สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.ต.สุวิชาญ ญาณกิตติกุล (ที่ 3 จากซ้าย) รองผู้บัญชาการ สำนักงานกฏหมายและคดี ร่วมกับ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดย นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ (ที่ 2 จากซ้าย) ผู้อำนวยการสำนักงานสหวิทยาการคดีพิเศษ และ ทรูวิชั่นส์ โดย นายสมพันธ์ จารุมิลินท (ขวาสุด) รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด นายองอาจ ประภากมล (ซ้ายสุด) หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านมีเดีย บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น จัดประชุมเรื่อง "การละเมิดลิขสิทธิ์บนสื่อออนไลน์ (Social Media)" เพื่อร่วมหารือเกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดลิขสิทธิ์ในปัจจุบัน และแนวทางการปรามปรามการละเมิดลิขสิทธิ์บนสื่อออนไลน์ในประเทศไทย ณ ห้องค็อกพิท อาคารทิปโก้
พล.ต.ต.สุวิชาญ ญาณกิตติกุล รองผู้บัญชาการ สำนักงานกฏหมายและคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า "สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีนโยบายในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยที่จริงจังและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ผนึกกำลังกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และพร้อมให้ความร่วมมือกับภาคเอกชนเจ้าของลิขสิทธิ์ในการดำเนินการจับกุม เพราะการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นนอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังสร้างความเสียหายให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์ และยังส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจระดับประเทศอีกด้วย ตลอดจนภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตานานาชาติ เราจึงต้องเร่งบูรณาการในทุกมิติเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยต่อไป"
นายอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสหวิทยาการคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กล่าวว่า "กรมสอบสวนคดีพิเศษให้ความสำคัญกับขบวนการละเมิดลิขสิทธิ์ทางสื่อออนไลน์มาโดยตลอด แม้ปัจจุบันจะมีข้อจำกัดเรื่องของการปราบปรามผู้กระทำผิด เนื่องจากเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบตลอดเวลา และยังมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังคงสามารถเดินหน้าจับกุมขยายผลได้อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับวางแนวทางปรับปรุงข้อกฎหมายให้ครอบคลุมกับการเอาผิดขบวนการละเมิดลิขสิทธิ์เหล่านั้น ซึ่งรวมถึงสื่อลามกอนาจาร และสื่อที่สนับสนุนการเล่นพนันด้วย เพราะถือเป็นสิ่งที่มอมเมาเยาวชน และประชาชนอีกด้วย"
นายองอาจ ประภากมล หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านมีเดีย บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า "การดำเนินธุรกิจของทรูวิชั่นส์ให้ความสำคัญและเคารพต่อกฎหมายลิขสิทธิ์มาโดยตลอด รวมทั้งได้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างเคร่งครัดในคอนเทนต์ทุกประเภท ทั้งด้านภาพยนตร์ เพลง สาระบันเทิง โดยเฉพาะลิขสิทธิ์คอนเทนต์จากต่างประเทศที่เจ้าของลิขสิทธิ์จะให้ความสำคัญอย่างมากที่ว่าผู้ได้รับลิขสิทธิ์จะต้องมีแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องของการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ และการใช้เทคโนโลยีในการควบคุมการถ่ายทอดสดไม่ให้หลุด หรือรับชมได้ในทุกช่องทางรวมทั้งประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้รับสิทธิ์ แต่ด้วยยุคของเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนไปทำให้การป้องกัน การตรวจจับที่ยาก และซับซ้อนยิ่งขึ้น จึงต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญ สร้างความเข้าใจและตระหนักรู้ตลอดจนการตรวจจับผู้กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งทรูวิชั่นส์ต้องขอขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมทรัพย์สินทางปัญญา และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมทั้งพันธมิตรเจ้าของสิทธิในต่างประเทศอย่าง English Premier League (EPL) และสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (Motion Picture Association - MPAA) ที่ไม่เคยนิ่งนอนใจ พยายามหามาตรการรับมือ และตรวจจับการละเมิดลิขสิทธิ์คอนเทนท์ที่ปรับเปลี่ยนไปโดยตลอด ทั้งการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์สตรีมมิ่งคอนเทนท์ อย่างผิดกฎหมาย การจับกุมกลุ่มผู้กระทำความผิดขายกล่องอุปกรณ์ที่ใช้เพื่อการสตรีมมิ่ง การใช้เทคโนโลยีในการตรวจจับป้องกัน รวมทั้งการทำงานประสานงานใกล้ชิดกับเจ้าของลิขสิทธิ์คอนเทนต์ หรือผู้ได้รับลิขสิทธิ์อย่างถูกกฎหมายเช่น ทรูวิชั่นส์ ซึ่งทำให้สามารถปราบปรามและป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์คอนเทนต์ของต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยและยังจะมีผลต่อการปกป้องลิขสิทธิ์คอนเทนต์ฝีมือคนไทย ซึ่งจะเป็นอีกส่วนหนึ่งในการยกระดับอุตสาหกรรมคอนเทนต์ ของไทยให้เติบโตเทียบเท่ามาตรฐานสากลได้อีกด้วย"