation Programme in Higher Education and Research) หรือ PHC SIAM 2020 - 2021 เรื่อง New eco-efficient constructing materials from waste Poly (ethylene terephthalate) (PET) and renewable resources
สำหรับโครงการวิจัยดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวัสดุที่ใช้ในงานก่อสร้างจากพอลิเอทิลีนเทเรฟแทเลต ซึ่งได้จากขวดน้ำดื่มที่ใช้แล้วหรือที่เรารู้จักชื่อว่าขวดเพ็ต และนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ในการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวแล้ว ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาในโครงการได้ทำวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยในประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย นักวิจัยในโครงการฯ เป็นคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยของทั้งสองประเทศ ได้แก่ มรภ.สงขลา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแกน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยนเรศวร และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ส่วนมหาวิทยาลัยฝรั่งเศส ได้แก่ Universite de Nantes, Universite Haute-Alsace และ University of Le Mans ซึ่งเป็นที่น่าภาคภูมิใจว่า มรภ.สงขลา เป็นมหาวิทยาลัยในกลุ่มราชภัฏเพียงแห่งเดียวที่ได้รับทุนนี้
ผศ.ดร.พลพัฒน์ กล่าวว่า นักวิจัยจากทั้งสองประเทศยังได้หารือความร่วมมือต่อเนื่องที่สถาบัน Laboratorie de Photochimie et d'Ingenierie Macromoleculaires ณ Universite de Haute Alsace และที่สถาบัน Institut des Molecules et Materiaux du Mans ณ Le Mans Universite นอกจากนั้น ตนและทีมวิจัยยังได้บรรยายผลงานวิจัยให้กับนักวิจัยและนักศึกษาที่ Laboratorie de Physicochimie des Polymeres et des interfaces มหาวิทยาลัย CY Cergy Paris Universite เรื่อง การดัดแปรโครงสร้างทางเคมีของยางธรรมชาติและพอลิเอสเทอร์และการประยุกต์ใช้ (modification of natural rubber and polyesters and its applications) สร้างความสนใจให้แก่นักวิจัยฝรั่งเศสและเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการวิจัยร่วมกันในอนาคต
"ประโยชน์ที่ได้รับจากการปฏิบัติราชการครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยในระดับนานาชาติ ซึ่งก่อนหน้านี้ มรภ.สงขลา เคยมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในประเทศฝรั่งเศสและสร้างผลงานวิจัยด้านยางและพอลิเมอร์ร่วมกันหลายผลงานเป็นเวลายาวนาน นอกจากนั้น ยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในด้านการวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีใหม่ ซึ่งสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ให้กับนักศึกษาในวิชาเรียนอีกด้วย ขอขอบคุณรัฐบาลฝรั่งเศส กระทรวงกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และ มรภ.สงขลา ที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมทั้งหมดด้วยดีตลอดมา" ผศ.ดร.พลพัฒน์ กล่าว