สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท
- เงินบาทขยับแข็งค่าในสัปดาห์สุดท้ายของปี 2564 โดยเงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับค่าเงินหยวนและอีกหลายสกุลในเอเชียท่ามกลางความกังวลต่อการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ดีกรอบการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากยังคงมีแรงประคองต่อเนื่องจากสถานะซื้อสุทธิหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขายเป็นระยะๆ หลังมีรายงานระบุว่า อาการป่วยของผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนอาจไม่รุนแรง และมีความเสี่ยงน้อยที่จะต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล
- ในวันพฤหัสบดี (30 ธ.ค. 64) เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบเกือบ 2 สัปดาห์ที่ 33.32 ก่อนจะกลับมาปิดตลาดในประเทศที่ 33.38 เทียบกับระดับ 33.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (24 ธ.ค. 64)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (3-7 ม.ค. 65) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.80-33.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ สถานการณ์โควิด-19 และตัวเลขเงินเฟ้อเดือนธ.ค. ของไทย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงาน การจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนธ.ค. ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนพ.ย. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และรายงานการประชุมเฟดเมื่อ 14-15 ธ.ค. 64 นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามข้อมูล PMI เดือนธ.ค. ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษ และตัวเลขเงินเฟ้อเดือนธ.ค. ของยูโรโซนด้วยเช่นกัน
สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย
- ดัชนี SET แตะระดับสูงสุดของปีที่ระดับ 1,660.85 ในวันทำการสุดท้ายของปี ก่อนจะกลับมาปิดที่ระดับ 1,657.62 จุด เพิ่มขึ้น 1.25% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 67,935.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.67% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 2.09% มาปิดที่ 582.13 จุด
- หุ้นไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบช่วงต้นสัปดาห์ตามตลาดหุ้นต่างประเทศ ระหว่างที่นักลงทุนรอประเมินสถานการณ์โควิดโอมิครอน ก่อนจะทยอยปรับตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ หลังนักลงทุนคลายความกังวลบางส่วนต่อสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากผลวิจัยเบื้องต้นในหลายประเทศชี้ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนอาการไม่รุนแรง ซึ่งกระตุ้นแรงซื้อหุ้นหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มธนาคาร ไฟแนนซ์และพลังงาน นอกจากนี้ หุ้นไทยยังมีแรงหนุนจากแรงซื้อกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการทำ Window Dressing ด้วย
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (3-7 ม.ค. 65) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,645 และ 1,630 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,675 และ 1,700 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธ.ค. 64 ของไทย รวมถึงทิศทางเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI การจ้างงานของภาคเอกชน การจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงานเดือนธ.ค.64 บันทึกการประชุมเฟด (14-15 ธ.ค. 64) ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI เดือนธ.ค. 64 ของญี่ปุ่น จีนและยูโรโซน รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธ.ค. 64 (เบื้องต้น) และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนพ.ย. 64 ของยูโรโซน
สรุปภาพรวมการเคลื่อนไหวของเงินบาทและตลาดหุ้นไทยในปี 2564
ความเคลื่อนไหวของเงินบาท ปี 2564
เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 29.84-33.99 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในปี 2564 โดยเงินบาททรงตัวในกรอบแคบ แต่ก็ยืนในระดับที่แข็งค่ากว่าแนว 30.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงต้นปี สอดคล้องกับสกุลเงินเอเชียส่วนใหญ่ที่มีทิศทางแข็งค่าขึ้นท่ามกลางแรงหนุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจากความหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์ฯ มีแรงกดดันจากสัญญาณยืนยันเดินหน้ามาตรการ QE ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในเวลานั้นเพื่อประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ และประเมินว่า แรงกดดันเงินเฟ้อเป็นภาวะชั่วคราว
อย่างไรก็ดี เงินบาทเริ่มทยอยอ่อนค่าลงตั้งแต่ในช่วงเดือนมี.ค. จนถึงช่วงท้ายปี 2564 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศ (ทั้งจากสายพันธุ์เดลต้าและโอมิครอน) ซึ่งนอกจากจะมีผลกระทบต่อสถานะดุลบัญชีเดินสะพัดซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของค่าเงินบาทแล้ว ยังมีผลต่อเส้นทางและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นกัน ขณะที่ในฝั่งค่าเงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการทยอยปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ หลังแรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามจังหวะการฟื้นตัวของตลาดแรงงงานและเศรษฐกิจสหรัฐฯ จนทำให้เฟดต้องส่งสัญญาณทยอยลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน และเตรียมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2565
ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย ปี 2564
SET Index มีกรอบการเคลื่อนไหวในช่วง 1,425.48-1,660.85 จุดในปี 2564 ทั้งนี้ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวอิงขาขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี ตามตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยมีแรงหนุนจากการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนการเร่งฉีดวัคซีนต้านโควิดในประเทศ มาตรการเยียวยาจากภาครัฐ และความหวังเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลังนายโจ ไบเดนเข้ารับตำแหน่งปธน.สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี SET พักฐานในเวลาต่อมาท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 จากสายพันธุ์เดลต้า ขณะที่เงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่เร่งตัวขึ้น ทำให้เริ่มมีการคาดการณ์ว่า เฟดต้องส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินเร็วขึ้น ซึ่งมีผลกดดันตลาดหุ้นทั่วโลกด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี หุ้นไทยดีดตัวขึ้นได้อีกครั้งตั้งแต่ช่วงกลางเดือนส.ค. 2564 โดยมีแรงหนุนเป็นระยะๆ จากสถานะซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับทางการไทยทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ รวมถึงขยายมาตรการเพื่อส่งเสริมให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม ขณะที่สถานการณ์โควิดในประเทศมีแนวโน้มทรงตัว แต่กระนั้น กรอบขาขึ้นของหุ้นไทยยังคงจำกัดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีท่ามกลางหลายปัจจัยลบ อาทิ สัญญาณถอยออกจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของเฟด และการกลับมาระบาดอีกครั้งของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อสายพันธุ์โอมิครอนตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม แม้ว่าอาการป่วยจากการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่อาจไม่รุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลก็ตาม