ไวรัส RSV อันตรายไม่แพ้โควิด-19

ข่าวทั่วไป Thursday January 6, 2022 10:33 —ThaiPR.net

ไวรัส RSV อันตรายไม่แพ้โควิด-19

ไวรัส RSV อันตรายไม่แพ้โควิด-19

#RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ความน่ากลัวของไวรัสนี้คือยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และสามารถทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบรุนแรงและเสียชีวิตได้

โดยเชื้อไวรัสนี้จะทำให้เกิดการอักเสบของหลอดลม หลอดลมมีการสร้างสารคัดหลั่ง เช่น เสมหะ ออกมาในปริมาณมากร่วมกับมีการหดตัวของหลอดลมเนื่องจากเยื่อบุหลอดลมและทางเดินหายใจบวมอักเสบ จึงทำให้เกิดอาการหอบ เหนื่อย หายใจลำบาก อีกทั้งยังแพร่เชื้อและติดต่อกันได้ง่ายมากจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง จากการไอ จาม น้ำมูก น้ำลาย เสมหะของผู้ติดเชื้อ และเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเยื่อบุตา จมูก ปากหรือลมหายใจ และสามารถแพร่เชื้อได้หลังจากได้รับเชื้อ 2-3 วัน ไปจนถึง 2 สัปดาห์ และมีระยะฟักตัว 3-5 วัน ถึงจะแสดงอาการ

โดยทั่วไปใน #เด็กเล็กจะมีอาการรุนแรงมากกว่าในผู้ใหญ่ แต่หากเกิดในผู้ใหญ่ที่เป็นโรคปอด โรคหัวใจ ก็ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นเดียวกับในเด็กเล็ก สามารถเกิดอาการได้หลากหลายตั้งแต่มีอาการเพียงเล็กน้อยเหมือนหวัดธรรมดา มีไข้ ไอ น้ำมูก ไปจนถึงมีอาการหลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ หอบเหนื่อยมากจนมีภาวะหายใจล้มเหลวจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

#อาการมักจะรุนแรงมากในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า5ปี เด็กที่คลอดก่อนกำหนด หรือเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคปอด โรคหัวใจ หอบหืด ส่วนใหญ่จะมีอาการคล้ายไข้หวัดนำมาก่อน 2-3 วันแล้วจากนั้นจะเริ่มมีอาการไข้สูง ไอมากขึ้น ไอมากจนอาเจียน ซึมลง กินข้าว กินนมไม่ได้ หายใจเร็ว เหนื่อยหอบ หายใจมีเสียงวี้ดเสียงครืดคราด ถ้าเป็นมากจะหายใจหอบจนอกบุ๋ม

** การติดเชื้อ RSV อาจทำให้มีอาการคล้ายๆ การติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่สงสัยหรือไม่แน่ใจในอาการแนะนำให้รีบพาเด็กไปพบแพทย์ตรวจวินิจฉัยดีที่สุด

RSV เป็นโรคที่ยังไม่มียารักษาเฉพาะ ทำได้เพียงรักษาตามอาการ ได้แก่ การให้ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ขับเสมหะ ยาลดน้ำมูก โดยเน้นการดูแลระบบทางเดินหายใจเป็นสำคัญ เพื่อช่วยให้หายใจได้สะดวกขึ้น หอบเหนื่อยลดลง ส่วนใหญ่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ หรือหากมีภาวะติดเชื้อแทรกซ้อนก็อาจต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย

เนื่องจากโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและสามารถเป็นซ้ำได้อีก การระวังไม่ให้เด็กติดเชื้อไวรัสจึงเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด โดยการหมั่นล้างมือให้เด็กบ่อยๆ รวมถึงพ่อแม่ คนรอบข้าง ก็ควรล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลทุกครั้งก่อนสัมผัสหรือดูแลเด็ก หลีกเลี่ยงการจูบ หอมเด็ก และต้องใส่หน้ากากอนามัยป้องกันหากรู้สึกไม่สบาย หมั่นทำความสะอาดของเล่น ของใช้เด็ก และไม่พาเด็กไปสถานที่ที่มีคนเยอะ เท่านี้ก็สามารถลดโอกาสสัมผัสเชื้อนี้รวมถึงเชื้อโรคอื่นๆ ได้แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ