5 บริษัทชั้นนำ คว้ารางวัล Change Agent Award 2021

ข่าวทั่วไป Thursday December 23, 2021 16:39 —ThaiPR.net

5 บริษัทชั้นนำ คว้ารางวัล Change Agent Award 2021

แนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) มอบรางวัล Change Agent Award 2021 ให้กับ 5 บริษัทชั้นนำ ได้แก่ บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด  และบริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ในฐานะกำลังสำคัญในการขยายเครือข่ายความโปร่งใสให้กับแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชัน

แนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC) แสดงพลังของภาคเอกชนเพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจโปร่งใสผ่านการจัดงาน Thailand National Conference on Collective Action Against Corruption ครั้งที่ 11 ประจำปี 2564 "รวมพลังธุรกิจโปร่งใส ใส่ใจต้านคอร์รัปชัน (Spotlight on Clean Business)" เป็นครั้งแรกบนแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยได้รับความสนใจจากภาคเอกชนอย่างมาก ภายในงานนอกจากการมอบประกาศนียบัตรให้กับบริษัทที่ผ่านการรับรองจำนวน 269 บริษัท ทั้งกลุ่มบริษัทเอกชนและกลุ่ม SME ยังมีการประกาศรางวัล Change Agent Awards 2021 แสดงให้เห็นถึงพลังและความมุ่งมั่นที่จะสร้างธุรกิจโปร่งใส อันนำไปสู่การลดปัญหาคอร์รัปชันในอนาคต

ทั้งนี้ รางวัล Change Agent Award คือรางวัลที่มอบให้กับบริษัทที่ผ่านการรับรองจาก CAC ที่ให้การสนับสนุนบริษัทที่เป็นคู่ค้าของตนด้วยการให้สิทธิประโยชน์แก่คู่ค้าที่เข้าร่วมโครงการ CAC SME และสามารถชักชวนคู่ค้าได้มากกว่า 10 บริษัทภายในระยะเวลา 1 ปี ปัจจุบันมีบริษัทที่ได้รับรางวัล Change Agent แล้ว จำนวน 10 บริษัท และมีบริษัทกลุ่ม SME ที่เข้าร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวน 193 บริษัท

นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการ CAC กล่าวว่า "CAC ดำเนินงานมาครบรอบ 10  ปี มีบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์จำนวนมากทั้งบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และกลุ่มบริษัท SME  ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง และขอแสดงความยินดีกับบริษัทที่ผ่านการรับรองและได้รับรางวัล Change Agent Award 2021 ที่มีความมุ่งมั่นท่ามกลางความท้าทายกับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 และขอเชิญชวนภาคเอกชนออกมายืนในจุดที่สว่าง เพื่อทำให้พลังในการต่อต้านคอร์รัปชันเข้มแข็งและยิ่งใหญ่มากขึ้น"

นอกจากนี้ ภายในงานยังได้รับเกียรติจาก ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ขึ้นกล่าวในหัวข้อ การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน "ความหวัง" หรือ "ความฝัน" ที่ให้คำแนะนำกับภาคเอกชนในการเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาคอร์รัปชัน และชวนคิดในประเด็นที่ประเทศไทยจะมีคอร์รัปชันที่น้อยลงนั้น จะมีความเป็นไปได้อย่างไร

ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา CAC เติบโตแข็งแกร่งขึ้นมากในทุกด้าน ปัจจุบันมีบริษัทที่ได้เข้าประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านการทุจริตกับ CAC แล้ว  1,200  บริษัท ซึ่งในจำนวนนี้มีบริษัทที่ผ่านการรับรองจาก CAC ว่ามีนโยบายและแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการรับ-จ่ายสินบนครบตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนดรวม 462 บริษัท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่ผ่านการรับรองตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้สำหรับ SME 28 บริษัททำให้ CAC เป็นหนึ่งในโครงการต่อต้านคอร์รัปชันภาคเอกชนระดับแนวหน้าที่โดดเด่นในภูมิภาคและได้รับการยอมรับในเวทีโลก ในฐานะที่เป็นการรวมกลุ่มของภาคเอกชนโดยสมัครใจ เพื่อร่วมแก้ปัญหาคอร์รัปชันที่เข้มแข็งที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

Background

CAC ก่อตั้งขึ้นในปี 2553 จากความริเริ่มของภาคเอกชนไทย ภายใต้การริเริ่มของคุณชาญชัย จารุวัสตร์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการ IOD เพื่อให้บริษัทที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำธุรกิจโปร่งใสสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในรูปแบบของแนวร่วม หรือ Collective Action โดยมุ่งสร้างและขยายแนวร่วมในภาคเอกชน เพื่อสร้างกระแสการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันด้วยการส่งเสริมให้บริษัทต่างๆ กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติในการที่จะปฏิเสธการรับและจ่ายสินบน รวมถึงการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ ซึ่งจะช่วยสร้างระบบนิเวศของการทำธุรกิจที่โปร่งใส นอกจากนี้ CAC ยังทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับภาคธุรกิจเอกชน โดยการประสานความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานป้องกันและปรามปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) องค์กรเพื่อพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP Thailand) เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงเรื่องปัญหาคอร์รัปชันที่ภาคเอกชนประสบ

CAC จัดตั้งขึ้นโดย 8 องค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศ ได้แก่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) หอการค้าไทย หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยมี IOD ทำหน้าที่เป็นเลขานุการและรับบทนำในการขับเคลื่อนโครงการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ